Monday, November 28, 2005

เศรษฐศาสตร์การเมือง???


-1-
คำว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง(political economy)เชื่อเลยว่าคำๆนี้คงจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับใครหลายๆคน ในอีกทางหนึ่งสำหรับหลายๆคน ก็อาจจะไม่เคยได้ยินคำๆนี้เลยด้วยซ้ำ บางคนที่คุ้นเคยหรือเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์อยู่แล้วก็อาจจะงงเสียด้วยซ้ำว่า เอ……มันมีสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์แบบนี้ด้วยหรือเนี่ย แล้วอาจจะตั้งคำถามต่อไปว่าแล้วสาขาวิชาดังกล่าวมันร่ำเรียนอะไรกัน ด้วยความฉงนต่างๆเหล่านี้จึงนำมาสู่ความสนใจของผมที่จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้พอเป็นบทนำร่องสำหรับทุกๆท่าน

โดยส่วนตัวผมคิดว่านิยามของเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะคลุมเครือไม่ชัดเจนซักเท่าใด กล่าวคือคงไม่สามารถนิยามคำว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตายตัว

การที่มองมันว่าไม่ชัดเจนนั่นก็เพราะว่าคำๆนี้มีนำยามที่หลายหลากและแต่ละอันก็ไม่ได้มีความหมายที่ผิด บางคนก็บอกว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism) บางคนก็บอกว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือการศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยพิจารณาแง่มุมทางด้านการเมืองเข้าไปด้วย ฯลฯ ซึ่งก็ไม่น่าจะขัดข้องแต่ประการใด

แล้วถ้าถามผมล่ะจะตอบว่าอะไรดี??

สำหรับผมถ้าจะพูดอย่างง่ายที่สุดเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือการศึกษาเศรษฐศาสตร์กระแสอื่นๆที่ไม่ใช่ใช่เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก(non-mainstream economics) หรือพูดอีกแบบได้ว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือการศึกษา”เศรษฐศาสตร์นอกคอก”(heterodox economics หรือ unorthodox economics)นั่นเอง ดังนั้นแล้วสำหรับผมคำว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองมันไม่จำเป็นต้องหมายถึงเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสม์ แต่ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ก้าวไปไกลกว่านั้น อย่างไรก็ตามเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสม์ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสาขาของเศรษฐศาสตร์การเมืองแน่นอน

นี่ไงครับที่บอกว่ามันคลุมเครือ เพราะถ้าถามคนอื่นอาจจะได้คำตอบอีกอย่างหนึ่งแต่ถ้าถามผมก็จะได้คำตอบดังที่เห็น ดังนั้น ณ ที่นี้ก็ว่าไปตามน้ำแบบนี้ก่อนละกัน

การที่บอกว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นเศรษฐศาสตร์นอกคอก มันไม่ได้หมายความว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือพวกเศรษฐศาสตร์แบบนิโอคลาสสิค(neo-classical economics) เป็นเศรษฐศาสตร์ที่อยู่แต่ใน “คอก” หรือเป็น “กบ” ในกะลาแต่อย่างใด ที่ต้องการจะสื่อคือเศรษฐศาสตร์การเมืองมันก็คล้ายกับว่าเรา “กระโจน” ออกจาก “คอก” ของเศรษฐศาสตร์นิโอคลาสสิคไปยังเศรษฐศาสตร์ “คอก” อื่นๆ ที่เราอาจจะหลงลืมมันไป

และประเด็นสำคัญก็คือบรรดาคอกเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งหลายมีความแตกต่างจากคอกเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างเห็นได้ชัด

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็คือบรรดาเศรษฐศาสตร์ที่เปิดสอนกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ครับ เนื้อหาแกนๆของมันก็ได้แก่พวกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค(microeconomics)และเศรษฐศาสตร์มหภาค(macroeconomics)ซึ่งผมคิดว่าทุกคนคงจะคุ้นเคยกับสองวิชานี้พอสมควร

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักถือได้ว่าเป็นวิชาที่มีวิธีที่ค่อนข้างเป็นวิทยาศาสตร์สูงหรือจะเรียกอีกอย่างว่าเป็น”ศาสตร์ที่แข็ง”(hard science)เพราะใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และสถิติอันได้แก่คณิตศาสตร์และเศรษฐมิติ(econometrics)มาใช้ในการสร้างทฤษฎีและแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ โดยที่ในการวิเคราะห์จะต้องมีการสมมติปัจจัยอื่นๆให้คงที่และมุ่งประเด็นการวิเคราะห์ไปที่ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์อย่างแข็งขัน

แต่ถ้ากลับมามองเศรษฐศาสตร์การเมืองจะพบว่า แม้บางคอกของเศรษฐศาสตร์การเมืองจะไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์สูงเหมือนเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แต่ในการวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆรวมถึงประเด็นทางด้านเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมืองจะพิจารณาเอามิติทางด้านอื่นๆด้วยไปด้วย เช่นมิติด้านสถาบัน(institution)ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มิติทางด้านการเมืองซึ่งก็คือเรื่องของอำนาจ(power)และชนชั้น(class) รวมไปถึงมิติทางด้านบริบททางประวัติศาสตร์(historical context) กล่าวคือจะมีลักษณะการวิเคราะห์เป็นแบบองค์รวม(holistic)นั่นเอง

อีกทั้งการวิเคราะห์ในเชิงพลวัตร(dynimics)ระหว่างสองกระแสนี้ก็มีความแตกต่างกัน โดยเศรษฐศาสตร์การเมืองในการวิเคราะห์เชิงพลวัตร แม้จะไม่ได้วิธีการทางคณิตศาสตร์อย่างแข็งขันเท่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแต่ในการวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวก็จะไม่หลงลืมมิติทางประวัติศาสตร์อันเป็นสิ่งสำคัญไป ซึ่งแตกต่างจากการวิเคราะห์เชิงพลวัตรในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่วิเคราะห์ตัวแปรทางด้านเศรษฐศาสตร์โดยพิจารณาปัจจัยเวลาที่เป็นนามธรรม เป็นเวลาที่ไม่มีประวัติศาสตร์เป็นเวลาที่เลื่อนลอยและไม่มีความหมายในตัวเอง

คงพอจะมองเห็นภาพคร่าวๆแล้วนะครับ

ก่อนที่จะเลยเถิดไปในประเด็นต่อไป ผมก็ขอย้ำอีกทีครับว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองมันเป็นอะไรที่ยากจะนิยามเบ็ดเสร็จครับ เช่นบางคนที่อยู่ในสายนีโอคลาสสิคอาจจะมองว่าเศรษฐศาสตร์ทางเลือกสาธารณะ(public choices economics) ที่วิเคราะห์พฤติกรรมทางการเมือง รวมไปถึงนโยบายต่างๆโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ถือได้ว่าเป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่สำหรับบางกลุ่มบางคนอาจจะมองว่าการใช้เครื่องมือแบบนี้ถือว่ามีความเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองน้อยหรือสำหรับคนที่ไม่นิยมเครื่องมือทางคณิตศาสตร์อาจจะมองว่ามันไม่มีความเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองเสียด้วยซ้ำไป

ดังนั้นแล้วเกณฑ์หรือบรรทัดฐาน(criteria)ของแต่ละคนไม่เหมือนกันครับซึ่งตรงนี้มันก็แล้วแต่ว่าคนๆนั้นผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม(socialization)มาแบบใดหรือมีบริบททางประวัติศาสตร์ มีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งตรงนี้มันก็หล่อหลอมให้ “โลกทัศน์” ที่มีต่อคำว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” ของแต่ละคนไม่เหมือนกันด้วย

ดังนั้นแล้วประเด็นในแง่ที่ว่าอะไรเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองหรือไม่เป็น แล้วถ้าเป็น มันเป็นมากเป็นน้อยขนาดไหน แล้วมันจัดอยู่ทางฝั่งซ้ายหรือขวา ฯลฯ คงเป็นเรื่องที่ตอบยากครับ สำหรับที่นี้คงเป็นเพียงแค่บทนำร่องซึ่งคงจะไม่เพียงพอที่จะไปตอบคำถามต่างๆเหล่านั้น

-2-
สำหรับสถานการณ์ของเศรษฐศาสตร์การเมืองในตอนนี้มันก็คงไม่เกินจริงเลยถ้าจะบอกว่าแวดวงเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันนี้ถูก “ครอบงำ” โดยเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่การเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ในระดับมัธยม ระดับปริญญาตรียันระดับหลังปริญญาตรี

ส่วนเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นยังคงได้รับการสนใจน้อยมาก(ในความคิดผม)ที่เห็นเปิดสอนกันอย่างเป็นจริงเป็นจังก็คงเป็นที่ จุฬาฯ ที่มีหลักสูตรปริญญาโททั้งในส่วนของภาคปกติและภาคค่ำ (แต่ในส่วนของภาคปกตินี่มีคนเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองน้อยมากถึงน้อยที่สุดจนเค้าแทบไม่อยากจะเปิดกัน) สำหรับที่ธรรมศาสตร์ผมไม่ทราบว่ามีเคลื่อนไหวในแง่ของหลักสูตรอย่างไร แต่ก็มีคณาจารย์หลายๆท่านที่มีการเคลื่อนไหวทางความคิดในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับอีกที่ๆเปิดสอนถ้าจำไม่ผิดก็คงเป็นที่ ม.เชียงใหม่ครับ ซึ่งเท่าที่เคยเห็นผ่านๆตามาจะเป็นการสอนในระดับปริญญาโท และเท่าที่ทราบมาก็มีเปิดสอนอีกที่ๆ ม.บูรพา ด้วยและอีกที่หนึ่งก็คงจะเป็นกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองลุ่มแม่น้ำโขง ของ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี อาจจะมีที่อื่นตกสำรวจนะครับ ถ้าตกหล่นก็บอกผมด้วย เพราะอยากรู้อีกเหมือนกันว่ามีทีไหนเปิดสอนบ้าง

เห็นได้ว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองได้รับความสนใจน้อยมากถ้าจะพิจารณาในแง่ของการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยเอกชนผมเชื่อได้เลยว่าคงหาได้น้อยมากที่จะมีวิชาทางด้านนี้เปิดให้เรียน สิ่งที่ผมอยากจะเห็นก็คือการเปิดกว้าง ให้มีวิชาทางด้านนี้ให้เลือกเรียนบ้างเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการศึกษาไม่ใช่ไม่มีเลย เป็นการเปิดมุมมองในแง่ที่ว่าเศรษฐศาสตร์มันไม่ได้มีแบบเดียว หากแต่มีเศรษฐศาสตร์แบบอื่นๆให้เลือกศึกษากันด้วย

-3-
ข้อเขียน ณ ที่นี้คงเป็นแค่การตอบคำถามที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองในระดับที่เป็นพื้นฐานที่สุด ซึ่งคงจะมีอีกหลายแง่มุมที่ต้องรอค้นหาคำตอบกันต่อไป ถึงอย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านก็คงพอจะมองเห็นภาพของมันไม่มากก็น้อย

ดังนั้นโปรดอย่าลืมนะครับว่ายังมี “คอก”เศรษฐศาสตร์กระแสอื่นๆนอกจาก “คอก” เศรษฐศาสตร์กระแสหลักอีกมากมาย !!

Tuesday, November 08, 2005

ขอบ่นเรื่องวิทยานิพนธ์



ผมเลิกเช่าหนังสือการ์ตูนมาได้ อืม…..ถ้าจะนับล่ะก็เกือบเดือนนึงแล้วครับ

สาเหตุหลักๆก็ไม่ใช่เรื่องอื่นใดนอกจากเรื่องวิทยานิพนธ์ดังที่ได้จั่วหัวไว้นั่นแหละครับ มันไม่ได้ไปถึงไหนซักที ซึ่งถ้าจะถามถึงสาเหตุแล้วมันก็มาจากความขี้เกียจและเฉื่อยชาของตัวผมเองทั้งนั้น จะไปโทษหนังสือการ์ตูนก็ใช่ที่(แล้วจะเลิกเช่าอ่านทำไมวะ??)

เรื่องของเรื่องก็คือการเลิกเช่าการ์ตูนมันทำให้ผมรู้สึกดีแฮะ ความรู้สึกเหมือนกับว่า อืม….นี่เราขยันขึ้นนะ เรารับผิดชอบมากขึ้นนะ แต่จริงๆแล้วมันจะเป็นแบบนั้นรึเปล่านี่มันก็อีกเรื่องนะครับ ฮ่าๆ แต่พฤติกรรมการหักดิบการ์ตูนของผมมันทำให้รู้สึกดีขึ้นแฮะ ก็เลยตามเลยเลิกๆอ่านมันไปก่อนละกันเว้ยช่วงนี้

ในส่วนของวิทยานิพนธ์ของผมก็ยังอยู่ในขั้นตอนการเขียนโครงร่าง(proposal) อยู่ครับ ก็กำลังคลำๆไปตามอัตภาพซึ่งในส่วนหัวข้อวิทยานิพนธ์นั้นผมได้ไปโพสต์ไว้ที่นี่ ถ้าสนใจก็คลิกเข้าไปช่วยวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นกันได้ตามสะดวกเลยนะครับ

แต่ที่ผมกำลังเครียดและเซ็งอยู่ก็คือตอนนี้ทางคณะได้กำหนดเส้นตายมาว่า นิสิตในหลักสูตร ศ.ม.(เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต)จะต้องส่งโครงร่างภายในวันที่ 8 ธันวาคม เจอแบบนี้ไปก็อึ้งครับ แต่เชื่อเลยว่าไม่ใช่แค่ผมคนเดียวแน่นอน เพื่อนๆหลายคนก็อึ้งและก่นด่ากันไปตามๆกัน เพราะถ้าจำไม่ผิดจริงๆแล้วตามกฎของบัณฑิตวิทยาลัยเค้าจะให้ส่งโครงร่างภายในเดือนกุมภาพันธ์โน่น

ผมได้รู้ข่าวก็ตอนเย็นๆวันนี้แหละ กำลังเลือกการ์ตูนอยู่ที่ร้านเช่าการ์ตูนอย่างสบายอารมณ์ จังหวะประจวบเหมาะครับ เพื่อนผมโทรมาแจ้งข่าวพอดี ถึงกับ shock เลยงานนี้ ผมไม่สามารถพูดอะไรได้เลยครับนอกจากคำสบถต่างๆนานาที่พรั่งพรูออกมา เฮ้ออ แล้วกูจะทำยังไงต่อไปวะเนี่ยยยย

เอ่อ….ต้องขอแถลงนิดนึงนะครับว่า blog นี้ผมเขียนคาเอาไว้ครับ ดังนั้นช่วงเวลาที่เขียนประโยคแรกกับตอนที่ผมมาเขียนเพิ่มนี่คนละช่วงเวลากันครับ นั่นหมายความว่าตอนนี้ผมกลับมาเช่าการ์ตูนอ่านอีกแล้วครับท่าน ฮ่าๆ

นอกเรื่องไปไกลละกลับมาที่เรื่องวิทยานิพนธ์ก่อนดีกว่า

งานของผมเป็นลักษณะแบบงานวิจัยเชิงเอกสาร(document research)ครับ นั่นคือต้องอ่านกันเยอะพอควรเลยทีเดียว ตอนนี้ทั้งเอกสารเอย หนังสือเอย กองกันกลาดเกลื่อน หน้าที่ผมก็คือคลำครับท่าน คลำไปเรื่อยๆ ถ้าใครสนใจอยากจะคลำไปกับผมก็เริ่มคลำได้เลยครับที่นี่ ซึ่งจะเป็นการอ่านปูพื้นฐานก่อนที่จะเริ่มคลำในลำดับต่อไป

แต่ตอนนี้ผมยังคลำได้ไม่ไกลเท่าไหร่เลยครับ บางทีก็หดหู่กับศักยภาพของตัวเองจริงๆ เนี่ยแหละน้อ มนุษย์เรานี่มันมีขีดจำกัดมากมายจริงๆ(หรือว่าจะเป็นกูคนเดียววะ ฮ่าๆ) ตอนนี้ก็ได้แต่กัดฟันคลำต่อไปเรื่อยๆครับ แต่ที่กังวลก็คือมันจะเสร็จไม่ทันตามเวลาที่ท่านขีดเส้นตายเอาไว้น่ะสิ ซึ่งตอนนี้ผมยังไม่รู้ผลแน่ชัดว่าถ้าหากไม่ส่งตามวันดังกล่าวแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตผม อาจจะโดนพสุธาสูบหรือไม่ก็อาจจะโดนเนรเทศไปอยู่ในรูทีไหนซักแห่งก็ได้ ใครจะไปรู้…….

จริงๆแล้วหัวข้อที่ผมกำลังศึกษาอยู่เป็นอะไรที่อยากทำมากๆเลยครับ และผมเองก็เตรียมใจกับเรื่องเวลามาแล้วล่ะว่ายังไงมันก็ต้องเกินสองปีแน่นอน อ.ที่ปรึกษาท่านก็บอกเหมือนกันว่าถ้าจะทำประเด็นนี้จริงๆแล้วล่ะก็ยาวครับ ยาวไปเลยท่าน ดังนั้นต้องยอมเสียเวลานานหน่อย แต่ที่ผมไม่ได้เตรียมใจไว้เลยก็คือการทำงานภายใต้บรรยากาศที่เต็มไปด้วยแรงกดดันที่ไม่คาดว่าจะเกิดแบบนี้ครับ เพราะเท่าที่เราทราบมาวันขีดเส้นตายมันไม่ใช่ตอนนี้นี่นา เตรียมตัวเตรียมใจไม่ทันว่ะ แถมเสียแผนอีกต่างหาก อุตส่าห์วางแผนไว้แล้วว่าช่วงนี้จะอ่านอันโน้นช่วงนั้นอันนี้ ตอนนี้เป็นอันพังราบ ต้องรื้อใหม่หมดเลยแถมเวลาหดสั้นกระชั้นชิดมามากกว่าเดิมเสียอีก

บอกได้คำเดียวว่า “เซ็ง” ครับท่าน ยังคิดไม่ออกเลยว่าวันที่ 8 ธันวาฯจะเอาอะไรไปส่งให้พี่แกดี แต่บ่นไปก็เท่านั้น ว่าแล้วก็ต้องก้มหน้าก้มตาคลำกันต่อไป

ที่ผมกลัวก็คือภายใต้เวลาจำกัดจำเขี่ยขนาดนี้ proposal ของผมมันจะกลายเป็น propo-เศร้า น่ะสิครับ ผมเชื่อเลยว่าถ้าส่งตามเวลาที่พี่แกกำหนดมา งานที่ออกมามันก็ต้องออกมาสั่วแหงมเลย ซึ่งผมก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น แต่ก็นะ.....มันไม่มีทางเลือกนี่หว่า เห็นที่จะต้องทำๆไปก่อนแหละครับ แล้วก็ค่อยไปปรับๆแก้ๆเอาภายหลัง

ซึ่งถ้าทำแบบนี้ผมไม่ชอบเลยจริงๆ พับผ่าสิ!! ไม่ใช่ไม่ชอบกับการที่ต้องไปปรับไปแก้นะครับ การโดนวิพากษ์วิจารณ์แล้วนำไปปรับไปแก้เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ที่ผมไม่ชอบก็คืออารมณ์ทำแบบขายผ้าเอาหน้ารอดแล้วค่อยไปปรับทีหลัง แบบนี้มันน่าเคืองตัวเองจริงๆ รู้สึกทุเรศตัวเองยังไงก็ไม่รู้ว่ะ

คิดมากไปก็เท่านั้นแฮะ เรื่องมันก็ยังไม่เกิด ตอนนี้ที่ทำได้ก็คงต้องตั้งใจทำหน้าที่ต่อไปตราบที่ยังมีลมหายใจอยู่ ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไปแต่หากไม่ดิ้นกูสิ้นใจแน่!!

เรื่องที่จะบ่นก็คงมีเท่านี้แหละครับ ซึ่งผมสังหรณ์ว่าหลังจากวันนี้ไปคงจะไม่ได้มา update blog อีกแหงๆ เพราะต้องเอาเวลาไปคลำเรื่องของผมก่อน เฮ้อ…….เซ็งฉิบหาย