Thursday, December 22, 2005

“ยิ่งจดก็...ยิ่งเก็บ” จริงหรือ?

เนื่องจากอากาศอันหนาวเหน็บทำให้ผมเสื่อมสมรรถภาพในการเขียนชั่วคราว แต่ก็ไม่อยากจะให้ blog มันดูเงียบเหงาเศร้าสร้อยจนเกินไป เดี๋ยวบรรดามิตรรักแฟนเพลงจะคอยกันนาน (มีด้วยหรอวะ ฮ่าๆ) ผมเลยจัดแจงไปรีดไถบทความจากเพื่อนมาลงให้ทุกท่านได้ยลกันเพื่อเป็นการขัดตาทัพไปก่อน และคิดว่าคงจะใช้มุกนี้ไปอีกซักระยะหนึ่ง (อันนี้มันก็ต้องขึ้นอยู่กับดีกรีความขี้เกียจหละนะ อิอิ) ไม่เขียนเองแม่งแล้ว เดี๋ยวไปไถให้เพื่อนๆมันเขียนเอา แล้วก็ฉกมาลง blog กูซะ เหอ เหอ

เป็นบทความสั้นๆที่เพื่อนผมเขียนลงในนิตยสาร Lumpini ฉบับประจำเดือนธันวาคม

ขอเชิญทุกท่านทัศนา.......


“ยิ่งจดก็...ยิ่งเก็บ”
จริงหรือ?

เมื่อปัญหาหนี้ภาคประชาชนถูละเลยมานาน มาวันนี้ก็ชักจะบานปลาย รัฐบาลเลยพยายามออกโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาเก็บออมกัน โฆษณาหนึ่งที่ผมเห็นอยู่บ่อยๆคือโฆษณา ยิ่งจดยิ่งเก็บ ที่เนื้อเรื่องย่อคือมีสองสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ในอดีตต่างใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เรียกว่าได้เงินมาเท่าไหร่ก็ใช้ซะหมด ต่อมาทั้งสองคนก็รู้จักจดบันทึกรายรับรายจ่ายทำให้มีเงินเก็บออม และจบด้วยการมีฐานะที่ดีขึ้น

ดูเผินๆก็เหมือนว่าการจดอาจจะช่วยให้เรารู้ว่าใช้จ่ายอะไรออกไปบ้างแล้วก็อาจจะสามารถออมเงินได้มากขึ้น แต่เมื่อผมลองตั้งคำถามกับตัวเองหนักๆเข้าว่า “การจดมันหรือการทำบัญชีมันทำให้เราออมได้จริงหรือ ?” หรือหลังจากที่เรารู้ว่าเราจ่ายอะไรไปบ้างแล้ว “เรามีทางเลือกในการตัดรายจ่ายบางอย่างจริงหรือ ?”

ผมก็พบว่ามันดูเหมือนจะเป็นคนละประเด็นกันเลย หากผมจะมองในแง่ดีว่าว่าการจดที่โฆษณากล่าวถึงนั้นต้องการจะหมายไปถึงการทำบัญชี แต่การทำบัญชีเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่สามารถทำให้เรามีเงินออมก็เป็นไปได้ ความจริงข้อนี้ก็เห็นๆกันอยู่ เช่น บริษัทมากมายที่มีการทำงบดุลก็ไม่สามารถจะควบคุมหนี้สินไม่ให้มากเกินไปได้ ขนาดบริษัทที่มีคนตั้งมากตั้งมายยังทำไม่ได้นับประสาอะไรกับชาวบ้านธรรมดาอย่างเราๆท่านๆมีจะอาศัยการจดบันทึกเป็นคำตอบที่ “สำเร็จรูป” ที่จะทำให้เรามีเงินเก็บ

ดังนั้นนี่มันคงเหมือนกับการแก้ปัญหาทั่วไป คือ อย่างแรกเราต้องรู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เพื่อจะเกาให้ถูกที่คัน เช่นเดียวกันประโยชน์อย่างแรก คือทำให้เรารู้ว่าได้รับเงินมาจากช่องทางไหนบ้าง ใช้จ่ายไปตามช่องทางไหนบ้าง ซึ่งมันก็แค่ขั้นตอนแรกเท่านั้น เพื่อที่ในลำดับต่อไปเราจะได้ตรวจสอบว่ารายจ่ายไหนที่ไม่มีความจำเป็นไม่จำเป็น เงินที่จ่ายไปเพื่อซื้อของแล้ว ของที่ซื้อมานั้นเราเอามาใช้งานบ่อยรึเปล่า แล้วไอ้ที่ใช้อยู่นั้นมันมีอย่างอื่นที่ถูกกว่าให้ใช้แทนกันได้รึเปล่า บางทีรู้ว่าเราจ่ายอะไรไปบ้างแล้วและก็เป็นเงินก้อนโตแต่ก็ไม่มีทางเลือก ต้องจ่ายไป(ปัญหาแบบนี้เยอะแยะไป ตามชนบท) ซึ่งมันเป็นเรื่องที่สำคัญมากแต่ไม่ยักพูดถึงเลยในโฆษณา

ถ้าโฆษณานี้ต้องการเกาให้ถูกที่คันจริงๆล่ะก็น่าจะเป็นการสอนเรื่องการสร้างวินัยในการออมมากกว่าและมันก็ต้องพูดกันยาวเลย มีมายมายหลายวิธี (อ่านตามหนังสือจำพวก พ่อ ร๊วย รวย มากๆ....สอนลูก ไม่รู้เมื่อไหร่จะเลิกตั้งชื่อแบบนี้) ดังนั้นแล้วถ้าย้อนกลับไปดูโฆษณามันก็เหมือนกับว่าสองสามีภรรยานั้นรวยโดยไม่รู้สาเหตุ ผมถึงตั้งชื่อเรื่องว่า “ยิ่งจดก็...ยิ่งเก็บ” (ที่ต้อง ... ไว้ก็เพราะเค้าไม่ได้บอกเลยว่าหลังจากนั้นทำไงต่อถึงมีเงินเก็บ)