Thursday, June 22, 2006

รักในหลวง??



สืบเนื่องมาจากการที่เข้าไปอ่าน blog ของพี่ parinya เข้าให้ มันเลยกระตุกต่อมบางอย่างในตัวผมขึ้น เลยขอลุกขึ้นมาเขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราวกับเค้ามั่ง

-----------------------

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาถือเป็นมหาโอกาสที่เป็นสำคัญและเป็นมงคลยิ่งสำหรับชาวไทย ที่ได้มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก แต่เรื่องนั้นผมว่ายังไม่สำคัญเท่ากับการที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานมิยอมเหน็ดเหนื่อยมาเป็นระยะเวลาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ

ตลอดระยะกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ท่านทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ เอนกอนันต์นานัปการ เพื่อผสกนิกร ปวงชนชาวไทย ก่อให้เกิดคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล และที่สำคัญ จากการที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นระยะเวลานาน แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็ได้ค่อยๆตกผลึกขึ้นมา และสุดท้ายก็กลายเป็นปรัชญาหลักของท่านในแนวทางการปฏิบัติและพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งผลของวัตรปฏิบัติของท่านดังกล่าวเป็นสิ่งที่แทบไม่ต้องสาธยายกัน เพราะเราทุกคนต่างก็คงซาบซึ้งประจักษ์อยู่ในใจกันถ้วนหน้า

มันคงจะไม่เกินจริง ถ้าหากจะบอกว่าตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นคำที่แสนฮิต กลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง ที่ทุกหน่วยงาน กระทรวง กรม กองต่างต้องมีคำนี้แปะหน้าเอาไว้ไม่มากก็น้อย

แต่คำถามที่ควรจะตั้งประเด็นไว้ก็คือ...........จะมีใครซักกี่คนที่เข้าถึงแนวคิดดังกล่าว แล้วนำมันมาปรับใช้อย่างจริงจัง

ถ้าจะพูดอย่างสั้นๆ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะประกอบด้วย

1) กระทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยการรู้จักประมาณตน
2) กระทำทุกอย่างภายใต้ความมีเหตุมีผล ไม่ใช่เอะอะก็เฮโลทำไปตามกระแสขาดขาดหลักการสนับสนุน
3) สุดท้ายต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ต้องมีสติ สร้างภูมิคุ้มกันต่อสิ่งรอบข้าง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

เห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า “ทางสายกลาง” อย่างยิ่ง กล่าวคือ จะทำอะไรต้องรู้จักประมาณตน ต้องมีเหตุมีผลและมีสติ

แน่นอนว่าลักษณะความมีเหตุผลภายใต้แนวคิดดังกล่าวมิใช่ความมีเหตุผลภายใต้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ economic agent เป็นสัตว์เศรษฐกิจ (homoeconomicus) ที่มีเหตุผล (rational) และต่างต้องการแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดให้แก่ตัวเอง หากแต่เป็นความมีเหตุผลในแง่มุมที่เลยขอบเขตมิติทางด้านเศรษฐกิจไปสู่มิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและจริยธรรมด้วย

เศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เรารู้จัก “พอ” แต่ไม่ได้สอนให้เรากลับไปอยู่ป่า หากแต่สอนให้เรารู้เท่าทันตนและคนอื่น ไม่หลงกระแสความโลภทั้งที่อยู่ในตัวเราและที่ถูกปลุกปั่นโดยการตลาดสมัยใหม่ เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบที่อยู่ได้เพราะการปลุกปลั่นการบริโภค ดังนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่ชีวิตเราจะถูกสื่อโฆษณา (และไม่ใช่โฆษณาแต่ก็ส่งผล) ต่างๆทะลุแยง แซงเข้ามาในจิตใจเรา ดังนั้นคุณูปการของเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการที่ให้เรารู้จัก “พอเพียง" ในการ “บริโภค” ไม่หลงมัวเมากับกระแสบริโภคนิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา

เศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เรารู้จัก “พอ” แต่ไม่ได้สอนให้เราอดตาย หากสอนให้เราประกอบสัมมาอาชีพ ไม่คดโกง ไม่ทุจริต ไม่คอรัปชั่น ทำงานด้วยใจรัก ด้วยฉันทะ และด้วยความประมาณตน สอนให้เราอยากเท่ากับที่เราพอจะหาได้ อยู่อย่างสัมมาพาควรตามบริบทสังคมที่เราดำรงอยู่ สอนให้เรา "พอเพียง" ในแง่การใช้ชีวิตให้เรามีความสุขไปตามอัตภาพ

เศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เรารู้จัก “พอ” แต่ไม่ได้สอนให้เราเลิกผลิตสินค้า หากสอนให้เราทำธุรกิจด้วยความชอบธรรม นายจ้างไม่เอาเปรียบลูกจ้าง ลูกจ้างมีความสัตย์ซื่อให้นายจ้าง ทำธุรกิจ ทำการผลิตโดยคำนึงถึงสังคม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงศักยภาพของตน ทำการค้าด้วยความพอประมาณ ไม่ใช่มี 1 ส่วนกู้ 10 ส่วน ทำธุรกิจหวังแต่ได้ จับเสือมือเปล่า แน่นอนว่าการทำธุรกิจย่อมต้องการผลกำไร แต่ต้องรู้จัก "พอเพียง" กับกำไรที่ได้มา แสวงหากำไรด้วยความชอบธรรมไม่ได้มาจากการเหยียบย่ำซ้ำเติมใคร และไม่ว่าใครจะเถียงผมหรือไม่ก็ตาม ผมเชื่อว่าการขูดรีดและโลกทุนนิยมเป็นสิ่งที่คู่กัน ไม่ว่าจะเป็นการที่มนุษย์ขูดรีดกันเอง หรือมนุษย์ไปขูดรีดธรรมชาติ ดังนั้นภายใต้ความสัมพันธ์อันขัดแย้งดังกล่าว แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงเปรียบเสมือนเป็นทางสายกลางอันจะนำให้ มนุษย์อยู่ร่วมกันเองและกับธรรมชาติได้อย่างผาสุกขึ้น

แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงกลับกลายเป็นเพียงแค่คำๆหนึ่งที่เหมือนกับเป็น “แฟชั่น” ใครๆต่างก็ใช้กัน (โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ) ทั้งๆที่สุดท้ายแล้ว (ในสายตาผม) มันไม่เห็นจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรทีเป็นรูปธรรม คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นคำๆหนึ่ง ที่ใช้ “ปกปิด” ซ่อนเร้นความสัมพันธ์แบบทุนนิยม การขูดรีดกันเองและการขูดรีดธรรมชาติยังคงดำเนินต่อไป ตามปรกติวิสัยของมัน.........

เศรษฐกิจพอเพียงกับระบบทุนดูจะเป็นอะไรที่มีความขัดแย้งกันพอสมควร ส่วนตัวผมเองเชื่อว่าลักษณะความสัมพันธ์แบบทุนนิยมคงเป็นสิ่งที่จะคงอยู่อีกยาวนาน แต่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนี่แหละถ้าหากเราปฏิบัติอย่างเป็นจริงจัง มันจะกลายมาเป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้เราอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างมีสุขขึ้น และรู้เท่าทันพิษภัยของมัน ไม่หลงไปตามกระแสทุนที่พากันไหลทะลักล้นไปทั่วทุกอณูสังคม

ผมคงไม่เก่งพอที่จะสร้างแนวทฤษฎีใหม่ที่จะให้คำตอบว่าเราจะต้องนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้อย่างไรจึงจะลุล่วงตามเป้าหมายของมัน แต่ผมเชื่อว่า ผมของแนวคิดดังกล่าวมันจะเป็นรูปเป็นร่างได้ถ้าเราช่วยกันทำตัวอย่าง “พอเพียง” ซึ่งแน่นอนว่าเราแต่ละคนย่อม “พอ” ไม่เท่ากัน แต่เราลองมา “พอ” เท่าที่เราจะทำได้กันดีไหมครับ???

และถ้าหากท่านใดอยากอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงจากมุมมองที่ลึกซึ้งกว่าที่ผมเสนอมาก็ขอเชิญเข้าไปอ่านใน
blog ของพี่เล็กได้เลยนะครับ ไม่เสียตังค์แถมได้หยักเพิ่มอีกต่างหาก (สงสัยวันหลังต้องคิดค่าคอมมิชชั่นแล้วม๊างง อิอิ)

ประเด็นของผมไมได้อยู่ที่การ discredit ใครทั้งสิ้น หากแต่ต้องการแสดงมุมมองในทัศนะของตนเอง เพราะผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนรักในหลวงทั้งนั้น แต่นอกเหนือจากความรักแล้วเราก็ควรตั้งคำถามก็การแสดงออกซึ่งความรักต่อท่านที่เรากำลังทำอยู่ด้วย

ดังเช่นในกรณีในของสายรัดข้อมือและเสื้อเหลืองนี่ก็เช่นกัน การแสดงออกความรักต่อท่านเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ลองคิดดูให้ดีซิว่า ท่านจะดีใจไหมถ้าเห็นคนมาแย่งกันเบียดซื้อเสื้อเหลือง บ้างก็ทะเลาะกันเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อแย่งชิงเสื้อตัวเดียว ก่อให้เกิดความขัดแย้ง (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องโทษกระทรวงพาณิชย์ด้วย ที่ไม่ได้เตรียมการอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว เห็นภาพเหตุการณ์แล้วมันน่าหัวเราะทั้งน้ำตาจริงๆ) สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราควรทำเช่นนั้นหรือ??

ถ้าจำไม่ผิดผมเคยนำเสนอเกี่ยวกับมุมมองแนวคิดในเรื่อง
การบริโภคเชิงสัญญะ (consumption of signs) เอาไว้แบบเกริ่นๆแล้ว ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าวสิ่งที่เรามองเห็นก็คือเราต่างต้องการที่จะแสดงความรักต่อท่านผ่านตัวสินค้า (แม้ว่าบางคนอาจจะปฏิเสธ แต่เชื่อได้เลยว่าคนๆนั้นได้ตกอยู่ภายใต้ระบบสัญลักษณ์ดังกล่าวเสียแล้ว) “เสื้อ” และ “สายรัดข้อมือ” กลายเป็น “สัญญะ” ที่แสดงออกซึ่ง “ความรัก” "ความภักดี" "ความเคารพเทิดทูนบูชา" ฯลฯ ที่มีต่อในหลวง อย่างที่ผมเคยบอกแหละครับ ภายใต้ระบบทุน ถ้าอะไรที่มันเอามาเป็นสินค้าได้ ไม่ชาตินี้ก้อชาติหน้ามันไม่มีทางรอดพ้นแหงๆ

มุมมองของผมอาจจะฮาร์ดเกินไปสำหรับหลายๆคน เพราะเคยพูดเรื่องนี้กับเพื่อนทีนึง ถึงกับโดนด่าเสียจนหาทางกลับบ้านไม่ถูกเลย (โดนด่าแบบไม่มีโอกาสได้พูดเลย ฮ่าๆ)

ที่เขียนมาไม่ได้เป็นการว่าใครแบบเฉพาะเจาะจงนะครับ หากแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า การที่คนไทย รักในหลวงอย่างสุดซึ้งนี่มันก็เป็นเรื่อง “จริง” และการที่เราต่างแสดงออกความรักที่มีต่อท่านผ่านทางสินค้า รวมถึงการที่สินค้าดังกล่าวมันแผงสัญญะบางสิ่งบางอย่างอยู่มันก็ “จริง” เหมือนกัน และคงไม่มีความจริงอะไรเหนือกว่าอะไร แต่ผมอยากจะพยายามมองและชี้แจงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความเป็น “จริง” จากมุมมองของผมเอง (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นจริงที่สุดก็ได้ เอ๊ะยังไงของมันวะ)

อย่างไรก็ตาม มันก็คงไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาปฏิเสธปรากฏการณ์ดังกล่าว การที่เราต่างสร้างอัตลักษณ์และสื่อสัญลักษณ์ต่างๆ ผ่านทางสินค้าคงไม่ได้เป็นที่เหตุการณ์ผิดปกติแต่อย่างใด และผมกลับคิดว่ามันแสนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาเสียเหลือเกินในโลกหลังสมัยใหม่ ดังนั้นหน้าที่ของเราจึงไม่ได้อยู่ที่การปฏิเสธมันอย่างยันป้าย หากแต่ต้องลงมาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวเพื่อตัวของพวกเราเอง

ดังนั้นถ้าหากเราพิจารณาตรงนี้อย่างถ้วนถี่ เราก็จะพบเลยว่าเราควรจะรักท่านอย่างไรให้ถูกทางครับ และเราก็คงไม่ได้ยินไม่ได้เห็นข่าวที่ไม่น่าดูน่าฟังเหล่านั้น

การแสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อท่าน ไม่ว่าจะเป็นด้านใดๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่มันจะดีกว่านี้ถ้าเรารักท่านอย่างมีสติและพยายามมองซิว่าสิ่งที่ท่านทิ้งไว้ให้เราคืออะไร และอะไรคือสิ่งที่เราควรจะปฏิบัติตามเพื่อแสดงความรักและสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ท่านมีต่อพวกเรา

สุดท้ายแล้วผมคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการขอให้รักท่านอย่างมีสติเถิดครับ อย่ารักแบบตามกระแส รักท่านด้วยการกระทำตามแนวคิดของท่านเถิดครับ ผมเองคงไม่มีสิทธิ์และคงมิอาจเอื้อมที่จะไปคิดแทนท่าน แต่ผมเชื่อว่าถ้าหากว่าเราแสดงออกซึ่งความรักท่านโดยนำแนวคิดของท่านไปปฏิบัติไปเป็นหลักยึดในจิตใจ ท่านคงจะยินดีกับเราด้วยอย่างแน่นอน

และขอให้มีความสุขกับเทศกาลบอลโลกครับ (เกี่ยวมั๊ยเนี่ย??)