Thursday, September 28, 2006

รัฐประหาร

สำหรับตอนนี้ผมขอใช้พื้นที่ประกาศจุดยืนทางการเมืองเสียหน่อย เพราะเดี๋ยวเกรงว่าทุกท่านจะเข้าใจผิดไปกันใหญ่

สำหรับผมเองไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารด้วยเหตุผลประการใดทั้งปวง การที่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น มันก็ไม่ต่างกับการการโยนเนื้อเข้าปากเสือซักเท่าใด ดังนั้นแล้วการกระทำดังกล่าวมันจึงยังผลให้ประเทศชาติต้องแบกรับ "ความเสี่ยง" เป็นมูลค่ามหาศาล

ในทางกลับกัน เมื่อย้อนไปดูระบอบทักษิณ แม้ว่าจะไม่มีการทำรัฐประหารอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็กลายๆ ว่าจะเป็นการรวมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้เช่นกัน ดังนั้นแล้ว มันก็เป็นการ "เสี่ยง" เหมือนกัน ที่จะให้ประเทศชาติดำเนินไปภายใต้กลไกดังกล่าว

ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องเลือก (โดยไม่มีทางเลือก) จึงทำให้สภาพการของผมเป็นไปในลักษณะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทางโน้นก็ไม่ ทางนี้ก็ไม่ แต่ก็โล่งในเปลาะหนึ่งที่การทำรัฐประหารที่ผ่านมายังไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น

แต่อนาคตเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา ผมเองก็ไม่มั่นใจว่าคณะปฎิรูปฯ จะสามารถคงสภาพ "นิ่ง" อย่างที่เป็นอยู่ได้นานขนาดไหน หากต้องเผชิญกับกลุ่มที่ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วย หากฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่เกิดสติขาดผึงขึ้นมา อันนี้ก็ตัวใครตัวมันแหละท่านเอ๋ย

นอกจากจะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงแล้ว เรายังได้เห็นภาพที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นการทำรัฐประหารเกิดขึ้นอย่างทั่วหล้า ภาพที่ประชาชน พ่อ แม่ ลูกเด็กเล็กแดง แห่แหนกันไปถ่ายรูปกับทหารและรถถัง เด็กปีนป่ายเล่นกัน แถมมีแม่ยกไปให้พวงมาลัยพร้อมด้วยเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นภาพที่น่ารักยิ่งนัก

ผมว่าภาพนี้มันสามารถตีความได้สองประเด็น

ประเด็นแรกคงเป็นไปในทางที่คณะปฏิรูปฯ ต้องการให้เป็นก็คือแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ความเป็นโคตรสยามเมืองยิ้มของประเทศไทย ที่แม้ว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น แต่ประชาชนก็ยังอยู่ด้วยรอยยิ้มสดใสได้ อีกทั้งยังไม่มีความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น ในแง่นี้ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจแล้ว ถือว่าส่งผลต่อทิศทางของนักลงทุน (ทั้งไทยและต่างชาติ) พอควรเลย เพราะหลายๆคนเชื่อว่าก่อนหน้าจะมีการปฏิวัติการเมืองค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ เพราะมีหลายฝ่ายตะเบงใส่กันเหลือเกิน ซึ่งจะแลไปแล้วมันเป็นภาพที่ดูไม่นิ่งนัก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการหลังทำปฏิวัติ ที่ขาตะเบงทั้งหลายฝ่อลงไป การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเก่าออก อาจจะทำให้ภาพการเมืองเราดูนิ่งขึ้นไปกว่าเดิมก็ได้ (ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นมุมมองจากตัวผมเอง ผิดพลาดพลั้งอย่างไรก็ขออภัย และส่วนตัวผมยังเชื่อต่อไปว่า ตัวกำหนดเศรษฐกิจไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นอยู่กับพวกนักลงทุนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทำไงได้ ทุกวันนี้เราก็มักจะอ้างตัวนี้เป็นตัวหลักประจำ เอ้อ เลยขอตามน้ำหน่อย)

ในระยะสั้นเศรษฐกิจคงได้รับผลกระทบ (บ้าง)แต่ในระยะยาวถ้าหากคณะปฏิรูปฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่ประกาศไว้คิดว่าการแกว่งตัวทางเศรษฐกิจคงมีไม่มากนัก และคงไม่ห่างจากที่ผู้เชียวชาญได้คาดการณ์ไว้

ซึ่งในส่วนนี้ถ้าจะหาเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมการทำรัฐประหารจึงเป็นไปได้อย่างเรียบร้อยนั้น ด้วยข้อมูลน้อยๆ และปัญญานิดๆ ของผมคิดว่า คงมาจากการวางแผนที่เฉียบขาดของหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ที่กระทำการเข้าตี (แบบซุ่มเงียบ) อย่างฉับไวรวดเร็วทันใจกว่า พิซซ่า ฮัท อีกทั้งนายกทักษิณในขณะนั้นอยู่ที่ต่างประเทศจึงเป็นการยากที่จะแก้มือได้อย่างทันท่วงที

อีกข้อที่สำคัญก็คือ กลุ่มผู้คนที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองส่วนใหญ่คิดว่ามีใจที่ไม่เอนเอียงไปทางทักษิณเท่าใดนัก จึงเกิดอาการเจต่อต้านน้อย แต่อาการใจยังคงมีอยู่ (ฮา) ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่สงบเรียบร้อยขนาดนี้ แถมในใจลึกๆก็ไม่ค่อยจะเอนเอียงไปทางอดีตนายก ท่าทีของประชาชนจึงออกไปในทางที่จะสนับสนุนคณะปฏิรูปมากกว่าที่จะไปตะเบงต่อต้าน (ผมคิดว่ากลุ่มที่สนับสนุนอดีตนายกฯนั้นคงมีอยู่แน่ๆ แต่เชื่อว่ากลุ่มดังกล่าวมักจะอยู่นอกศูนย์กลางดังนั้นแล้วจึงค่อนข้างจะเป็นชายขอบพอสมควร ทำให้ขาดพลังในแง่ต่างๆ ที่จะแสดงถึงจุดยืนของตนเอง) อีกทั้งสังคมไทยเป็นสังคมที่ง่ายต่อการสยบให้กับอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากอำนาจนั้นผ่านกระบวนการให้ดูมีความศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่ พี่ไทยเราก็ยิ่งสยบต่อมันได้ง่ายเท่านั้น ผลสรุปจึงเห็นเป็นภาพที่เราพบเจอตามสื่ออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ประเด็นที่สองออกจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเสียหน่อย นั่นก็คือสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เสียเท่าไหร่ พูดง่ายๆ ก็คือเราไม่รู้จักเข็ดว่างั้น ภาพที่ออกมานอกจากจะแสดงภาพลักษณ์ความเป็นสยามเมืองยิ้มอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ยังแสดงถึงความไม่ยินดียินร้ายต่อการกระทำนอกรัฐธรรมนูญ ใครจะมาก็ให้เค้ามาเถิด ปฏิวัติแล้วนิ ทักษิณไปแล้วนิ คงไม่เป็นไรหรอกมั๊ง ใช้ชีวิตแบบชิวชิวได้เลย เย้

สำหรับคิดว่าเมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว เราคงไม่สามารถจะปล่อยให้มันแล้วไปเฉยๆได้ และผมไม่เห็นด้วยกับการที่คณะปฏิรูปฯ ออกประกาศห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองสำหรับกลุ่มการเมืองใดๆ เป็นสิ่งที่ควรจะทำเนินต่อไป และคณะปฎิรูปฯ ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะตอบโต้ด้วยความรุนแรง ภาพที่ผมอยากเห็นก็คือการนำกลุ่มการเคลื่อนไหวต่างๆ เข้ามาคุยกันอย่างเปิดอก ตรงไปตรงมา เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน การที่ประกาศว่าให้ดำรงกลุ่มการเมืองไว้แต่ไม่มีการให้เคลื่อนไหวเนี่ยผมว่าฟังยังไงก็ไม่ขึ้น

ส่วนเรื่องกลุ่มทุนใหม่ไปกลุ่มทุนเก่ามา ตรงนี้ผมไม่ขอวิเคราะห์ต่อ เพราะต้องพูดอย่างละอายเลยว่าเป็นคนติดตามการเมืองน้อย จึงไม่อยากออกความเห็นในประเด็นนี้นัก แต่เห็นด้วยกับคุณ เมฆาเลยว่าการที่อดีตนายกไปแล้วใช่ว่าปัญหาทุกอย่างจะหายแว้บไป ปัญหาที่เราเผชิญมันใหญ่กว่านั้นมากนัก มากกว่าการที่จะไล่คนๆเดียว (หรือทั้งกลุ่ม) ออกไปแล้วจะแก้ไขปัญหาได้หมด

และอยากจะฝากถึงป้าๆ ทั้งหลายว่าอย่าพึ่งเห่อทหารกันเกินไปนัก วันไหนอารมณ์แปรปรวนขึ้นมาแล้วขี้คร้านจะหอบลิโพหนีไม่ทัน (อันนี้แซวเล่นนะครับ อิอิ) โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าท้ายที่สุดถ้าคณะปฏิรูปยอมทำตามที่ได้ประกาศเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก บ้านเมืองคงจะไปสู่ความสงบโดยเร็ว ผมเองไม่หวังอะไรมากนอกจากเห็นบ้านเมืองสงบ ผู้คนอยู่เป็นสุข มีรอยยิ้มกันถ้วนหน้า (โดยที่ไม่ได้ยิ้มถ่ายรูปคู่กับรถถังนะ เสียวหวะ)


Wednesday, September 20, 2006

!!!!!!!

ปฏิวัติแล้วครับพี่น้องครับ!!

ใครมีอะไร update ก็เชิญบอกเล่าเก้าสิบกันได้ครับ

Wednesday, September 06, 2006

ว่าด้วยเรื่องการจัดอันดับมหา'ลัยไทย

ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ สำหรับการจัดอันดับ (ranking) มหาวิทยาลัยไทย โดยสภาคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ภายใต้แกนนำของนายภาวิช ทองโรจน์ ซึ่งหลังจากที่ประกาศผลออกมาก็มีต้องเสียงตอบรับ เสียงก่นด่า สนับสนุน เห็นด้วยไม่เห็นด้วยกันเต็มไปหมด เอาเป็นว่าใครจะอยู่กลุ่มไหน ได้ที่เท่าไหร่ เชิญทัศนากันได้ตามสะดวกเลยครับ ตาม link ที่ผมให้ไว้ได้เลยนะครับ

เชื่อว่าผลการศึกษาอาจจะมีผิดเพี้ยนไปจากมโนสำนึกโดยทั่วไปอยู่บ้าง อีกทั้งบางมหาวิทยาลัยก็ไม่เห็นด้วยกับการจัดอันดับดังกล่าว จึงไม่ได้เข้าไปกรอกข้อมูลให้กับทาง สกอ. อย่างไรก็ตามเราคงต้องยอมรับว่าผลการจัดอันดับของบางมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่ติดกลุ่มท้ายๆ มันก็สะท้อนถึงสถานภาพของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้ดีพอควร (ไม่อยากจะเอ่ยนามจริงๆ เดี๋ยวจะพาลเกิดความขัดแย้งไปอีกเปล่าๆปลี้ๆ)

สำหรับเรื่องที่ใครจะอยู่หัวตารางนี่ผมว่าคงเถียงกันยาวล่ะนะ เพราะผลที่ออกมาเชื่อว่าคงสร้างความกินแหนงแคลงใจต่อสถาบันอันเป็นที่รักของใครหลายๆคน ทำให้เกิดเสียงโต้แย้งกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทู้ต่างๆ นี่เถียงกันเป็นไฟเชียวล่ะ แต่ละสถาบันก็ต่างงัดเอาข้อดี ข้อเด่น ข้อเก่งมางัด แงะ กันมันส์หยดมาก ตรงนี้ผมเองก็ขี้เกียจเข้าไปร่วมเถียงด้วยอีกนั่นแล (รู้สึกว่าจะไม่ยุ่งอะไรกับเค้าซักอย่างแล้วจะเขียนเรื่องนี้ทำไมวะ??)

แต่อันดับท้ายตารางนี่ซิผมว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะไม่เห็นจะมีนัยยะใดๆสำหรับมหาวิทยาลัยที่ติดกลุ่มท้ายตารางเลยแม้แต่น้อย จัดดับเสร็จ แล้วก็จบกัน แล้วแบบนี้คุณยิ่งไม่ทำให้มหาวิทยาลัยที่อยู่อันดับท้ายๆ ไร้ที่ยืนมากขึ้นไปอีกหรือ??

แม้ว่าการจัดอันดับจะมีเรื่องน่ากังขาในหลายๆประเด็น (ลองตาม
link นี้ไปนะครับ ถ้าเป็นอย่างที่ว่าจริงๆ ก็น่าเขกกบาลคนทำซักสามเป้ก รับไม่ได้จริงๆ) แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้หรอกนะครับว่า มาตรฐานการเรียนการสอนหรือการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยทุกที่มันไม่เท่ากัน การที่จะบอกว่าทุกที่ล้วนมีมาตรฐานเดียวกัน ผมว่ามันเหมือนนิทานโกหก เพื่อทำให้ตัวเองสบายใจมากกว่า เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราก็รู้อยู่แก่ใจกันดีว่าแต่ละแห่งแต่ละที่มันเป็นอย่างไร


ผมว่าเสียงต่อต้านจากการจัดอันดับในหลายๆที่มักจะเป็นไปในทางการปกป้องหน้าตาของตัวเองเสียมากกว่า ส่วนเรื่องของการที่จะไปปรับปรุงในแง่วิธีวิทยา (methodoly) ของการจัดอันดับนี่ไม่ยักจะมีใครพูดถึง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราจะได้ย้อนกลับมาดูตัวเองผ่านการจัดอันดับ (ที่น่าเชื่อถือได้) เพราะโจทย์สำคัญที่เราเผชิญอยู่ก็คือว่า มาตรฐานการศึกษาของเรานั้นมันไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น (ไม่ต้องไปเทียบกับใครที่ไหนหรอก มันรู้ๆกันอยู่)

ดังนั้นแล้วการวัดผลจึงถือเป็นดัชนีอันสำคัญข้อหนึ่ง ที่จะมาช่วยเราในจุดนี้ได้ แน่นอนว่าจะต้องทำให้มันเป็นวาระระดับชาติอย่างจริงจังไปเลย ไม่เอาแบบทีเล่นทีจริงแบบนี้นะ สร้างกรอบ และมีกระบวนการศึกษาหาคำตอบที่น่าเชื่อถือ และพร้อมเปิดเผยผลงานให้สาธารณะชนรับทราบ ไม่ใช่อยู่ๆก็มาบอกอันดับโดยไร้ที่ไปที่มา

สิ่งที่ผมอยากจะเสนอคือนอกจากจะวัดในแง่การเรียนการสอน และการวิจัยในเชิงทั่วไปแล้ว สิ่งที่ควรจะลงไปดูก็คือวัตถุประสงค์ย่อยของแต่ละมหาวิทยาลัย (หรือจะเรียกเท่ๆว่าพันธกิจก็ไม่น่าเกลียด) ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถที่จะบรรลุตรงจุดนั้นได้หรือไม่ และควรให้คะแนนกับตรงนี้ด้วย และที่สำคัญคือการเข้าไปสำรวจดู ความคิด ทัศนคติ รวมไปถึงมาตฐานในเชิงวิชาการ และวิชาชีพ ของ นิสิต นักศึกษา ในสถาบันต่างๆด้วยว่าเป็นอย่างไร (แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่วัดค่าค่อนข้างยาก แต่ผมว่าคุ้มกับการทำนะ) รวมไปถึงการศึกษาโดยการเก็บข้อมูลจากการสังเกตร่วมเข้าไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าให้กรอกข้อมูลออนไลน์เท่านั้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ นอกจากการวัดผลในเชิงทั่วไป (general) ที่บ่งชี้ถึงมาตรฐานการเรียนการสอนหรือการวิจัย โดยรวมแล้ว เราจะต้องมีดัชนีที่ชี้วัดความเป็น “ตัวตน” ของสถาบันนั้นๆด้วย ว่าสามารถบรรลุถึงความเป็นตัวตนของสถาบันนั้นได้ดีแค่ไหน เพราะปัญหาสำคัญของการวิจัยแบบสมัยใหม่ก็คือการหาหลักการโดยทั่วไปให้ได้ ซึ่งตรงนี้ผมเองไม่ปฏิเสธเลยแม้แต่น้อย หากแต่เราต้องกระทำควบคู่ไปกับ “ตัวตน” ของแต่ละสถาบันด้วย เพื่อคงไว้ซึ่ง “อัตลักษณ์” (identity) ของสถาบันนั้นๆ ไม่ใช่ใช้การวัดผลในเชิงทั่วไปเข้าทำการตัดสินความเป็นสถาบันนั้นๆอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในด้านของมหาวิทยาลัยเองก็ต้องหัดยอมรับผลการจัดอันดับเอาไว้บ้าง เพื่อทีจะนำมาสู่การปรับปรุงมาตรฐานด้านต่างๆให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าตามก้นดัชนีดังกล่าวจนสูญเสียลักษณะของตัวตนไป

สุดท้ายแล้ว ผมเห็นด้วยกับการจัดอันดับครับ แต่ต้องทำให้ชัดเจนกว่านี้ ด้วยวัฒนธรรมแบบไทยๆที่มามัวรักษาหน้ากันอยู่ผมว่ามันควรจะเลิกได้แล้วล่ะ การที่มหาวิทยาลัยแต่ละที่มีมาตรฐานไม่เท่ากันนี่ผมว่าเราจำต้องยอมรับมันเอาไว้ แต่ไม่ใช่เพื่อให้เกิดช่องว่างและความแตกแยก หากแต่เป็นการยอมรับเพื่อสร้างจุดเชื่อมและยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมแท้จริงคงเป็นสิ่งที่ขึ้นยาก และกว่าที่เราจะไปถึงมันคงจะนานเชียวล่ะ ดังนั้นแล้วผมว่ากว่าจะถึงตอนนั้นเราจำต้องหาทางอยู่ร่วมกันให้ได้ครับ เพื่อประโยชน์ของกันและกัน และเพื่อประโยชน์ของนิสิตตาดำๆทั้งหลายด้วย

นี่เป็นเพียงเรื่องวุ่นๆเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา เรื่องเดียวที่ผมเอามาบ่นไว้ว่างๆจะทยอยเอามาบ่นอีกครับ มีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง ก็ทนๆฟังกันหน่อยนะแฟนคลับทั้งหลาย ฮ่าๆ

ปล.

สำหรับผู้ที่สนใจมี link อีกเยอะเชียวครับ ตามด้านล่างนี้เลย
ข่าวมติชนครับมีเป็นคอมโบเลย
และประเด็นวิวาทะกันใน
บอร์ดพันทิปครับ เห็นว่าน่าสนใจดี