Monday, June 25, 2007

Academy Fantasia : ปฏิบัติการฝันถูกล่า?

ผมคิดว่าทุกท่านที่เผลอไผลเปิดเข้ามาดู blog ของผมคงตกใจน่าดูกับการ update ที่รวดเร็วทันใจในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน blog นี้เลยนะจะบอกให้)

แต่อย่าพึ่งคิดไปไกลครับ ผมมักง่ายเอาของเก่ามาขายอีกแล้ว ฮ่าๆ อันนี้เป็นบทความของผมที่พึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็วๆนี้เองครับ และเพื่อให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ผมจึงไม่รีรอเอามาลงใน blog อีกรอบสำหรับบางคนที่ไม่ได้ติดตามอ่านกรุงเทพธุรกิจ (จริงๆ ผมเองก็อายที่จะบอกว่าไม่ได้อ่านเหมือนกัน แหะๆ) อย่างไรก็ตามสำหรับบทความนี้ต้องให้เครดิตพี่เปี๊ยกที่ช่วย edit ขัดเกลา ทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยังไงก็ขอรบกวนสำหรับครั้งต่อๆไปด้วยนะคร้าบ

เอาล่ะเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาขอเชิญทัศนา......................

------------------------------------------------------------------------------

Academy Fantasia : ปฏิบัติการฝันถูกล่า??

มุมมองบ้านสามย่าน : นรชิต จิรสัทธรรม กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2550

ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน หนังสือ “The Great Transformation” ของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Karl Polanyi ได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยสาระสำคัญคือการพูดถึงการอุบัติขึ้นของภาวะสมัยใหม่ (modernity) ที่ระบบตลาดได้สถาปนาตนเองไปอยู่ทุกอณูของสังคม และแทนที่ตลาดจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางสังคมได้กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกตลาดดูดกลืนเข้าไป ทำให้ตลาดกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเราแนบแน่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้แต่ “มนุษย์” ที่มีชีวิตจิตใจ เมื่อได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาด ก็กลับโดนปฏิบัติเฉกเช่นสินค้าทั่วไป หยาดเหงื่อและพลังแรงงานไม่ได้มีค่าอะไรมากกว่าสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันในตลาด

ผลพวงของพัฒนาการที่ระบบตลาดได้เข้ามามีบทบาทนำในชีวิตเราอย่างแนบแน่น ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างได้กลายเป็นสินค้าไปเสียสิ้น และเมื่อลองมองย้อนมาดูสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่พลังแรงงานเท่านั้นที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าและแลกเปลี่ยนกันในตลาดแรงงาน แต่ยังได้เกินเลยไปถึงการนำเอา “ชีวิต” และ “จิตใจ” ของมนุษย์ มาผ่านกระบวนการทำให้กลายเป็นสินค้า (commodification) ร่างเนื้อและจิตใจของมนุษย์ได้กลายมาเป็นสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคเสพเข้าไปเพื่อความบันเทิงเริงใจ หรือใช้เป็นเครื่องบำบัดความกำหนัด ทั้งในรูปแบบที่โจ่งแจ้ง เช่น การค้าประเวณี หรือที่ซับซ้อนกว่า เช่น รายการจำพวก Reality Show ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่มนุษย์ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าเต็มรูปแบบ เพื่อการแสวงหากำไรผ่านเครื่องมือการสื่อสารและแผนการตลาดขององค์กรธุรกิจภาคเอกชน

รายการ Academy Fantasia เป็นรายการประเภทนี้ที่มีได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะว่ารายการนี้ถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่ได้เข้ามายึดพื้นที่ในจิตใจของผู้ชมในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องมาจนถึง season ที่ 4 แล้ว โดยรูปแบบมาตรฐานของรายการคือการนำเหล่า “นักล่าฝัน” ทั้ง 12 คน (แต่เท่าที่ทราบมาใน season นี้ ทางรายได้ปรับเปลี่ยนกติกาเล็กน้อย กล่าวคือจะเฟ้นหาผู้เข้ารอบ 20 คนสุดท้ายจากทั่วประเทศก่อน จากนั้นจึงทำการโหวตให้เหลือ 12 คนเพื่อให้เข้าไปอยู่ในบ้าน Academy) ที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทั่วประเทศมาอยู่ร่วมกันในบ้าน Academy เพื่อฝึกฝนวิชาการแสดง การเต้น การร้องเพลง ฯลฯ ภายใต้คำชี้แนะของคุณครูหลายท่านซึ่งมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป
แต่เพราะเป็นรายการที่เน้นการมีส่วนร่วมและสื่อสารระหว่างกันระหว่างผู้ชมและผู้เข้าแข่งขัน และเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมดู ในส่วนของวิธีการร่วมสนุกของผู้ชมจึงมีการส่ง sms เข้าโหวตหมายเลขที่ตนชื่นชอบ ยิ่งส่งมากโอกาสที่ผู้เข้าแข่งขันที่ตนชื่นชอบจะเข้ารอบจะยิ่งมีมากขึ้น ถึงกับมีเรื่องเล่ากันมาว่าบางคนเสียเงินค่าโทรศัพท์ให้กับการโหวตต่อเดือนเป็นจำนวนถึงหลักพันหลักหมื่นเลยทีเดียว

ในส่วนของการปลุกเร้าอารมณ์การมีส่วนร่วม ไฮไลต์ของรายการนี้จะอยู่ที่วันเสาร์ของทุกสัปดาห์ โดยนักล่าฝันทุกคนจะต้องแสดงคอนเสิร์ตต่อหน้าผู้ชมตามโจทย์เพลงที่ตนได้รับแตกต่างกันไป ก่อนที่เหล่า commentator จะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์การแสดงของแต่ละคน และแต่ละสัปดาห์จะต้องมีผู้เข้าแข่งขันจำนวน 1 คน ที่ได้รับผลโหวตจากผู้ชมน้อยที่สุดและต้องออกจากบ้าน Academy ไป คนที่ได้รับผลโหวตมากที่สุดและสามารถยืนหยัดเป็นคนสุดท้ายจะกลายเป็นแชมป์นักล่าฝัน พร้อมกับของรางวัลมากมาย ทั้งรถ ทั้งบ้าน ฯลฯ รวมไปถึงโอกาสที่จะได้โลดแล่นในวงการมายา

แม้ว่าภาพที่ตามมาของบรรดานักล่าฝันจะเต็มไปด้วยความชื่นมื่น ได้เข้าถึงโอกาสการแจ้งเกิดกลายเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือพวกเขาเหล่านั้นได้กลายมาเป็นหนึ่งในกระบวนการสะสมทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของกลุ่มทุนเจ้าของรายการ ผู้ให้การสนับสนุนรายการ หรือกลุ่มที่จะนำเอาบรรดานักล่าฝันไปใช้ในการสร้างภาพลักษณ์สินค้าเพื่อแสวงกำไรทางธุรกิจต่อไปในภายหน้า แม้ว่าเหล่านักล่าฝันจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที

เมื่อพิจารณากรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กระบวนการสะสมทุนภายใต้ระบบทุนนิยมได้นำพาความรุนแรงแบบใหม่มาสู่เรา ซึ่งต่างจากสังคมสมัยก่อน ดังเช่นในเรื่องของการค้ามนุษย์ การค้าทาส ที่การควบคุม กดขี่ เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อเทียบกับเหล่านักล่าฝัน เราจะเห็นความเหมือนที่แตกต่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาจะถูกจับตาอยู่ตลอดทั้ง 24 ชม. ทุกอย่างล้วนเป็นการดำเนินชีวิตและกิจกรรมที่ดูเหมือนธรรมดา แต่กลับไม่ธรรมดา เพราะมันมากับความ “เนียน” ที่ทำให้แม้กระทั่งผู้ที่ถูกกระทำอยู่ไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวอยู่เลยว่าทุกย่างก้าว ทุกการกระทำ ทุกการแสดงออกทางอารมณ์ของนักล่าฝันนั้นได้ถูกทำให้กลายเป็น “วัตถุ” ที่คอย “ปลุกปั่น” อารมณ์ของผู้ชมให้ทำการโหวตคะแนนให้กับเหล่านักล่าฝัน และโฆษณาสินค้าหลากหลายประเภทที่แฝงตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในที่อยู่อาศัยของพวกเขา อีกทั้งเกือบทุกอิริยาบถของบรรดานักล่าฝันในบ้าน Academy ได้ถูกนำมา “ผลิตซ้ำ” ผ่านรายการในพันธมิตรเครือข่ายของผู้ผลิตอย่างนับไม่ถ้วนและต่อเนื่อง เพื่อปลุกปั่นอารมณ์ผู้ชมให้ใช้บริการโหวตผ่าน sms โดยรายได้จากการโหวตได้ทะลักไหลไปเข้าสู่กระเป๋านายทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และสอดคล้องกับแผนการตลาดที่ได้วางไว้

ข้อสังเกตประการหนึ่งต่อกระแสความนิยมที่มีต่อรายการนี้อย่างล้นหลาม คือภาพสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของสังคมบางประการ ความโหยหาความฝันอันบริสุทธิ์ของผู้คนในสังคมทุนนิยมที่ทุกคนต่างแย่งกันไขว้คว้าเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ความสัมพันธ์ในระบบตลาดที่จำกัดความลึกของความสัมพันธ์มนุษย์ให้อยู่ในกรอบของการแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ จนบางครั้งอาจจะทำให้ลืมความฝันเหล่านี้ไป ดังนั้นแล้วนัยของการเข้าไปมีส่วน “ร่วมฝัน” ไปกับเหล่านักล่าฝัน ผ่านการโหวตทางโทรศัพท์มือถือ จึงอาจถือได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความบกพร่องตรงจุดนี้ได้ แต่ด้วยกรอบลักษณะของกิจกรรมนี้เอง ความสัมพันธ์ระหว่างนักล่าฝันและผู้รับชมรายการก็เป็นเพียงแค่ความสัมพันธ์แบบตลาดที่ดำเนินผ่านตัวเงินเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านบริการของบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมในการแสดงออกถึงความชื่นชอบและรสนิยมส่วนบุคคล การรับสารโฆษณาแฝงที่เร้นตัวมากับรายการ หรือการบริโภคสินค้าที่เกี่ยวพันกับรายการในภายหลัง ผู้ชมจึงเป็นผู้ถูกกระทำ ผู้ผลิตซ้ำความสัมพันธ์ และเป็นสินค้าในบางกรณีด้วยเช่นกันเช่น การสมัครเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้แข่งขัน เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนฐานวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างกำไรขององค์กรธุรกิจและกลุ่มทุนเป็นสำคัญ

เป้าหมายหลักของผู้เขียนคงไม่ได้อยู่ที่การก่นด่ารายการดังกล่าว หรือจู่โจมระบบทุนว่ามันแย่ไปเสียทั้งหมด เพราะเราคงไม่สามารถปฏิเสธคุณูปการบางอย่างจากมันได้ และที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าสังคมสมัยใหม่จะมีความรุนแรงมากกว่า หรือแย่กว่าสังคมแบบเก่า หากแต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงความแยบยลของระบบทุนนิยม ในการดำรงไว้ซึ่งความพันธ์แบบขูดรีดของตนเอาไว้ ถึงขนาดที่ผู้ถูกกระทำหรือถูกทำให้กลายเป็นสินค้านั้นไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ และแทนที่นายทุนจะต้องขอบคุณผู้เข้าร่วมแข่งขันฐานะที่ยอมพลีกายเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไร กลับกลายเป็นว่าผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นฝ่ายขอบคุณรายการที่ได้หยิบยื่นความสำเร็จให้ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าความสัมพันธ์ที่กลับตาลปัตรดังกล่าวคงหาที่ไหนไม่ได้แล้วนอกจากบนโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ เพราะขนาดความฝันของเรายังไม่สามารถรอดพ้นจากการตามล่าของมันไปได้เลย!!

Wednesday, June 20, 2007

เรียนจบแล้วคร้าบบบบ


ตอนนี้ผมเรียนจบแล้วครับ !!!

ถ้าจะถูกต้องคือต้องบอกว่าจริงๆ จบมาได้พักนึงแล้วหละ ประมาณหนึ่งเดือนได้ แต่ที่พึ่งสบโอกาสมา up blog ก็เพราะว่ามัวแต่ใช้ชีวิตแบบไปวันๆ อยู่น่ะครับ ฮ่าๆ

จริงๆ มีเรื่องจะบ่นเยอะเลย แต่ที่มา up ครั้งนี้คิดว่าคงเป็นการมาแปะให้มิตรรักแฟนเพลงรู้ว่า ผมยังไม่ล้มหายตายจากไปไหน ยังวนเวียนอยู่บริเวณนี้แหละครับ และหวังว่าทุกๆท่านคงสบายดีเช่นกันนะครับ

ส่วนชีวิตของผมในขณะนี้ก็ดำเนินไปด้วยความเรื่อยเปื่อยครับ ตื่นตอนบ่าย ตายตอนเช้า ทำอะไรก๊อกแก๊กไปเรื่อย ส่วนมากก็จะออกไปเจอเพื่อนฝูง ออนไลน์เล่นอะไรไร้สาระ และก็หางานทำ

ใช่ครับ หางานทำ.........

พูดถึงเรื่องหางานแล้วมันช่างดูน่าเบื่อเสียจริงๆ เพราะไอ้การที่ผมไม่มีทรานสคริปฉบับเต็มนี่แหละครับ ทำให้หมดคุณสมบัติสมัครงานในหลายๆแห่ง โดยเค้ามองว่าการที่ยังไม่ได้หลักฐานที่ทางสภามหาวิทยาลัยอนุมัติมานั้นถือว่าเรายังไม่จบการศึกษาอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจริงๆ ตรงนี้ผมก็เข้าใจนะ แต่มันก็ห้ามในใจไม่ให้เถียงไม่ได้แฮะ

เรื่องของเรื่องมันเป็นตอนที่ผมพึ่งเรียนจบใหม่ๆ แล้วพอดีทางภาควิชารัฐศาสตร์ของ ม.บูรพาได้เปิดรับอาจารย์พอดีครับ พอเห็นปุ๊บผมก็เลยรีบโทรเข้าไปหาทางภาควิชาทันทีและบอกทางโน้นว่าผมยังไม่ได้หลักฐานที่สมบูรณ์ยังพอมีสิทธิ์ที่จะสมัครมั๊ย ซึ่งทางภาควิชาก็บอกว่าให้ลองส่งมาก่อน ผมเลยจัดแจงส่งไปทันที

ซึ่งหลังจากนั้นผมก็ได้โทรตรวจสอบไปยังฝ่ายบุคคลของคณะครับ ได้ความว่าให้ผมไปสัมภาษณ์วันที่ เอ่อ.....วันไหนฟระ ถ้าจำไม่ผิดวันที่ 29 พ.ค. มั๊ง ตอนประมาณบ่ายสองโมง ผมก็จัดแจงจดเอาไว้ทันที เพราะหลงไปผิดวัน อีกทั้งในรายละเอียดของใบสมัครได้แจ้งไว้ด้วยว่าจะมีการสอบสอน ผมจึงทำการเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ (แต่เอาเข้าจริงๆ คืนก่อนไปสอบพึ่งเริ่มทำ slide ฮ่าๆ)

แต่ความชุลมุนมันอยู่ตรงที่ในวันสอบสัมภาษณ์ครับ เพราะไม่มีชื่อผมอยู่ในรายชื่อผู้สบสัมภาษณ์!!

เอาสิครับ มีวิ่งกันให้วุ่นเลยทีนี้ ผมก็รีบเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ทันที สรุปไม่ใช่อะไร เจ้าหน้าที่ดันเอาหลักฐานของผมไปใส่ไว้รวมกับผู้สมัครของภาควิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะตรงวุฒิการศึกษาของผมมันแผ่หลาเลยว่าเป็นเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จึงไม่น่าแปลกใจที่เค้าจะจับไปปนกับส่วนนั้น เพราะเค้าลืมดู major ว่าผมจบสาขาไหนมา สุดท้ายแล้วก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งเดินเข้ามาดูแล้วก็บอกว่าน่าจะสมัครได้ ผมก็เลยโชคดีได้สัมภาษณ์ในวันนั้น

แต่พอถึงตอนสัมภาษณ์ผมก็แทบตกเก้าอี้ครับ เพราะทางคณะกรรมการสอบบอกเลยว่าผมไม่มีสิทธิ์โดยสมบูรณ์เพราะถือว่ายังเรียนไม่จบเนื่องจากไม่มีหลักฐานที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติมา ไปๆมาๆ ก็เลยกลายเป็นการคุยกันซะงั้น สำหรับผมเองก็เข้าในนะครับว่าหน่วยงานราชการมักจะเคร่งครัดเรื่องระเบียบพวกนี้มาก แต่คิดไปคิดมามันก็เสียดายเหมือนกันนะเนี่ย อย่างไรก็ตามถือเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับการสัมภาษณ์งานครั้งแรก ว่าแต่มันจะมีอีกครั้งมะเนี่ย ฮ่าๆ

ดังนั้นตอนนี้ผมก็เลยว่างงานไปวันๆครับ แต่ก็ลองหาข่าวสมัครงานอยู่เรื่อยๆว่ามันมีทีไหนเปิดรับสมัครบ้าง แต่ขอบ่นหน่อยครับว่าสาขาผมนี่มันช่างแร้นแค้นเหลือคณา เพราะมีเปิดสอนกันไม่กี่ที่ครับ แถมที่ๆเปิดสอนบางแห่งมันก็ไม่เปิดรับคนเพิ่มอีก เห้อ..........

บ่นไปเดี๋ยวจะพาลเสียสุขภาพจิตเอา ครั้งนี้มา up สั้นๆ พอให้หายคิดถึงกันหน่อย คราวหน้ารับรองมีเนื้อๆหนังๆให้อ่านกันแน่ครับ

ผมคงต้องขอตัวก่อนละ พรุ่งนี้มีซ้อมรับปริญญาซะด้วย (ยังไม่มีเสื้อใส่เล้ย เหอ เหอ)