Friday, September 28, 2007

ดูหนัง-ละคร แล้วย้อนมองเศรษฐศาสตร์ ตอน ราโชมอน

สวัสดีครับ.....

ผมไม่รู้จะเริ่มทักทายยังไงหลังจากที่หายไปสองเดือนนอกจากคำว่า "สวัสดี" จะทักว่า ว๊อทซาป แม๊...น หรือ เฮ้ โย่ ล มันก็คงจะดูฮิปฮอปเกินไป คนไทยด้วยกันสวัสดีกันน่ะแหละดีที่สุดเนอะ

จุดประสงค์ที่มา update คราวนี้ก็คือบอกเล่าเก้าสิบชีวิตทั่วไปครับ ละก็เอาบทความที่พึ่งเขียนมาให้ท่านๆ ได้อ่านกัน ในเรื่องชีวิตส่วนตัวนั้นตอนนี้ผมก็ยังไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งแน่นอนครับ หลังจากที่สอบตกรูดมหาราช สอบอาจารย์ไหนที่ไหนก็ไมได้ซักที ตั้งแต่ที่ ม.บูรพา เกษตรศรีราชา นี่เป็นโซนตะวันออกนะครับ มาโซนอีสานก็มีที่ มข อีก จะรอดมั๊ยเนี่ยกรู...

ประสบการณ์จากการสอบที่ผ่านมาทำให้ผมได้รู้ข้อหนึ่งว่า การจบสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองนี่ช่างเป็นลูกเมียน้อยเสียจริง ซึ่งได้มาจากการเข้าไปสัมภาษณ์ที่เกษตรศรีราชานั่นแหละครับ และอีกข้อหนึ่งก็คือ ไมโคร แมคโคร นี่อย่าทิ้งเป็นอันขาด ฮ่าๆ โดยเฉพาะที่ มข ที่สอบตกหลังสุดมานี่มีการสอบข้อเขียนวิชา ไมโคร แมคโคร ครับ ผมเองก็นะทิ้งมาสองปีได้แล้วมั๊ง ไอ้จะให้ฟิตเหมือนตอนเรียนอยู่ ปี1 ก็ไม่ได้แฮะ เพราะหลังจากจบตรงนั้นมาก็ไปเรียนวิชาอื่นๆ ทำทีสิส ไม่ได้มาหัดนั่งทำโจทย์ไมโคร แมคโครเท่าไหร่ ทักษะการแก้ไขปัญหาพวกนี้เลยหดหายไปตามกาลเวลา พอไปสอบ ก็เลยสอบตกซิครับท่าน แต่ก็เป็นที่การตั้งเกณฑ์ของทางคณะที่โน่นด้วยแหละครับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งตอนแรกทางกรรมการก็จะเรียกผู้สมัครเข้าสัมภาษณ์ทุกคน แต่ติดตรงประกาศเลยทำให้ไม่สามารถทำได้ เห้ออออ สรุปคราวนี้เลยสอบตกหมดทุกคนครับท่าน

หลังจากนี้คงต้องเร้นกายไปร่ำสุรา เอ้ย !! หัดทำโจทย์ ไม แมค (เผลออาจจะร่วมด้วยอีโคโนฯ)ซักหน่อยเพื่อเรียกความฟิตกลับมา ถ้าหากใครมีโจทย์เด็ดๆ (พร้อมเฉลย ฮ่าๆ)โปรดส่ง link มาให้หน่อยจักเป็นพระคุณยิ่ง

ส่วนอีกอันเป็นบทความของผมที่พึ่งเขียนลงในกรุงเทพธุรกิจเมื่อวานนี้เอง จะเอามาลงทิ้งท้ายให้อ่านกันครับ คิดเห็นอย่างไร มีคอมเม้นอย่างไร เชิญตามสะดวกโยธินได้เช่นเคยคร้าบ

เชิญทัศนา

----------------------------------------

ดูหนัง-ละคร แล้วย้อนมองเศรษฐศาสตร์ ตอน ราโชมอน

มุมมองบ้านสามย่าน : นรชิต จิรสัทธรรม กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550

สำหรับคอหนังคอภาพยนตร์ คงมีน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก "ราโชมอน" (Rashomon) ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญ ของผู้กำกับชื่อก้องชาวญี่ปุ่น อากิระ คุโรซาว่า (Akira Kurosawa) สร้างจากบทประพันธ์ที่ถูกแต่งขึ้นในปี ค.ศ.1915 ของอะคุตะกะวะ ริวโนะซุเกะ (Akutagawa Ryunosuke) และได้ถูกกล่าวถึงมากในฐานะที่เป็นภาพยนตร์อมตะสุดคลาสสิก อีกทั้งยังถูกใช้ประกอบการเรียนการสอนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขานิเทศศาสตร์สายภาพยนตร์

ผู้เขียนเองพึ่งจะมีโอกาสได้ชม "ราโชมอน" เมื่อไม่นานมานี้ จึงรู้ซึ้งว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงเป็นที่กล่าวถึงมากมายนัก แม้ไม่มีความรู้ด้านนิเทศศาสตร์เพียงพอที่จะวิพากษ์วิจารณ์องค์ประกอบของหนัง แต่จุดที่ผู้เขียนคิดว่าโดดเด่น ในหนังเรื่องนี้ก็คือวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใคร เนื้อเรื่องหลักของภาพยนตร์อยู่ที่การไต่สวนคดีฆาตกรรม (และ) ข่มขืน (รึเปล่า?) โดยมีตัวละครเอกสี่คน ได้แก่ จอมโจรตาโจมารุผู้เป็นจำเลย ซามูไรผู้ถูกฆาตกรรม (ต่อมาภายหลังได้มาปรากฏตัวให้การ ผ่านร่างทรง??) เมียของซามูไรผู้เสียหาย และชาวบ้านผู้ที่เห็นเหตุการณ์โดยตลอด

สิ่งที่น่าสนใจก็คือแม้ว่าจะเป็นคดีเดียวกัน แต่ทั้งสี่คนกลับให้การไม่เหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว!!

ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสี่คนต่างก็อ้างว่า สิ่งที่ตนได้เล่ามานั้นล้วนเป็น "ความจริง" ทั้งสิ้น และด้วยวิธีการเล่าเรื่องอันแยบยล ของหนังเรื่องนี้ ที่จงใจให้เรื่องจบลงโดยไม่มีการเฉลยตัวฆาตกร เชื่อได้เลยว่าชาตินี้เราคงไม่มีทางรู้ได้แน่นอนว่าใครพูดจริง (หรือเท็จ?)

นอกจากอรรถรสที่ได้แล้ว "ราโชมอน" ยังได้สอดแทรกคำถามเชิงอภิปรัชญาที่มีต่อ "ความจริง" อย่างสำคัญ การฉายภาพให้เห็นความจริงที่แตกต่างกันถึงสี่รูปแบบในหนังเรื่องเดียว โดยไม่พยายามสถาปนาเบ็ดเสร็จลงว่า รูปแบบไหน "จริง" ที่สุด ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า ความจริงไม่จำเป็นต้องมีเพียงหนึ่งเดียว ความจริงไม่ใช่สิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องดังที่เราเคยคิดกัน หากแต่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมาด้วยยุทธวิธีนานัปการภายใต้เงื้อมมือของมนุษย์

ถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว "ราโชมอน" ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่มีมุมมองต่อความจริงอันโน้มเอียงไปทางจริตแห่ง "หลังสมัยใหม่" (postmodern spirit) ซึ่งทั้งหมดได้แสดงให้เห็นถึงความล้ำลึกของริวโนะซุเกะที่เหนี่ยวนำเราไปสู่การตั้งคำถามต่อ "ความจริง" และองค์ความรู้ที่ใช้ผลิตความจริงที่ครอบงำเราอยู่

แนวคิดข้างต้นขัดแย้งกับองค์ความรู้แบบสมัยใหม่ (modernism) ที่ครอบงำเราอยู่ในปัจจุบัน แนวคิดแบบสมัยใหม่ ยึดติดอยู่กับหลักการของเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ (scientific logic) ในการพยายามเปิดเผยให้เห็น "ความจริงอันเป็นสากล" (universal truth) ของสรรพสิ่ง และมองว่า ความจริงแท้นั้นมีอยู่ "จริง" โดยเราสามารถค้นพบมันได้ด้วยหลักการแห่งเหตุผล อันจะนำไปสู่วิธีการในการค้นหาความจริงที่ถูกต้อง และท้ายที่สุดความจริงสูงสุดหนึ่งเดียวก็จะถูกปลดปล่อยออกมา

เศรษฐศาสตร์เองก็รับอิทธิพลมาจากความเป็นสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน โดยพยายามค้นหาความเป็นจริงสูงสุด เกี่ยวกับการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ภายใต้โครงเรื่องหลักที่มีปัจเจกชนอันเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมเป็นตัวดำเนินเรื่อง และมองว่าปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมเป็นสิ่งที่สามารถค้นหาได้ในระดับปัจเจก โดยนิยามปัจเจกชนในฐานะที่เป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" (homoeconomics) ที่พ่วงด้วยความมีเหตุผล (rationality)

มนุษย์ในสายตาของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมีแต่ความเห็นแก่ตัว มีพฤติกรรมที่จะมุ่งแสวงหาความพอใจ/ กำไร/ ผลประโยชน์สูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว เป็นมนุษย์ในเชิงปริมาณที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ไร้มิติทางสังคมและประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง!! จากการเริ่มด้วยนิยามข้างต้น มันได้โยงใยเรื่องราวไปสู่คำอธิบาย/ทำนาย ปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ (economic model) อันหมดจดที่แสดงถึงดุลยภาพ (equilibrium) อันเป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ของปัจเจกชน

นอกเหนือจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ยังได้ประดิษฐ์มโนทัศน์ต่างๆ ขึ้นมาสนับสนุนความจริงเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "ตลาด" (market) "อุปสงค์" (demand) "อุปทาน" (supply) "การเลือก" (choices) "ต้นทุน" (cost) "การผลิต" (production) "ดุลยภาพ" (equilibrium) ฯลฯ

มโนทัศน์ทั้งหมดถูกเชื่อมร้อยด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ (mathematical method) และได้ถูกนำเสนอขึ้น เพื่อเป็นกรอบแห่งการอ้างถึง (references) โลกแห่งความเป็นจริง ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐศาสตร์ยังได้สถาปนาตนเองว่า เป็นศาสตร์ที่บริสุทธิ์ปราศจากแนวคิดในเรื่องคุณค่า อคติหรือความโน้มเอียงใดๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐศาสตร์กระแสหลักสนับสนุนหลักการตลาดเสรีอย่างเห็นได้ชัด

กล่าวได้ว่า เศรษฐศาสตร์ได้สร้างโลกความจริงเสมือนขึ้นมาอีกใบหนึ่ง (ดังเช่นโลกในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ซึ่งเป็นอีกเรื่องโปรดของผู้เขียน ถ้ามีโอกาสคงได้เขียนถึงในวันข้างหน้า) เป็นโลกเสมือนที่มีโครงเรื่องหลักอยู่เพียงพล็อตเดียว และเรื่องราวถูกบอกเล่าผ่านสายตาอันคับแคบของ "สัตว์เศรษฐกิจ" ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเศรษฐศาสตร์ ก็เหมือนกับสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า และสำนักความคิดที่หลากหลาย หากแต่ภายใต้โครงข่ายแห่งความเป็นกลไกนิยม ทำให้สำนักคิดทางเลือกอื่นๆ นั้น ได้ถูกเบียดบังออกไปสิ้น

นักเศรษฐศาสตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก) ดูเหมือนจะลืมการดำรงอยู่ของกระแสความคิดอื่นของตน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซิสม์ สถาบันนิยม สตรีนิยม ฯลฯ ที่ต่างพยายามสร้างเรื่องเล่า เกี่ยวกับเศรษฐกิจของตนเองที่แตกต่างกันออกไป

คงถึงเวลาแล้วที่นักเศรษฐศาสตร์ควรจะเอาอย่าง "ราโชมอน" โดยพยายามสร้างเรื่องราวของตนให้หลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งไม่ควรที่จะสถาปนาความเป็นจริงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ และอวดอ้างถึงความบริสุทธิ์แห่งศาสตร์ของตนเอง เศรษฐศาสตร์ควรจะเปิดรับการสร้างเรื่องราวที่หลากหลาย นอกเหนือจากวิธีวิทยาในแบบของตน สำหรับผู้เขียนเชื่อว่า การประชันกันของ "ความจริง" อันหลากหลาย จะสร้างคุณูปการทางด้านความคิดให้กับเศรษฐศาสตร์ มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

ขออย่างเดียวเศรษฐศาสตร์อย่าเลียนแบบวิธีการหาความจริง โดยอัญเชิญเจ้าเข้าทรง เหมือนในหนังตอนที่มีการอัญเชิญวิญญาณ ของซามูไรมาให้การก็แล้วกัน...