Friday, December 21, 2007

เศรษฐกิจพอเพียงกับความไร้ราก


ไม่ได้เจอกันนานเลยนะครับหลังจากที่ห่างหายไปเกือบสองเดือน ซึ่งจะว่าไปแล้วเวลานี่มันผ่านไปไวจริงๆครับ แว่บเดียวก็ผ่านไปแล้วหนึ่งปี และผมก็ว่างงานมาแล้วครึ่งปี (ฮ่าๆ) นับประสาอะไรกับช่วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมาที่ตอนแรกผมคิดว่าจะเข้ามา up blog สม่ำเสมอแต่ไปๆมาๆ วูบเดียวสองเดือนละก็ยังไม่ได้ update อะไรจนได้ซิน่า

ตอนนี้ชีวิตผมไม่มีอะไรคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอันครับ ยังอยู่ในช่วงตระเวณสมัครงานตามสถาบันต่างๆอยู่เช่นเคย ในกรุงเทพฯบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง เพราะตอนนี้เริ่มมีบางที่เปิดรับอาจารย์ใหม่ครับ แต่ส่วนเรื่องที่จะรับผมเข้าทำงานหรือไม่ อันนี้ก็อีกเรื่องนึง (เห้ออออ อยากจะขำแต่ขำไม่ออก) ซึ่งตอนนี้ผมก็ว่างงานมานานพอดู ถ้าหากเที่ยวนี้วืดหมดก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับอนาคตตัวเองอีกครั้งว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี แต่ตอนนี้โอกาสยังพอมีอยู่ก็ สู้เว้ยยยย!!

ช่วงที่หายไปนอกจากจะตระเวณสมัครงานแล้วก็มีเขียนงานบทความวิชาการครับ ซึ่งเป็นบทความที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของผมน่ะแหละ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะได้ตีพิมพ์หรือไม่ แต่รู้สึกว่าเงียบหายไปนานเหมือนกันนะ ชักจะเสียวๆเหมือนกันนะเนี่ย

สำหรับวันนี้ผมก็มามุขเดิมเช่นเคย เอาบทความของตัวเองมาขายต่อใน blog อีกแล้ว แต่รับรองว่าเที่ยวหน้าผมไม่มีตีเนียนแบบนี้แน่นอน เพราะจะลงเรื่องใหม่ๆให้อ่านกันเลยครับ ซึ่งตอนนี้กำลังร่างและเริ่มเขียน (ได้ย่อหน้าเดียว) อยู่

อ้อ ใกล้ปีใหม่แล้วนะครับ ขอถือโอกาสนี้กล่าวสวัสดีปีใหม่ไว้ล่วงหน้าเลย (เพราะตอนปีใหม่ไม่ได้ up blog แหงมๆ 555) แล้วพบกันนะครับ


----------------------------------------------
เศรษฐกิจพอเพียงกับความไร้ราก

มุมมองบ้านสามย่าน : นรชิต จิรสัทธรรม กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2550


ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาถือเป็นมหาโอกาสที่สำคัญยิ่งสำหรับปวงชวนชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้มีพระชนมายุ 80 พรรษา อีกทั้งยังทรงควบตำแหน่งกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก และในโอกาสเดียวกันนี้ ขณะที่ผู้เขียนกำลังปั่นต้นฉบับอยู่ จังหวะการตีกลองร้องป่าวหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ก็เริ่มคึกคักมากขึ้นเป็นเท่าทวี เพราะเวลาของแต่พรรคเหลือน้อยยิ่งนักก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ในอีกไม่กี่วันนี้


เราจะได้เห็นนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความสวยหรู ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสังคมแห่งความสุขเอย เรียนฟรีตั้งแต่เด็กยันโตเอย สร้างความสมานฉันท์เอย ฯลฯ ต่างเป็นการตีฆ้องเพื่อจูงให้ประชาชนกากบาทเบอร์ของตน แต่อีกนโยบายหนึ่งที่หลายพรรคต่างชูขึ้นมาเพื่อโกยคะแนนก็คือนโยบายที่อ้างถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” จนกลายมาเป็นคำบังคับที่จะต้องมีใส่ไว้ในนโยบายของพรรคต่างๆ


คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ใช่เฉพาะแค่เทศกาลเลือกตั้งเท่านั้น แต่รวมถึงช่วงระยะเวลาหลายขวบปีที่ผ่านมาที่หน่วยงานของรัฐต่างก็ประโคมคำดังกล่าว จนไม่ว่าจะมีกิจกรรมใดๆเกิดขึ้น มันก็ยังไปเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจพอเพียงจนได้ซิน่า ซึ่งถ้าหากพิจารณาดูแนวคิดดังกล่าว จะพบว่าต้นกำเนิดของมันมาจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นระยะเวลานานจนตกผลึกกลายเป็นวิธีการที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นตามลำดับ


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นการนำเอาแนวคิดดังกล่าวไปขยายตีความต่อเนื่องจากปฏิบัติการในภาคเกษตร จนในขณะนี้เศรษฐกิจพอเพียงมีสถานะเป็น “มหาทฤษฎี” (grand theory) ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆของสังคมได้อย่างครอบคลุมเป็นที่สุด โดยนำเสนอหลักการสามประการ ได้แก่ การรู้จักประมาณตน มีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกัน คล้องด้วยสองห่วงซึ่งก็คือความรู้คู่คุณธรรม เมื่อตัวแนวคิดเองได้ถูกนำเสนอในรูปของหลักการกว้างๆ แบบนี้ การนำไปปฏิบัติใช้จึงเป็นไปอย่างหลากหลาย


ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่มีทฤษฎีใดที่สมบูรณ์พร้อมที่สุด ภายใต้สังคมที่ยุ่งเหยิงอย่างที่เป็นอย่างอยู่ คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถมีชุดแนวคิดเดียวที่ตอบโจทย์ของสังคมได้หมด และถึงแม้จะมีทฤษฎีดังกล่าวจริง ผู้เขียนเข้าใจว่าคงจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสบการณ์การประยุกต์ใช้และการตีความในระดับหนึ่งทีเดียว ซึ่งนักคิดหลายคนมีความเห็นพ้องกันว่าการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัตินั้นขึ้นมีแนวโน้มสูงที่ผันแปรไปตามการตีความตามเฉพาะบุคคลหรือองค์กร


แต่ที่เราเห็นชัดเจนในวันนี้คือดูเหมือนว่าภายใต้หลักการกว้างๆ ของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครในโลกก็สามารถอ้างว่าตนน้อมรับเอาแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในชีวิตหรือการดำเนินการของตน ตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาดยันนายทุนร้อยล้านพันล้าน แม้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะดูหลากหลายและมีหลายประการขัดแย้งกับกรอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซักเพียงใดก็ตาม จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นความพอเพียงในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อนาฬิกาเรือนละสิบล้านก็ถือว่าพอเพียง หรือ ชาวบ้าน ประชาชนตาดำที่ขาดซึ่งปัจจัย 4 ก็ยังคงต้องพอเพียงแบบปากกัดตีนถีบกันต่อไป


ความไม่ลงรอยนี้เป็นปรากฏการณ์ที่รวมไปถึงการนำเสนอนโยบายเวอร์ชั่นพอเพียงของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อมองในรายละเอียดของตัวนโยบายแล้วผู้เขียนจนปัญญาที่จะแยกแยะจริงๆว่ามันต่างจากนโยบายหาเสียงประชานิยมแบบ ลด แลก แจก แถม ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยก่อนตรงไหน ส่วนที่ต่างคงจะมีแค่คำว่าเศรษฐกิจแบบพอเพียงเข้ามานำหน้าหรือต่อท้ายนโยบายเท่านั้น สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจพอเพียงจึงกลายเป็นเสมือนกระแสหรือวาทกรรมหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างความ “ดูดี” ให้แก่ผู้พูด โดยที่ผู้พูดไม่จำเป็นต้องมีความชัดเจนในมโนทัศน์ดังกล่าวเลยก็ได้


ยิ่งกว่านั้นเศรษฐกิจพอเพียงได้แปลงร่างจากแนวคิดกลายเป็นสัญลักษณ์ของความดีงามที่อยู่เหนือล้ำขึ้นไป โดยหลายฝ่ายที่ได้นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานหรือโครงการของตนได้ลบภาพที่เป็นจริงเกี่ยวกับแนวคิดหรือทฤษฎีตามปกติที่สามารถพิสูจน์ถูกผิด สามารถโต้แย้งด้วยหลักการของเหตุผลออกไป จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถอวดอ้างความชอบธรรมของผู้พูดได้อย่างสากล


สังคมการเมืองไทยคงไม่มีวันก้าวหน้าได้ถ้าหากว่าแนวนโยบายต่างๆที่ถูกนำเสนอขึ้นมานั้นเกิดจากการปรุงแต่งด้วยคำพูดที่สวยหรูโดยปราศจากรากที่แท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนิจลักษณะที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ซึ่งต่างจากพรรคการเมืองในบางประเทศที่มีอุดมการณ์หนุนหลังชัดเจนไม่ว่าจะเป็นแนวทางของพรรคกรีน หรือพรรคแรงงานในยุโรปก็ตามที แต่ดูเหมือนว่าอุดมการณ์หนึ่งเดียวที่หนุนหลังกลุ่มการเมืองของเราที่มีอยู่ก็คืออุดมการณ์แห่งการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น


ในมุมมองของผู้เขียนนั้น คำพูดของนักการเมืองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาล้วนอ้างถึงความผาสุกของสังคมโดยรวม แต่เอาเข้าจริงๆแล้วพฤติกรรมนักการเมือง ทำให้ผู้เขียนนึกถึงพฤติกรรมของ “สัตว์เศรษฐกิจ” (homo economicus) ที่มุ่งแสวงหาแต่ผลประโยชน์ให้แก่ตัวเองไม่ต่างไปจากที่กล่าวถึงในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ซักเท่าใดนัก ความพยายามขายชุดนโยบายที่สวยหรูเพื่อให้ตนเองได้เข้าไปอยู่ในสภาซึ่งถือเป็นหนทางอันหอมหวานในการกอบโกยผลประโยชน์ต่างๆมากมาย ได้กลายเป็นต้นทุนของสังคม หรือราคาที่สังคมต้องจ่ายให้กับความสุ่มเสี่ยงที่ฝ่ายการเมืองจะไม่ทำตามนโยบายที่ประกาศเอาไว้ ซ้ำร้ายยังจะเข้าไปผูกขาดอำนาจควบคุมและจัดสรรทรัพยากรรัฐสำหรับพวกพ้องและคณาญาติของตนเสียอีก ผู้เขียนเชื่อว่า ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากไม่มีผลตอบแทนให้แลกเปลี่ยน พฤติกรรมการเสียสละเพื่อส่วนรวมและสาธารณประโยชน์ของฝ่ายการเมืองคงจะเป็นสิ่งหายากยิ่ง


เศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกสอดแทรกในการรณรงค์หาเสียงของฝ่ายการเมืองจึงเป็นเสมือนเครื่องมือทางการเมืองที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ความ “ดูดี” ให้กับฝ่ายการเมือง แต่พรางเจตนาและวาระบางประการไว้เบื้องหลังสุดท้ายแล้วขอทีเถอะครับกับคำว่าพอเพียง ผู้เขียนอยากขอให้ทุกฝ่ายตรึกตรองก่อนที่จะใช้คำดังกล่าวให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน เพราะทุกวันนี้ดูเหมือนว่าจะใช้คำว่าพอเพียงกันแบบไม่บันยะบันยัง ไม่พอเพียงเอาเสียเลย