Sunday, July 22, 2007

มุซาชิจากประวัติศาสตร์สู่วรรณกรรม จากวรรณกรรมสู่การ์ตูนเรื่องเยี่ยม

มุขหาแดกของผมมาอีกแล้ว.......

งานเขียนครั้งนี้เป็นของเพื่อนผมครับ ซึ่งถือว่าเป็นคนที่คลั่งไคล้นิยายมุซาชิและการ์ตูนวากาบอนเข้าขั้นทีเดียว แต่จะบ้าคนเดียวมันก็กระไรอยู่ ว่าแล้วมันจึงจรดคีบอร์ดระบายความคลั่งไคล้และเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจมาให้ทุกท่านได้ทัศนากัน แน่นอนว่างานนี้ผมไม่คิดเองอีกแล้วครับ เอาของเพื่อนมาลงอีกเช่นเคย เห้อ......นอกจากไม่มีงานทำแล้วยังมักง่ายอีก เห้อออ

แต่คิดว่า blog ตอนนี้คงถูกใจผู้ที่ชื่นชอบมุซาชินะครับ ส่วนงานที่ผมเขียนเองคิดว่าคราวหน้าคงได้ยลกันแน่นอน อิอิ

เอ้อ เนื้อหามีการสปอยล์นะครับ ต้องบอกไว้ก่อน เด๋วผมจะพาลโดนด่าเอาได้ง่ายๆ ฮ่าๆ

----------------------------------------------------------

วันที่ 15 กันยายน ปี ค.ศ. 1600 ณ ทุ่งเซกิงาฮาร่า ผมได้รู้จักบุคคลประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น “ทาเคโซ” หรือที่เรารู้จักในนาม ”มิยาโมโต้ มูซาชิ “(ค.ศ.1584-1645) ยอดซามุไรอัจฉริยะผู้ผ่านการต่อสู้แบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาไม่ต่ำกว่าหกสิบครั้ง และไม่เคยแพ้แม้แต่ครั้งเดียว มูซาชิยื่นดาบเข้าฟาดฟันสมรภูมิชีวิตต่อหน้าผมผ่านลายเส้นสวยๆใน “VAGABOND” การ์ตูนสุดคลาสสิคของ อ.ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ (ผู้เขียน Slamdunk) ที่ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกถึงความเหนือชั้นของลายเส้นและอภิปรัชญาที่แฝงมากับการขัดเกลาตนเองสู่ มรรคาแห่งดาบ ของมูซาชิ

ในวัยสิบเจ็ดปีมูซาชิและมาตาฮาชิเพื่อนรักของเขา ได้เข้าร่วมกับฝ่ายโอซาก้าในฐานะทหารเลว ณ สงครามทุ่งเซกิงาฮาร่า ผู้ชนะในครั้งนั้นคือฝ่ายโตกุงาว่า อิเอยาสุ ทำให้มูซาชิต้องหลบหนีกลับบ้านเกิดในฐานะผู้แพ้สงคราม ถูกทหารฝ่ายตรงข้ามตามล่าและถูกนางโอสุหงิ ผู้เป็นแม่ของมาตาฮาชิ ตามจองล้างจองผลาญอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะเข้าใจผิดคิดว่ามูซาชิพาลูกนางไปตาย (จริงๆแล้วมาตาฮาชิยังไม่ตายแต่หลบหนีไปอยู่กินกับผู้หญิงคนหนึ่งที่พบกันระหว่างหลบหนีข้าศึก) มูซาชิในวัยหนุ่มเปรียบเสมือนสัตว์ป่ากระหายเลือดต่อสู้ฆ่าฟันผู้คนมากมายเพื่อให้ตัวเองรอด จนได้มาพบกับ ทาคุอัน พระนิกายเซ็นผู้ช่วยให้มูซาชิรอดพ้นจากการตามล่าของทางการและทำให้เขาได้ออกมาใช้ชีวิตพเนจรเพื่อมุ่งสู่หนทาง“หนึ่งในปฐพี”การท้าดวลโดยสัญชาติญาณดิบทำให้เขาชนะคู่ต่อสู้มากมายแต่เมื่อยิ่งเจอคู่ต่อสู้ที่เก่งขึ้นเรื่อยๆเขาก็ยิ่งตระหนักว่าแท้จริง วิถีบูชิโด(การเข้าสู่อภิมรรคด้วยวิชาดาบ)ที่เขาไฝ่ฝันนั้นยังห่างไกลยิ่งนัก สัญชาติญาณการฆ่าฟันและพละกำลังไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เป็นหนึ่งในปฐพีได้ ในคืนที่เขาลอบไปในปราสาทของ ยางิยู เซคิซูไค เขาได้สัมผัสถึงสภาวะ”ดาบอยู่ที่ใจ”จากกระแสจิตของปรมาจารย์ดาบสายยางิวอย่างเซคิซูไค ทำให้มูซาชิเข้าใจว่าหนทางที่จะเป็นจอมดาบอันดับหนึ่งนั้นยังอีกยาวไกล หลังจากนั้นเขาได้ย้อนกลับมาสู่การฝึกฝนสภาวะภายใน น้อมจิตสู่ภาวะธรรมชาติ ยึดเอาภูเขา สายน้ำเป็นอาจารย์ และแล้วโชคชะตาก็นำพาเขามาพบกับ “โคเอ็ทสุ”ช่างตีดาบผู้มีอัจฉริยะในศิลปะ โคเอ็ทสุผู้นี้เองได้นำพามูซาชิมาสู่โลกแห่งศิลปะซึ่งก็ทำให้เขาได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วศิลปะไม่ว่าแขนงใดๆกรวมไปถึงวิชาดาบล้วนต้องอาศัยกายและจิตที่ประสานรวมกันเป็นหนึ่ง การฝึกฝนศิลปะเป็นอุบายหนึ่งเพื่อขัดเกลาจิตใจและร่างกายให้หลอมรวมกัน (จากหลักการอันนี้เมื่อเขาได้เห็นการตีกลองญี่ปุ่นในงานรื่นเริงแห่งหนึ่งและได้เห็นการใช้สองมือตีกลอง วิชาดาบคู่ของมูซาชิจึงถือกำเนิดขึ้น) คู่ต่อสู้คนสุดท้ายของมูซาชิคือ ซาซากิ โคจิโร่ นักดาบผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น ท่าไม้ตายของเขาคือ นกนางแอ่นเหินลม เป็นการตวัดดาบสองจังหวะโดยใช้ดาบที่มีความยาวพิเศษกว่าดาบทั่วไป

ก่อนการปะลองในครั้งนี้มูซาชินั่งวาดภาพไปเรื่อยๆเพื่อให้จิตใจของเขาได้ปลดปล่อยเป็นอิสระหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ระหว่างนั่งเรือไปยังสถานที่นัดประลองเขานำพายมาตัดเป็นดาบยาว ด้วยการเดินทางแบบเรื่อยๆเอื่อยๆทำให้เขามาถึงที่ประลองช้าไปถึงสองชั่วโมง (เพราะมัวแต่นั่งวาดภาพ) สภาพจิตใจที่สงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียว กับดาบที่เหลามาด้วยตัวเองทำให้เขาเอาชนะ โคจิโร่ได้ หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้ต่อสู้กับใครอีกเลย (ในตอนนั้นมูซาชิอายุประมาณยี่สิบเก้าปี เขากล่าวว่าชั่วชีวิตนี้เขาคงหาคู่ต่อสู้ที่เก่งเท่าโคจิโร่ไม่ได้อีกแล้ว) ชีวิตในช่วงต่อมาเขาอยู่กับงานศิลปะทั้งวาดภาพ แกะสลัก และฝึกฝนวิชาดาบ (มีลูกศิษย์ด้วยครับ)จนเมื่ออายุได้ห้าสิบเขาจึงรู้ว่าตนเองได้บรรลุมรรคาแห่งดาบแล้ว ผลงานสุดท้ายในชีวิตมูซาชิคือคัมภีร์ห้าห่วง(โกะรินโนโฉะ) ซึ่งเขาเรียกวิถีแห่งดาบเขาว่า “นิเท็นอิจิริว”(ทวิภพบรรจบเป็นหนึ่งเดียว) มีส่วนของการฝึกฝนใจตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์มากแม้ในปัจจุบัน คนรุ่นเราก็สามารถนำมาใช้ได้ (ถ้ามีโอกาสจะนำหลักการฝึกตนในคัมภีร์ห้าห่วงมานำเสนอต่อไปนะครับ)

ทั้งหมดที่ร่ายมายาวเนี่ยเป็นแค่ส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตอันยาวของ มูซาชิ (ในการ์ตูนยังไม่จบนะครับ มีทั้งความรัก ความแค้น ฯลฯ) รายละเอียดที่ทำให้ผมเข้าใจเนื้อเรื่องได้ลึกซึ้งกว่าเนื้อหาในการ์ตูนก็เพราะปกการ์ตูนที่เขียนว่า”จากบทประพันธ์เดิมเรื่อง มิยาโมโต้ มูซาชิ โดย เอจิ โยชิกาว่า” เลยทำให้ไปหาอ่านฉบับแปลที่ใช้ชื่อว่า “มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์” ความหนาประมาณ 600 หน้า (ซึ่งย่อมาจากต้นฉบับซึ่งมีถึง 1,500 หน้า)แต่อ่านแล้วก็ทำให้เข้าใจมุมมองของมูซาชิ รวมถึงการวางกลยุทธ์จนสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้มาได้

เนื้อหาที่มีการตีความแตกต่างกันของฉบับท่าพระจันทร์และฉบับการ์ตูนมีดังนี้

-โคจิโร่ตัวจริงไม่ได้เป็นใบ้และหูหนวกแถมยังมีนิสัยขี้อิจฉาริษยามูซาชิตลอด โดยเขาเป็นคนดั้นด้นเรียนวิชาดาบกับ"คาเนมากิ จิไซ"เองไม่ได้ถูกจิไซเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเด็ก

-ในบทประพันธ์ดั้งเดิมไม่มีการกล่าวว่าโคจิโร่เคยร่วมเดินทางฝึกวิชาไปกับจอมดาบยะโกโร่ลูกศิษย์ของจิไซ

-โยชิโอกะ เซจูโร่เจ้าสำนักจอมสำราญแห่งสำนักโยชิโอกะ ไม่ได้ถูกมุซาชิสังหารแต่ถูกมูซาชิฟันแขนจนพิการจับดาบไม่ได้อีกตลอดชีวิต (และตัวละครในบทประพันธ์ดั้งเดิมก็ไม่ได้เก่งขนาดฟันมุซาชิซะจนเป็นแผลทั่วตัวอย่างนั้นแต่เรียกว่าอ่อนสุดๆ)

-เด็นชิจิโร่ประลองกับมุซาชิจริงแต่แอบขี้โกงตอนประลองโดยให้คนในสำนักลอบมาแทงมูซาชิด้านหลัง แต่มูซาชิไหวตัวก่อนจึงสังหารเจ้านั่นตามติดด้วยเด็นชิจิโร่อย่างรวดเร็ว (ในบทประพันธ์ไม่มีญี่ปุ่นมุงโยชิโอกะจึงทำการโกงหน้าด้านๆ)

-พอเจ้าสำนักทั้งสองหนึ่งหมดสภาพหนึ่งสิ้นชีพ ศิษย์โยชิโอกะทั้งหมดจึงท้าประลองกับมูซาชิแบบหมาหมู่ โดยตั้งให้เด็กน้อยซึ่งเป็นญาติของโยชิโอกะมาประลองแทนแต่เพียงในนาม แถมมีการขี้โกงแอบเอาพลแม่นปืนไปซ่อนตัวบนต้นไม้ด้วย (ขี้ขลาดจริงๆแต่สุดท้ายก็ไม่พ้นหูพ้นตาพระเอกของเรา)

-การประลองกับเหล่าโยชิโอกะแบบหมาหมู่ทำให้มูซาชิเผลอใช้ดาบคู่ออกมาโดยบังเอิญ ทำให้เขาเริ่มคิดค้นวิชาดาบคู่ซึ่งจะกลายมาเป็นท่าวิชาประจำตัวอันโด่งดังของเขาในภายหลัง (ส่วนโคจิโร่จะมีท่า"เพลงดาบนกนางแอ่น"ซึ่งต้องใช้ควบคู่กับดาบซามูไรที่ยาวมากซึ่งเป็นอาวุธประจำตัว)

-ในนิยายไม่ได้มีการกล่าวถึงว่าอะก็อน(ลุงของมาตาฮาชิ)ถูกโรนินสองคนทำร้ายจนเสียชีวิตระหว่างที่เขาไปเตร็ดเตร่อยู่แถวป่าของชิชิโดะ ไบเค็ง

-ชิชิโดะ โบเค็งในบทประพันธ์ไม่ได้มีฝีมือสะท้านฟ้าแบบนั้น (แต่ที่เหมือนกันคือเป็นน้องของโจรป่าที่พระเอกฆ่าตอนแรกมาสวมรอยแทนที่ไบเค็งคนเดิมและมีวิชานินจา)

-ในบทประพันธ์การประลองกับโยชิโอกะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของมูซาชิเท่านั้น ต้องใช้เวลาอีกเป็นสิบปีกว่าที่เขาจะมีชื่อเสียงโด่งดังและได้มีโอกาสประลองกับโคจิโร่

-ในนิยายมุซาชิเคยปลีกวิเวกไปทำไร่นาและสอนหนังสือด้วยล่ะ

-ตอนไปเที่ยวงานวัดมุซาชิเห็นคนกำลังถือไม้กลองคู่ตีกลองยักษ์อยู่เขาจึงฉุกคิดและนำมาปรับเป็นวิชาดาบคู่อันลือลั่น

.......ยังมีอีกมากมายถ้าสนใจหา มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์มาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ..........
(เนื้อหาในส่วนความแตกต่างของบทประพันธ์เดิมกับการ์ตูน นำมาจากคุณเจไดหนุ่ม ในพันทิปครับhttp://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A5611174/A5611174.html)