Sunday, March 16, 2008

ดูหนัง-ละคร แล้วย้อนมองเศรษฐศาสตร์ ตอน Dead Poets Society

สวัสดีครับ เผลอแผล่บเดียวปีใหม่ก็ผ่านมาเข้าเดือนที่สามแล้ว แม้เวลาจะผ่านไปเร็วแต่ชีวิตผมก็ยังทรงๆอยู่เช่นเดิมโดยที่ไม่รู้ว่าจะไปลงอยู่รูไหน เหอ เหอ
เมื่อว่างๆเช่นนี้สิ่งที่ทำเป็นประจำก็คือการอ่านการ์ตูนครับ แต่ที่มาแรงพักหลังๆนี่คืออาการติดซีรี่ย์ญี่ปุ่นกับซีรี่ย์ฝรั่งแบบงอมแงม เปิดเมื่อไหร่มีนั่งตูดแฉะกันแน่นอน เพราะจะไม่ยอมลุกไปทำอะไรเลย ยิ่งตอนนี้ขอแนะนำเรื่องง prison break ครับ ถ้าได้ดูแล้วรับลองติดหนับ ผมกับน้องชายถึงกะดูจนไม่เป็นอันทำอะไรกันมาแล้ว ฮ่าๆ
อีกเรื่องที่ชอบมากๆก้อคือไฟแชค Zippo ตอนนี้ผมก็พยายามสะสมอยู่ ประมาณว่าเห็นอันไหนก็อยากได้ปายโม้ดดดดด แต่ด้วยกำลังทรัพย์ที่จำกัด ทำให้ต้องค่อยๆทยอยเก็บเอาแหละครับ ซึ่งตอนนี้ก็พอมีอยู่สี่ซ้าห้าอัน ไว้ว่างๆจะถ่ายรูปมาให้ชมกันนะครับ
ทักทายกันซักเล็กน้อยพอครับ เช่นเดิมเที่ยวนี้เอาของเก่ามาปล่อยครับ เป็นบทความที่เขียนไปซักพักแล้ว เอามาลงไว้เผื่อใครยังไม่ได้อ่านกัน ตอนนี้มุขหนัง-ละคร กับเศรษฐศาสตร์ของผมชักเริ่มตันๆแล้วแฮะ มันจะไปได้ซักกี่น้ำวะเนี่ยยย
------------------------------
ดูหนัง - ละคร แล้วย้อนมองเศรษฐศาสตร์ ตอน Dead Poets Society

มุมมองบ้านสามย่าน : นรชิต จิรสัทธรรม กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2551

หากท่านผู้อ่านยังพอจำกันได้ เมื่อหลายสิบปีก่อน หนังเรื่อง "Dead Poets Society" หรือ "ชมรมกวีไร้ชีพ" เป็นที่โด่งดังมาก เพราะได้รับรางวัลออสการ์ และมีผลให้เราได้รู้จักดาราฮอลลีวู้ดที่ชื่อ ร็อบบิน วิลเลี่ยมส์ (Robin Williams) ในฐานะบทบาทของ "ครูขบถ" โดยชื่อหนังล้อมาจากชื่อของสมาคมลับที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ที่มารวมตัวกันในพลบค่ำ เพื่อต้องการปลดแอกตัวเองจากกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและปิดกั้นอิสรภาพในการคิด ทำในสิ่งต่างๆ โดยใช้บทกวีเป็นเครื่องมือในการเยียวยาและสร้างพลังในการคิด กระทำและ แสดงออกตามสิ่งที่ใจตนปรารถนา

ด้วยความที่โรงเรียน Walton เป็นโรงเรียนเก่าแก่มีชื่อเสียง และมีขนบธรรมเนียมจารีตปฏิบัติแบบผู้ดีที่มีความเฉพาะตน มาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ทางโรงเรียนและผู้คุมกฎ ต่างพยายาม (แกมบังคับ) ปลูกฝังค่านิยม และกฎเกณฑ์ในรูปแบบของสถาบันอย่างเข้มงวด โดยไม่ได้คำนึงว่านักเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการศึกษา ต้องการอะไรจากโรงเรียนแห่งนี้ และอาจารย์ (ที่เชื่อกันว่าเป็นอาจารย์ที่ดีที่สุดเก่งที่สุด) ก็มีหน้าที่เพียงให้เด็กท่องคำศัพท์ซ้ำไปมา สอนหนังสือโดยการเปิดอ่านตำราเรียนให้ฟัง รวมทั้งปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในห้องเรียน อำนาจในห้องเรียนจึงถูกผูกขาดโดยอาจารย์ และการศึกษาเป็นเพียงการยัดเยียดความคิดของอาจารย์แต่เพียงฝ่ายเดียว

แต่การมาของ Jonh Keating (Robin Williams) อาจารย์สอนภาษาอังกฤษไฟแรงคนใหม่ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในชั้นเรียนขึ้น ด้วยวิธีการสอนที่แหกขนบธรรมเนียมดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการพานักเรียนเดินทัวร์ออกมาเรียนกันข้างนอกมากกว่าที่จะนั่งเรียนกันแบบซ้ำซากในห้อง หรือการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าอันลึกซึ้งของกวีนิพนธ์ ที่ไม่สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ หรือตัวแบบที่เป็นกราฟใดๆ โดยเขาได้หยิบเอาตำราขึ้นมาพร้อมทั้งฉีกหน้าหนังสือนั้นทิ้งไปเสีย

แต่วีรกรรมที่เด็ดสุดคงไม่พ้นคราวที่ Keating ชักชวนให้เหล่านักเรียนขึ้นไปยืนบนโต๊ะหน้าชั้นเรียน เพื่อให้เหล่าเด็กหนุ่มได้หัดมองโลกในมุมที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ รวมถึงการสอนที่เต็มไปด้วยการเร้าอารมณ์ด้วยกวี ท้าทายให้เหล่านักเรียนได้แสดงตัวตนออกมาในอย่างที่ควรจะเป็น แสดงตัวตนที่แท้ออกมา นอกเหนือจากการเป็นนักเรียนที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การขีดเส้นคั่นพฤติกรรมของ "พวกเขา" ที่กำหนดโดย "ผู้อื่น"
นอกจากการสอนที่แหวกแนวแล้ว Keating ยังเป็นผู้จุดประกายไฟในการรื้อฟื้น "ชมรมกวีไร้ชีพ" ขึ้นมาอีกครั้ง ในตัวนักเรียนกลุ่มหนึ่ง นำทีมโดย Neil Perry (Robert Sean Leonard) เด็กหนุ่มที่นิยมชมชอบละครเวที และต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวอย่างแข็งขัน และด้วยการชี้นำของ Keating เด็กหนุ่มตัดสินใจที่จะทำตามความฝันของตน ด้วยการเล่นละครเวทีตามที่เขาหวังเอาไว้ ซึ่งมันดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรถ้าหากสิ่งที่ Perry ปรารถนานั้นกลับเป็นสิ่งที่ขัดใจพ่อ ที่วาดหวังให้ตัวลูกชาย เป็นนายแพทย์ในอนาคต จนห้ามมิให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมอันใดที่จะส่งผลกระทบต่อการเรียนได้

แต่แล้วการกระทำตามความฝันโดยเข้าร่วมแสดงละครเวทีที่ปราศจากการยินยอมของผู้เป็นพ่อ กลับนำไปสู่โศกนาฏกรรมอันสุดสลดเหลือจะกล่าว...

เหตุการณ์ทั้งหมดจึงได้ส่งผลย้อนกลับมาที่ชมรมกวีไร้ชีพ และ Keating ในฐานะผู้จุดประกายและชี้นำการจัดตั้งกลุ่มดังกล่าว โดยพฤติกรรมของอาจารย์หนุ่มได้ตกอยู่ในสายตาอาจารย์หัวเก่ามานานแล้ว และเมื่อเกิดเหตุสลดใจขึ้น อาจารย์หัวเก่าเหล่านั้นจึงใช้เหตุการณ์นี้ในการเบียดขับ John Keating ออกจากโรงเรียนไป

นอกเหนือจากเรื่องราวชีวิตที่เข้มข้น หนังเรื่องนี้ยังพยายามชี้ให้เห็นถึงการคิดออกไป "นอกกรอบ" จากสังคมกระแสหลักดังที่เป็นอยู่ ซึ่งในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์นั้นก็มีสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างจากในภาพยนตร์ซักเท่าใด การเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันที่กักขังตัวเองอยู่กับกรอบและรูปแบบของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (mainstream economics) ได้กลายเป็นเรื่องราวหลักที่แสดงภาพตัวแทน (representation) สังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยที่การเรียนการสอนในเชิงวิพากษ์ระบบ หรือวิพากษ์วิธีวิทยา (methodology) ของตนนั้นแทบไม่พบเห็นเลย

นี่เป็นความย้อนแย้งในตัวเองของศาสตร์ชนิดนี้ เพราะทั้งที่วิธีการมองโลกด้วยเศรษฐศาสตร์นั้น มีแง่มุมที่หลายหลาก และมากไปด้วยสำนักทางความคิด แต่สิ่งที่พบและเป็นอยู่กลับเป็นการยัดเยียดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์กระแสหลัก ให้ผู้เรียน จนสุดท้ายมันได้ปลูกฝังโลกทัศน์ที่มองเห็นระบบเศรษฐกิจ เป็นกลไกแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่มีผู้คนและเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่หลากหลายและปรากฏอยู่ในความเป็นจริง
ผู้เขียนคิดว่าการเรียนเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเป็นพื้นฐานสำหรับนักเรียนเศรษฐศาสตร์และเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันคือการปลูกฝังความคิดในเชิงวิพากษ์ รวมถึงการให้ภาพของสังคมเศรษฐกิจ ด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป

การเรียน การสอนเศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็นคือการศึกษาเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งถือได้ว่าเป็นขนบธรรมเนียมหลัก (orthodox) ควบคู่ไปกับเศรษฐศาสตร์นอกกระแส (heterodox) เพื่อให้ผู้เรียนมีมุมมองที่เปิดกว้าง เป็นการปลุกเร้าให้นักเรียนเศรษฐศาสตร์รู้จักคิดในมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม อันอาจจะนำไปสู่การตั้งคำถามใหม่ๆ ให้แก่แวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ได้

เหมือนกับในภาพยนตร์ที่ยกมา ครูหนุ่มได้แสดงสัญลักษณ์ที่สื่อนัยนี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการท้าทายให้นักเรียน ขึ้นมายืนบนโต๊ะ เพื่อให้เห็นโลกในมุมอื่น รวมถึงการวิพากษ์ทฤษฎีอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าในท้ายที่สุด Keating จะถูกไล่ออก แต่นักเรียนทุกคนพร้อมใจกันยืนบนโต๊ะเพื่อน้อมส่งคุณครูผู้เป็นที่รักถือ เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้ตัวอาจารย์จะจากไป แต่วิธีการมองโลกที่พยายามกระโจนออกไปนอกกรอบกระแสหลักนั้นยังคงสถิตอยู่ในตัวนักเรียนที่เขาพร่ำสอนทุกคน

การให้กรอบคิดที่หลากหลายถือเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าที่จะให้ผู้เรียนถูกขังอยู่ในคอกความคิดหนึ่งอย่างคับแคบ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันอาจจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมทางความคิดของผู้เรียนที่ถูกปิดกั้นด้วยโลกทัศน์บางประการแต่เพียงอย่างเดียว