Wednesday, May 18, 2011

สวัสดีครับ เจอกันปีละครั้งอีกเช่นเคย 5555

ห่างหายไปนานครับ ตั้งแต่กันยายนปีที่แล้วได้ จะว่าไปแล้ว Blog นี้ก็อยู่คู่กับผมมานาน ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จนทำงาน ถึงตอนนี้ต้องกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้งมันก็ยังอยู่ (แบบหายใจหอบร่อแร่)

สำหรับรอบปีที่ผ่านมาเรื่องราวในชีวิตเกิดขึ้นมากมายครับ เอาหลักๆก่อนละกัน ผมได้ที่เรียนแล้วครับ สรุปได้ไปที่ The University of Sydney ประเทศออสเตรเลียครับ ซึ่งจะบินไปวันที่ 9 กค นี้แล้ว โดยผมไปเรียนในสาขา Political Economy ที่ต้องการมาแต่แรก โดยตัว Research Proposal ที่เสนอไปคือเรื่องแนวเกี่ยวกับ ศก พอเพียง และทุนนิยมของไทยครับ จะออกมารูปแบบไหน จะเรียนจบหรือไม่ อีกสี่ปีถัดจากนี้ไปก็ต้องลุ้นกันน่ะครับ

การกลับไปเป็นนักเรียนครั้งนี้สิ่งที่ผมหวังคือ อยากรีบไปเรียน เขียนงานให้เสร็จโดยไว แล้วรีบกลับมาทำงานสอนครับ และอยากไปฝึกฝนฝีมือทักษะทางวิชาการให้พัฒนามากขึ้นกว่าเดิม ไม่ให้แพ้พวกฝรั่งตาน้ำข้าวด้วยเอ้า (มุมมอง bias ทางชาติพันธุ์ของผมเริ่มโผล่ขึ้นมาอีกแล้ว 55) ส่วนเรื่องไปหางานทำ make money อันนี้ผมคงตามสภาพหละครับ ถ้าไม่พอกินมันก็ต้องทำกันบ้าง แต่คงไม่ทำเป็นหลักแน่นอนเพราะหลวงส่งเราเรียนก็ต้องรีบเรียน รีบจบครับ

ไหนๆพูดถึงเรื่องเรียนแล้ว มาครั้งนี้ผมขออนุญาต แปะบทความที่ของผมที่พึ่งลงในกรุงเทพธุรกิจเมื่อสัปดาห์ก่อนให้ดูกันนะครับ เป็นการแนะนำสถานที่สำหรับการไปเรียนด้าน Political Economy/Heterodox Economics ยังไงลองอ่านดูนะครับ แล้วถ้าได้แลกเปลี่ยนกันจะดีมากๆๆเลยครับ ปลุกกระแส Blog ที่ซบเซาหน่อย 55

เชิญครับ
----------------------------------------------


เปิดกรุแหล่งที่เรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง!

กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน 12 พฤษภาคม 2554

นรชิต จิรสัทธรรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2545 อ.ปกป้อง จันวิทย์ ได้เขียนบทความ “เรียนเศรษฐศาสตร์นอกคอกที่ไหนดี” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการจุดประกายให้ผมเสาะหา “คอก” ที่เปิดสอน “เศรษฐศาสตร์การเมือง” จวบจนปัจจุบันเวลาผ่านมาเกือบ 9 ปี บทความของ อ.ปกป้อง ยังคงทันสมัยอยู่สำหรับการแนะนำที่เรียนในอเมริกา อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ผมขอใช้พื้นที่แนะนำที่เรียนสถาบันที่อยู่นอกอเมริกาเป็นหลัก ซึ่งคิดว่าเป็นโอกาสดีด้วยสองเหตุผลด้วยกัน หนึ่ง ช่วงนี้เป็นเทศกาลสอบสัมภาษณ์และประกาศผลแอดมิชชั่นนักเรียน อีกทั้งเป็นช่วงปิดเทอมที่เอื้อให้ นักเรียน/นักศึกษา ค้นคว้าหาทางเดินของชีวิตรวมถึงด้านการศึกษา จึงถือเป็นจังหวะที่ดีในการให้ข้อมูล และสอง คอลัมน์ “มุมมองบ้านสามย่าน” นี้มีอุดมการณ์ที่ต้องการเผยแพร่งานเขียนด้าน เศรษฐศาสตร์การเมือง (อาจมีด้านอื่นร่วมด้วย) เป็นแกน จึงควรมีใครซักคนมาเขียนแนะนำที่เรียนกันซักครั้ง


กล่าวถึง “เศรษฐศาสตร์การเมือง” เราสามารถนิยามว่าเป็นการวิธีการศึกษาเศรษฐศาสตร์ โดยใช้กรอบที่ต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่อิงกับอุดมการณ์ตลาดเสรีเป็นที่ตั้ง เศรษฐศาสตร์การเมืองสามารถศึกษาได้หลายแนว ทั้งมาร์กซิสต์ แนวสตรีนิยม แนวสถาบันนิยม ฯลฯ ซึ่งที่ๆมีการสอนเศรษฐศาสตร์การเมืองล้วนมีนักเศรษฐศาสตร์แนวนี้อยู่ในคณะไม่มากก็น้อย


ผมอยากเริ่มต้นไม่ไกลนักและเป็นสถาบันที่ผมกำลังจะไปศึกษาต่อ คือ The University of Sydney (USYD) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในออสเตรเลีย ได้มีภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง (http://sydney.edu.au/arts/political_economy/) ที่เปิดสอนสาขานี้ตั้งแต่ปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก สามารถกล่าวได้ว่าที่นี่ได้รวมเอานักเศรษฐศาสตร์การเมืองแนว Radical (คือค่อนข้างจะเอียงซ้าย) ไว้มากที่สุดในออสเตรเลีย โดยภาควิชานี้มีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างแนวทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและเศรษฐศาสตร์การเมือง จนแยกตัวออกมาเป็นอีกหนึ่งภาควิชาและสังกัดคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ในปัจจุบัน (ผู้สนใจสามารถอ่านได้ในหนังสือ “Political Economy Now! The struggle for alternative economics at the University of Sydney (2009)” โดย Gavan Butler, Evan Jones and Frank Stillwell)


ผมยังอยู่ในเมืองซิดนี่ย์ แต่ไปที่ University of Western Sydney (UWS) โดยใน School of Economics and Finance (http://www.uws.edu.au/economics_finance/sef) บางรายวิชาได้มีการสอนโดยเน้นการวิพากษ์ตัวแบบของกระแสหลัก โดย Steve Keen เจ้าของหนังสือ Debunking Economics (2001) ถือเป็นผู้ที่วิพากษ์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างจริงจัง นอกจากนี้ Center for Citizenship and Public Policy (http://www.uws.edu.au/ccpp/citizenship_and_public_policy) ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน มีหลักสูตรปริญญาเอกด้าน Political and Social thought ซึ่งผิวเผินอาจดูไม่ค่อยเป็นเศรษฐศาสตร์นัก แต่ในหลักสูตรมีสองในสิ่วิชาที่เป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง อีกทั้งยังมีนักคิดแนว “Postmodern Marxism” คนสำคัญเป็นสมาชิกคือ Katerine Gibson (น่าเสียดายที่ Julie Graham คู่หูได้จากโลกนี้ไปแล้ว) ที่ได้เป็นบรรณาธิการและเขียนบทนำร่วมกับ Resnick and Wolff แห่ง UMASS (หนึ่งในสถาบันที่ดังเรื่องการสอนเศรษฐศาสตร์การเมืองในอเมริกา) ไว้ในหนังสือเช่น Re/presenting Class : Essays in Postmodern Marxism (2001) และ Class and Its Others (2000)


ต่อมาขอขยับมาทางยุโรปบ้าง โดยชื่อ Cambridge University ได้ผุดขึ้นมาก่อนในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานของอังกฤษ แม้ว่าปัจจุบันคณะเศรษฐศาสตร์ที่นี่ (http://www.econ.cam.ac.uk) จะเน้นกระแสหลัก อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่ทำงานในการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้แก่ Han-Joon Chang นักเศรษฐศาสตร์แนวสถาบันนิยมเจ้าของหนังสือ Reclaiming Development (2004) และ Tony Lawson ที่มีชื่อในด้านปรัชญาเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี Cambridge Journal of Economics อันเป็นวารสารที่มีการตีพิมพ์บทความวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกด้วย อีกแห่งที่ไม่ควรลืมคือ Open University ซึ่งเป็นหัวแรงหลักในการจัดทำโฮมเพจ http://www.hetecon.com ซึ่งรวบรวมข้อมูลของ นักคิด สถาบัน วารสาร สมาคม ด้านเศรษฐศาสตร์นอกแสที่สำคัญ โดยภาควิชาเศรษฐศาสตร์ (www.open.ac.uk/socialsciences) ซึ่งสังกัดคณะสังคมศาสตร์ของที่นี่ มีปรัชญาการสอนที่เน้นความหลากหลายในเศรษฐศาสตร์จึงทำให้สามารถเลือกเรียน และทำวิจัย ในแนวทางเศรษฐศาสตร์การเมืองได้


บางครั้งการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นได้ซ่อนอยู่ในคณะบริหารธุรกิจด้วย เช่นที่ Bristol Business School ของ University of the West of England (http://www.uwe.ac.uk) และSchool of Management, Leicester University (http://www.le.ac.uk) มีอาจารย์หลายคนที่ทำงานด้านทฤษฎีองค์กร, Marxist Political Economy และ Anti-Capitalism ในแห่งหลังนั้นมีศูนย์ปรัชญาและเศรษฐศาสตร์การเมืองที่จัดสัมมนาอย่างจริงจัง (สังเกตได้ว่าในต่างประเทศมีการประยุกต์เศรษฐศาสตร์การเมืองในการศึกษาด้านธุรกิจแล้ว ซึ่งนับว่าหาได้ยากในบ้านเรา) ในอังกฤษยังมีอีกสองแห่งครับ ได้แก่ University of Stirling (http://www.stir.ac.uk) ที่มี Sheila Dow ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุแล้วแต่ยังคงดำรงตำแหน่ง Director ของ Stirling Center of Economic Methodology และ Leeds University (http://www.leeds.ac.uk/) ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่มีการสอนในด้านนี้


ทีนี้มาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์บ้าง ณ Erasmus Institute of Philosophy and Economics (EIPE: http://www.eur.nl/fw/english/eipe/) ได้มีการสอนปรัชญาและเศรษฐศาสตร์ในระดับโท-เอก (ทั้งที่พิจารณาเศรษฐศาสตร์ในฐานะที่อยู่ในปรัชญาสมัยใหม่ รวมถึงวิวาทะทางด้านปรัชญาในเศรษฐศาสตร์ และมีการศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันด้วย) อีกทั้งยังมีสมาชิกกิตติมศักดิ์ระดับไม่ธรรมดาทั้ง Mark Blaug, Uskali Mäki รวมถึง Deirdre McCloskey นักเศรษฐศาสตร์ข้ามเพศชื่อดัง และในประเทศเดียวกันยังมี Institute of Social Studies (ISS: http://www.iss.nl/) ที่มีการสอนด้าน Development Studies ทั้งสองที่นี้แม้จะอยู่คนละที่แต่ก็สังกัด Erasmus University ครับ


ด้วยเนื้อที่จำกัดอีกแห่งที่อยากแนะนำคือภาควิชาเศรษฐศาสตร์แห่ง University of Athens ประเทศกรีซ (http://www.econ.uoa.gr) ซึ่งมีหลักสูตร ป.เอก เศรษฐศาสตร์ในแบบสหศึกษา วิชาแกนของที่นี่เน้นกระแสหลัก ในขณะเดียวกันได้บังคับให้เรียนวิชาปรัชญาสังคมและการเมืองควบคู่กันไป รวมถึงมีวิชาที่ต้องศึกษางานเขียนของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองจาก Original Text โดยตรง สำหรับวิชาเลือกมีหลายรายวิชาที่แสดงความเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างชัดเจน และUniversity of Torino (http://www.de.unito.it/web/member/segreteria/dottcreativita/home.htm) ในอิตาลีได้มีหลักสูตรนานาชาติที่เน้นแนวทางเศรษฐศาสตร์ที่ปฏิเสธสมมติฐานความมีเหตุผล และมีอาจารย์หลายท่านทำงานในสาย History of Economic Thought ด้วย


แม้ว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองจะไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากขาดรูปธรรมในด้านอาชีพการงานด้วยลักษณะวิชาที่เป็นกึ่งปรัชญา อย่างไรก็ตามผมมองว่าประเทศไทยที่มีสารพันปัญหาด้านโครงสร้าง เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม อยู่เป็นนิจ ทำให้เรายังต้องการนักคิด นักเคลื่อนไหว ที่เรียนด้านนี้อีกเยอะครับ สำหรับผู้ที่ทราบแหล่งที่เรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองอื่นนอกเหนือจากนี้ สามารถส่งมาคุยกับผมได้ที่ gelgloog@hotmail.com ครับ

Thursday, September 30, 2010

ขอ up blog หลังจากห่างหายไปกว่า 1 ปี พร้อมมีบทความมาฝาก

สวัสดีครับ

ไม่รู้จะทักทายยังไงดีหลังจากห่างหายมาปีกว่า เผลอแผลบเดียวผมมาทำงานที่ขอนแก่นได้สองปีเต็มแล้วครับ เวลาช่างผ่านไปไวจริงๆ เหมือนพึ่งมาทำงานวันแรกเมื่อวานก็ไม่ปาน

จริงๆ วันนี้ไม่ได้ตั้งใจจะมา up blog โดยตรงครับ พอดีอยากจะเขียนบทความเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง "The Scret Sins of Economics" ของ Derdre McClosekey แต่ไปๆมาๆ เปิดมาเล่นที่ blog ตัวเองแล้วเกิดซาบซึ้งอยากลำรึกความหลังว่างั้น เลยขอเข้ามา update กันซะหน่อย มิตรรักแฟนเพลง (ถ้ายังคงมีอยู่)จะได้คิดถึงกัน

จะว่าไปแล้ว ผมลองใคร่ครวญถึงเหตุผลที่ blog นี้ร้างลาได้หลายข้อเหมือนกันนะครับ เพื่อนๆ (ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน)ลองไปคิดดูซิว่ามันจริงๆมั๊ย

ข้อแรก การมีงานประจำทำ ทำให้ไม่ได้แล blog เลยครับพ้ม จะหาว่าอ้างก็ได้ แต่มันจริงๆนิหว่า
ข้อสอง พักหลังผมจะเขียนบทความบ้างแต่ก็ลงในกรุงเทพธุรกิจครับ เลยไม่ได้เหลียวแล blog เลย ชั้นขอโทษ (อีกครั้ง)
ข้อสาม อันนี้เด็ดสุดครับ มันคือ Facebook ของเล่นใหม่ยอดฮิตในขณะนี้ มันทำเอาผมเสียกระบวนท่าทีเดียว เล่นเอา blog นี้กลายเป็นสินค้าด้อย หรือ inferior good ไปในทันที

ผมว่าหลักก็สามข้อนี้แหละครับ ผนวกกับเทอมนี้ ผมสอนเยอะบรรลัยโลกมาก ประมาณเกือบ 20 ชม ต่อสัปดาห์ได้ครับ เล่นเอาเบลอและเอ๋อ และบอกได้เลยว่าผมโง่ลงมากๆ เพราะไม่ค่อยได้อ่านอะไรประเทืองปัญญาวันๆเอาแต่ shift ซ้าย shift ขวา ไปกับวิชา microeconomics จะว่าไปแล้วผมนึกถึงคำของ อ.ปรีชา เปี่ยมพงษ์สานต์ ที่บอกว่า ตอนนี้ผมก็เหมือนเป็นอาจารย์ที่อยู่บนสายพาน ชัดเจนจริงๆ

สำหรับชีวิตตอนนี้มีความคืบหน้าหลายอย่างครับ เรื่องเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยากมาคุยใน blog นี้ ช่วงเวลาที่หายไปผมก็ไปดำเนินการสอบ IELTS แล้วก็สมัครเรียนต่อปริญญาเอกครับ ซึ่งตอนนี้มีที่แรกที่ตอบรับการสมัครของผมมาแล้วคือ University of Athens ประเทศกรีซครับ หลักสูตรนี้เรียกสั้นๆว่า UADPhilEcon ครับ (http://www.econ.uoa.gr/UA/content/en/Article.aspx?office=17&folder=283&article=385 ลองเข้าเวบนี้ดู)ผมเริ่มสมัครที่นี่ที่แรกเลย เพราะน่าสนใจดี หลักสูตรปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ที่นี่ จะมีแนวทางของปรัชญาเศรษฐศาสตร์สังคม กับเศรษฐศาสตร์การเมืองคู่กันไปครับ แม้ว่าช่วงปีแรกๆจะต้องเรียนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเข้ม แต่ทางหลักสูตรมีการให้เรียนวิชาปรัชญาการเมือง สังคม ควบคู่กันไป อีกทั้งยังมีคอร์สที่เราจะต้องทำงานกับ original text ของ classical economist เช่น เคนส์ เวบเบลน ฯลฯ แถมยังไม marxian econ ให้เรียนตั้งสองตัวแน่ะ เข้าทางผมมากๆครับ

แต่สรุปว่า ไม่ได้ไปครับ

เพราะหลังจากได้ offer มาก็มานั่งคิด หลายเรื่องครับ ไหนจะการปรับตัวซึ่งอาจจะลำบากสำหรับคนไทย และเวลาที่บีบมากๆ ตอนที่ได้ offer มาผมไม่พร้อมเลย อีกทั้งเห็นตอนนี้ประเทศกรีซก็วุ่นวายใช้ได้ เลยตัดสินใจ ไม่ไป และจะลองสมัครที่อื่นต่อครับ ซึ่งตอนนี้ได้ยื่นไปทางอเมริกาไป ส่วนมหาวิทยาลัยไหน แนวไหน ไว้ค่อยมา update กันคราวหน้าเนอะ

วันนี้ก่อนจากกันขอทิ้งท้ายด้วยบทความที่พึ่งลงในกรุงเทพธุรกิจ สดๆร้อนๆ วันนี้เลยครับ ขอเชิญ ชมได้

--------------------

ความเสี่ยงจากการเกิดสงครามกลางเมืองในทัศนะของเศรษฐศาสตร์

นรชิต จิรสัทธรรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรุงเทพธุรกิจ 30 กันยายน 2553

สงครามถือเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ สงครามสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม การเกิดสงครามย่อมไม่ใช่สิ่งดี เพราะมันนำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินและจิตใจ อย่างยากที่จะเยียวยา อย่างไรก็ตามในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ สงครามไม่ได้มีแต่ความสูญเสีย ข้อดีของสงครามอาจมีอยู่บ้างในแง่ของการทำให้เศรษฐกิจ (ในบางภาคส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการสงคราม) ได้รับผลกระทบในทางบวก รวมทั้งสงครามระหว่างประเทศ สามารถนำไปสู่ความสามัคคีของคนในชาติได้

นอกเหนือจากสงครามระหว่างประเทศ เราสามารถจำแนกสงครามได้ออกมาอีกประเภทหนึ่งคือ “สงครามกลางเมือง” (civil war) อันเป็นสงครามที่ถูกนิยามจากการต่อสู้ของกลุ่มคนภายในของเขตรัฐเดียวกัน (แต่อาจจะต่างกันซึ่งอุดมการณ์ทางการเมือง ศาสนา หรือชาติพันธุ์) โดยในทางเศรษฐศาสตร์ได้นิยามสงครามกลางเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้กันระหว่าง “รัฐ” (state) และ “ฝ่ายกบฏ” (rebel) ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์สามารถแจกแจง ตัวกำหนดความน่าจะเป็นของการเอาชนะสงคราม รวมถึงลักษณะของแรงจูงใจ รวมถึงต้นทุน-ผลตอบแทนของฝ่ายกบฏไว้ดังนี้

ประการแรก แรงจูงใจของฝ่ายกบฏคือ “การเข้ายึดอำนาจรัฐ” (state capture) และ “การแบ่งแยกดินแดน” (secession) โดยที่ผลประโยชน์ของฝ่ายกบฏคือค่า “คาดการณ์ของรายได้” (ซึ่งก็คือฐานภาษีของรัฐนั่นเอง) ที่จะเกิดเมื่อชนะสงคราม เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านต้นทุนพบว่า ต้นทุนของฝ่ายกบฏคือ “ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากวาระสงคราม” หรืออีกนัยหนึ่งคือการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือโอกาสทำมาหากินแบบปกติ อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมสงครามซึ่งในกรณีของประเทศที่ยากจน ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจย่อมมีโอกาสที่ต่ำกว่าในประเทศที่ร่ำรวยกว่า

ประการที่สอง เมื่อพิจารณาความน่าจะเป็นของการเอาชนะสงครามของฝ่ายกบฏได้ถูก
กำหนดโดย ความสามารถของรัฐในการ “ป้องกันตันเอง” ซึ่งการป้องกันตนเองของรัฐนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ หากแต่ขึ้นอยู่กับงบประมาณหรือการใช้จ่ายด้านการทหาร (military expenditure) เพื่อป้องกันประเทศ อันมาจากรายได้จากฐานภาษีของรัฐ นอกเหนือจากนั้นความสามารถในการป้องกันตนเองยังสามารถถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นตัวกำหนด “ความยาวนาน” ของภาวะสงคราม ซึ่งสามารถนำไปเป็นเครื่องมีในการคาดการณ์ต้นทุนในการก่อสงครามของฝ่ายกบฏได้อีกด้วย

ดังนั้นเงื่อนไขของการก่อกบฏ อันนำไปสู่สงครามกลางเมืองจึงเกิดจากการเปรียบเทียบ ต้นทุน-ผลตอบแทน ภายใต้เงื่อนไขแรงจูงใจและความน่าจะเป็นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

จากกรอบคิดดังกล่าวสามารถเห็นได้ว่า “ความน่าจะเป็นของการก่อสงคราม” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวิเคราะห์การเกิดขึ้นของสงครามกลางเมือง ในบทความเรื่อง “On economic causes of civil war” ของ Paul Collier และ Anke Hoeffler ซึ่งตีพิมใน Oxford Economic Papers (1998) ได้พัฒนาแนวคิดในเรื่อง “โอกาส” หรือ “ความเสี่ยง” ในการเกิดสงครามกลางเมือง และได้ทำการวิจัยเชิงประจักษ์ ด้วยแบบจำลองเศรษฐมิติ ซึ่งผลการทดสอบพบว่า “ระดับรายได้ต่อหัว” เป็นกำหนดโอกาสในการที่จะเกิดสงครามกลางเมือง โดยมีความสัมพันธ์กันในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อกำหนดตัวแปรอื่นๆให้คงที่ ประเทศที่มีระดับรายได้เป็นครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยรายได้ของกลุ่มตัวอย่าง จะมีโอกาสในการเกิดสงครามร้อยละ 63 ในทางกลับกันประเทศที่มีระดับรายได้เป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยรายได้ของประเทศในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จะมีโอกาสการเกิดสงครามกลางเมืองแค่ร้อยละ 15 เท่านั้น (ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าสงครามกลางเมืองจึงมักเกิดขึ้นประเทศที่ยากจน)

นอกเหนือจากตัวแปรทางเศรษฐกิจยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่เป็นตัวกำหนดความเสี่ยงในการเกิดสงครามอีก เช่น การครอบครองทรัพยากรธรรมชาติของฝ่ายกบฏสามารถส่งผลกระทบต่อการเกิดสงครามกลางเมืองได้ (เหตุผลที่อาจสนับสนุนได้คือกองกำลังของฝ่ายกบฏย่อมที่จะต้องหาเลี้ยงตัวเอง และฐานทรัพยากรเป็นที่มาของรายได้) และ ขนาดของประชากรส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงในการเกิดสงครามกลางเมืองเช่นกัน ตรงนี้สามารถตีความได้ว่า ถ้าหากกลุ่มประชากรมีขนาดใหญ่ การแบ่งแยกดินแดนย่อมทำได้ง่ายกว่าประเทศที่มีกลุ่มประชากรขนาดเล็ก

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา” (ethno-linguistic fractionalisation) (ซึ่งแสดงได้โดยดัชนีที่มีค่า 0-100) ถ้าหากพิจารณาด้วยตรรกทั่วไป เรามักจะคิดกันว่า ยิ่งประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษาและชาติพันธุ์มากเท่าใด ก็ยิ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองมากขึ้นเท่านั้น แต่ผลการศึกษาของ Collier กลับพบว่า สำหรับประชาชาติที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ต่ำ จะมีความเสี่ยงในการเกิดสงครามกลางเมืองต่ำ และในกรณีที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก (ค่าดัชนีเข้าใกล้ 100) โอกาสการเกิดสงครามกลางเมืองก็ต่ำเช่นเดียวกัน ในทางกลับกัน ประเทศที่มีดัชนีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาในระดับที่กลางๆ จะส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดสงครามกลางเมืองสูง ตรงนี้สามารถตีความได้ว่าสำหรับประเทศที่มีความเป็นหนึ่งเดียวสูง การสร้างความแตกแยกคงเกิดขึ้นได้ยาก และในทางเดียวกันประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาสูงมากความสามารถในการรวมกลุ่มเพื่อก่อการกบฏก็ยิ่งกระทำได้ยาก

ในงานของทั้งสองยังยกตัวอย่างสังคมที่ต่างกันอย่างสุดขั้วมาประชันกัน โดยสังคมแรกกำหนดให้มีระดับรายได้ต่อหัวที่สูงมาก (9,895 ดอลลาร์ต่อปี) อีกทั้งมีขนาดประชาการที่เล็กที่สุดจากกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงมีระดับทรัพยากรธรรมชาติที่สูงมาก และมีความเป็นหนึ่งเดียวของชาติพันธุ์ เมื่อใส่ข้อมูลดังกล่าวแล้วประเมินในแบบจำลองพบว่า โอกาสในการเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.00017 เท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้าใส่ข้อมูลของประเทศที่จนที่สุด (285 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี) และมีขนาดประชากรที่ใหญ่ รวมถึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในระดับกลางๆ พบว่าประเทศนี้จะมีความเสี่ยงในการเกิดสงครามสูงถึงร้อยละ 99

นอกเหนือจากนี้ Collier ยังได้ทิ้งท้ายไว้อีกว่าสำหรับสังคมที่กลุ่มทางชาติพันธุ์และภาษาที่แตกออกเป็น 2 กลุ่ม ผลกระทบต่อความเสี่ยงในการเกิดสงครามกลางเมืองนั้นยิ่งทรงพลัง กล่าวคือ มีความน่าจะเป็นในการเกิดสงครามกลางเมืองมากกว่าร้อยละ 50

แม้คราวนี้เนื้อหาจะยาวและยากไปเสียหน่อย แต่ผู้เขียนขอสรุปสั้นๆว่า จากผลการศึกษาดังกล่าวเมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทยพบว่า “ความเสี่ยง” ในการเกิดสงครามกลางเมืองไม่ได้หายไป เพราะผู้คนในสังคมถูกแบ่งกลุ่มออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน หากแต่ไม่ใช่ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์และภาษาดังข้างต้น แต่มันเป็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์และภาษาทางการเมือง (หรือสีทางการเมือง?)

แม้การนำเสนอครั้งนี้อาจจะดูมองโลกในแง่ร้ายไปเสียหน่อย แต่การมองความเป็นไปของโลกด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ด้วยมุมมองทางวิชาการก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการตัดสินในดำเนินนโยบายต่างๆ และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะสามารถให้ข้อคิดแก่ผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ไม่มากก็น้อย

Sunday, May 17, 2009

ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น (กลัวจะเตรียมสอนไม่ทัน ฮ่าๆ)

หลังจากหายหน้าหายตาไปเกือบปี หายไปจนตอนแรกผมคิดว่าจะขอยุบ blog ถาวรอย่างเป็นทางการแล้วล่ะครับ

แต่แล้ว.....จะยุบไปก็เสียดาย อุตส่าห์มีมาตั้งนาน เอาวะ ถึงจะนานๆเขียนที มันก็ดีกว่ายังไม่เขียน (เนอะ)

สำหรับช่วงนี้อยู่ในเวลาปิดเทอมครับ ผมเองก็ขอลี้จากแดนอีสานกลับมาอยู่บ้าน แต่ก็ไปๆมาๆ กรุงเทพ - ขอนแก่น เอา ปิดเทอมนี่ดีอย่างครับ มันว๊าง.....ว่าง จริงๆแล้วก็ไม่เชิงว่างหรอกครับ ตอนแรกมีโปรเจควิจัยที่ทำร่วมกับเพื่อนๆอยู่ แต่ไปๆมาๆ โปรเจคมันหลุดซะงั้น (ส่วนจะหลุดยังไงเรื่องยาวฮะ ไว้เล่ากันนอกรอบละกัน)ทำให้เวลาว่างเพิ่มครับ ที่เหลือก็มีการเตรียมสอน ซึ่ง สับสนพอสมควร เพราะตอนแรกโดนให้รับ วิชา economic regulation ครับ ข้าพเจ้าถึงกับอึ้งทีเดียว เพราะไม่เคยผ่านการเรียนวิชานี้มาก่อนเลย ซึ่งถ้าจะให้สอนนี่ลำบากมากเลยฮะ

เท่าที่ผมดู ถ้าเป็น economic regulation โดยทั่วไปก็จะเป็นการศึกษาประเด็นของกฏระเบียบของรัฐ ในการกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจในเรื่องต่างๆ เช่นพวก anti-trust law การ pricing สินค้าผูกขาด บทบาทของรัฐในการดูแลสินค้าที่มีพวก externalities เป็นต้น ซึ่งในการศึกษาแบบนี้มันจะอิงกับตัวแบบ pure market ครับ มาในแนวกระแสหลักกันเห็นๆ แต่ถ้าพูดถึง regulation อีกแบบ มันก็มีครับ เป็นการดูโครงสร้างจำพวกสถาบันทางสังคม กลไกการควบคุมของรัฐ หรือ regimes ต่างๆ ที่มันจะกระทบต่อ capital accummulation และดูรูปแบบการผลิตแบบต่างๆ พวก fordism หรือ post fordism เป็นต้น อันนี้มันมีสำนักนึงชื่อว่า social structure of accummulation เค้าจะไปทางนี้โดยตรงเลย น่าสนใจมากครับ และแน่นอนว่า regulation แบบหลัง คาดว่าไม่น่าจะมีการสอนในระดับปริญญาตรีที่ไหนนะ ตอนแรกเลยพยายามจะหาทาง mix สองแบบไปด้วยกัน ซึ่งมันคนละทางมากๆ คิดหัวแตกอยู่พักนึง

สรุปว่า วิชาสอนเปลี่ยนครับ มาสอน Development แทน ฮ่าๆๆ ชีวิตคนเรามันก็แบบนี้ซินะ เลยต้องปรับแผนการเตรียมใหม่ครับทีนี้ แต่คิดว่าตัวนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะเคยเรียนมาบ้างแล้ว แต่ถ้าหากท่านใดมีหนังสือ หรือมีเปเป้อ ที่ใช้สอนแนะนำ ก็บอกมาเลยนะครับ เพราะตอนนี้ก้อกำลังเตรียมๆ หา material ที่ใช้สอนให้ครบถ้วนอยู่

นอกเหนือจากเวลาเตรียมสอน ผมก็มีทำไรก๊อกแก๊กไปเรื่อยครับ มีเรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละครั้ง ละก็เขียนบทความไปโน่นนี่

แล้วก็....อีกอย่างที่ทำบ่อยมากคือ เล่นเกมครับ!! ผมติดเกมใน facebook ครับ เป็นเกม Restaurant City เรามีหน้าที่ run กิจการร้านอาหารครับ และต้องทำให้เมนูในร้านของเราเป็นสุดยอดเมนู เลเวลสิบให้ได้ ยิ่งเล่นไป ร้านก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆครับ พนักงานก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ เล่นไปเล่นมาติดเฉยเลยครับ เกือบถอนตัวไม่ขึ้นซะแล้ว แต่พอดีตอนนี้ผม up เว่ล (นี่ๆ ศัพท์เด็กเกม)เมนูเต็มไปสามอันละ ความบ้าเลยน้อยลงครับ ฮ่าๆ เกมออนไลน์ นี่มันพิษสงร้ายจริงๆ พับผ่า มิน่าหลัง มอ เด็กนักเรียนมันถึงเล่นกันตรึม

ส่วนปิดเทอมตอนกลางคืนผมก็ไปร่อนกับเพื่อนๆ ทั่วไปครับ ไปร้านแถวๆบ้าน เล่นไพ่กันขำๆบ้าง ตีแบด เล่นบาสไปตามเรื่อง ชีวิตมันก็วนเวียนแบบนี้แหละครับ แต่วนเวียนไปซักพักก็เริ่มใจหาย เพราะใกล้เปิดเทอมแล้วครับทั่น อีกสองสัปดาห์เอง หนังสือก็ยังหาได้ไม่ครบ เตรียมสอนก็ยังไม่เสร็จ บรรลัยแล้วงานนี้ ฮ่าๆ

สรุปว่ามา up blog ครั้งนี้ ก็คือมาบ่นน่ะครับ อาจจะรำคาญหูท่านๆไปบ้าง ก็อย่าถือสาเลยนะครับ

ว่าแล้วขอตัวไปตีแบดก่อน แว้บบบบบบบบบบบ