Friday, September 28, 2007

ดูหนัง-ละคร แล้วย้อนมองเศรษฐศาสตร์ ตอน ราโชมอน

สวัสดีครับ.....

ผมไม่รู้จะเริ่มทักทายยังไงหลังจากที่หายไปสองเดือนนอกจากคำว่า "สวัสดี" จะทักว่า ว๊อทซาป แม๊...น หรือ เฮ้ โย่ ล มันก็คงจะดูฮิปฮอปเกินไป คนไทยด้วยกันสวัสดีกันน่ะแหละดีที่สุดเนอะ

จุดประสงค์ที่มา update คราวนี้ก็คือบอกเล่าเก้าสิบชีวิตทั่วไปครับ ละก็เอาบทความที่พึ่งเขียนมาให้ท่านๆ ได้อ่านกัน ในเรื่องชีวิตส่วนตัวนั้นตอนนี้ผมก็ยังไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งแน่นอนครับ หลังจากที่สอบตกรูดมหาราช สอบอาจารย์ไหนที่ไหนก็ไมได้ซักที ตั้งแต่ที่ ม.บูรพา เกษตรศรีราชา นี่เป็นโซนตะวันออกนะครับ มาโซนอีสานก็มีที่ มข อีก จะรอดมั๊ยเนี่ยกรู...

ประสบการณ์จากการสอบที่ผ่านมาทำให้ผมได้รู้ข้อหนึ่งว่า การจบสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองนี่ช่างเป็นลูกเมียน้อยเสียจริง ซึ่งได้มาจากการเข้าไปสัมภาษณ์ที่เกษตรศรีราชานั่นแหละครับ และอีกข้อหนึ่งก็คือ ไมโคร แมคโคร นี่อย่าทิ้งเป็นอันขาด ฮ่าๆ โดยเฉพาะที่ มข ที่สอบตกหลังสุดมานี่มีการสอบข้อเขียนวิชา ไมโคร แมคโคร ครับ ผมเองก็นะทิ้งมาสองปีได้แล้วมั๊ง ไอ้จะให้ฟิตเหมือนตอนเรียนอยู่ ปี1 ก็ไม่ได้แฮะ เพราะหลังจากจบตรงนั้นมาก็ไปเรียนวิชาอื่นๆ ทำทีสิส ไม่ได้มาหัดนั่งทำโจทย์ไมโคร แมคโครเท่าไหร่ ทักษะการแก้ไขปัญหาพวกนี้เลยหดหายไปตามกาลเวลา พอไปสอบ ก็เลยสอบตกซิครับท่าน แต่ก็เป็นที่การตั้งเกณฑ์ของทางคณะที่โน่นด้วยแหละครับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งตอนแรกทางกรรมการก็จะเรียกผู้สมัครเข้าสัมภาษณ์ทุกคน แต่ติดตรงประกาศเลยทำให้ไม่สามารถทำได้ เห้ออออ สรุปคราวนี้เลยสอบตกหมดทุกคนครับท่าน

หลังจากนี้คงต้องเร้นกายไปร่ำสุรา เอ้ย !! หัดทำโจทย์ ไม แมค (เผลออาจจะร่วมด้วยอีโคโนฯ)ซักหน่อยเพื่อเรียกความฟิตกลับมา ถ้าหากใครมีโจทย์เด็ดๆ (พร้อมเฉลย ฮ่าๆ)โปรดส่ง link มาให้หน่อยจักเป็นพระคุณยิ่ง

ส่วนอีกอันเป็นบทความของผมที่พึ่งเขียนลงในกรุงเทพธุรกิจเมื่อวานนี้เอง จะเอามาลงทิ้งท้ายให้อ่านกันครับ คิดเห็นอย่างไร มีคอมเม้นอย่างไร เชิญตามสะดวกโยธินได้เช่นเคยคร้าบ

เชิญทัศนา

----------------------------------------

ดูหนัง-ละคร แล้วย้อนมองเศรษฐศาสตร์ ตอน ราโชมอน

มุมมองบ้านสามย่าน : นรชิต จิรสัทธรรม กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550

สำหรับคอหนังคอภาพยนตร์ คงมีน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก "ราโชมอน" (Rashomon) ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญ ของผู้กำกับชื่อก้องชาวญี่ปุ่น อากิระ คุโรซาว่า (Akira Kurosawa) สร้างจากบทประพันธ์ที่ถูกแต่งขึ้นในปี ค.ศ.1915 ของอะคุตะกะวะ ริวโนะซุเกะ (Akutagawa Ryunosuke) และได้ถูกกล่าวถึงมากในฐานะที่เป็นภาพยนตร์อมตะสุดคลาสสิก อีกทั้งยังถูกใช้ประกอบการเรียนการสอนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขานิเทศศาสตร์สายภาพยนตร์

ผู้เขียนเองพึ่งจะมีโอกาสได้ชม "ราโชมอน" เมื่อไม่นานมานี้ จึงรู้ซึ้งว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงเป็นที่กล่าวถึงมากมายนัก แม้ไม่มีความรู้ด้านนิเทศศาสตร์เพียงพอที่จะวิพากษ์วิจารณ์องค์ประกอบของหนัง แต่จุดที่ผู้เขียนคิดว่าโดดเด่น ในหนังเรื่องนี้ก็คือวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใคร เนื้อเรื่องหลักของภาพยนตร์อยู่ที่การไต่สวนคดีฆาตกรรม (และ) ข่มขืน (รึเปล่า?) โดยมีตัวละครเอกสี่คน ได้แก่ จอมโจรตาโจมารุผู้เป็นจำเลย ซามูไรผู้ถูกฆาตกรรม (ต่อมาภายหลังได้มาปรากฏตัวให้การ ผ่านร่างทรง??) เมียของซามูไรผู้เสียหาย และชาวบ้านผู้ที่เห็นเหตุการณ์โดยตลอด

สิ่งที่น่าสนใจก็คือแม้ว่าจะเป็นคดีเดียวกัน แต่ทั้งสี่คนกลับให้การไม่เหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว!!

ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสี่คนต่างก็อ้างว่า สิ่งที่ตนได้เล่ามานั้นล้วนเป็น "ความจริง" ทั้งสิ้น และด้วยวิธีการเล่าเรื่องอันแยบยล ของหนังเรื่องนี้ ที่จงใจให้เรื่องจบลงโดยไม่มีการเฉลยตัวฆาตกร เชื่อได้เลยว่าชาตินี้เราคงไม่มีทางรู้ได้แน่นอนว่าใครพูดจริง (หรือเท็จ?)

นอกจากอรรถรสที่ได้แล้ว "ราโชมอน" ยังได้สอดแทรกคำถามเชิงอภิปรัชญาที่มีต่อ "ความจริง" อย่างสำคัญ การฉายภาพให้เห็นความจริงที่แตกต่างกันถึงสี่รูปแบบในหนังเรื่องเดียว โดยไม่พยายามสถาปนาเบ็ดเสร็จลงว่า รูปแบบไหน "จริง" ที่สุด ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า ความจริงไม่จำเป็นต้องมีเพียงหนึ่งเดียว ความจริงไม่ใช่สิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องดังที่เราเคยคิดกัน หากแต่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมาด้วยยุทธวิธีนานัปการภายใต้เงื้อมมือของมนุษย์

ถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว "ราโชมอน" ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่มีมุมมองต่อความจริงอันโน้มเอียงไปทางจริตแห่ง "หลังสมัยใหม่" (postmodern spirit) ซึ่งทั้งหมดได้แสดงให้เห็นถึงความล้ำลึกของริวโนะซุเกะที่เหนี่ยวนำเราไปสู่การตั้งคำถามต่อ "ความจริง" และองค์ความรู้ที่ใช้ผลิตความจริงที่ครอบงำเราอยู่

แนวคิดข้างต้นขัดแย้งกับองค์ความรู้แบบสมัยใหม่ (modernism) ที่ครอบงำเราอยู่ในปัจจุบัน แนวคิดแบบสมัยใหม่ ยึดติดอยู่กับหลักการของเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ (scientific logic) ในการพยายามเปิดเผยให้เห็น "ความจริงอันเป็นสากล" (universal truth) ของสรรพสิ่ง และมองว่า ความจริงแท้นั้นมีอยู่ "จริง" โดยเราสามารถค้นพบมันได้ด้วยหลักการแห่งเหตุผล อันจะนำไปสู่วิธีการในการค้นหาความจริงที่ถูกต้อง และท้ายที่สุดความจริงสูงสุดหนึ่งเดียวก็จะถูกปลดปล่อยออกมา

เศรษฐศาสตร์เองก็รับอิทธิพลมาจากความเป็นสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน โดยพยายามค้นหาความเป็นจริงสูงสุด เกี่ยวกับการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ภายใต้โครงเรื่องหลักที่มีปัจเจกชนอันเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมเป็นตัวดำเนินเรื่อง และมองว่าปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมเป็นสิ่งที่สามารถค้นหาได้ในระดับปัจเจก โดยนิยามปัจเจกชนในฐานะที่เป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" (homoeconomics) ที่พ่วงด้วยความมีเหตุผล (rationality)

มนุษย์ในสายตาของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมีแต่ความเห็นแก่ตัว มีพฤติกรรมที่จะมุ่งแสวงหาความพอใจ/ กำไร/ ผลประโยชน์สูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว เป็นมนุษย์ในเชิงปริมาณที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ไร้มิติทางสังคมและประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง!! จากการเริ่มด้วยนิยามข้างต้น มันได้โยงใยเรื่องราวไปสู่คำอธิบาย/ทำนาย ปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ (economic model) อันหมดจดที่แสดงถึงดุลยภาพ (equilibrium) อันเป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ของปัจเจกชน

นอกเหนือจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ยังได้ประดิษฐ์มโนทัศน์ต่างๆ ขึ้นมาสนับสนุนความจริงเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "ตลาด" (market) "อุปสงค์" (demand) "อุปทาน" (supply) "การเลือก" (choices) "ต้นทุน" (cost) "การผลิต" (production) "ดุลยภาพ" (equilibrium) ฯลฯ

มโนทัศน์ทั้งหมดถูกเชื่อมร้อยด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ (mathematical method) และได้ถูกนำเสนอขึ้น เพื่อเป็นกรอบแห่งการอ้างถึง (references) โลกแห่งความเป็นจริง ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐศาสตร์ยังได้สถาปนาตนเองว่า เป็นศาสตร์ที่บริสุทธิ์ปราศจากแนวคิดในเรื่องคุณค่า อคติหรือความโน้มเอียงใดๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐศาสตร์กระแสหลักสนับสนุนหลักการตลาดเสรีอย่างเห็นได้ชัด

กล่าวได้ว่า เศรษฐศาสตร์ได้สร้างโลกความจริงเสมือนขึ้นมาอีกใบหนึ่ง (ดังเช่นโลกในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ซึ่งเป็นอีกเรื่องโปรดของผู้เขียน ถ้ามีโอกาสคงได้เขียนถึงในวันข้างหน้า) เป็นโลกเสมือนที่มีโครงเรื่องหลักอยู่เพียงพล็อตเดียว และเรื่องราวถูกบอกเล่าผ่านสายตาอันคับแคบของ "สัตว์เศรษฐกิจ" ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเศรษฐศาสตร์ ก็เหมือนกับสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า และสำนักความคิดที่หลากหลาย หากแต่ภายใต้โครงข่ายแห่งความเป็นกลไกนิยม ทำให้สำนักคิดทางเลือกอื่นๆ นั้น ได้ถูกเบียดบังออกไปสิ้น

นักเศรษฐศาสตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก) ดูเหมือนจะลืมการดำรงอยู่ของกระแสความคิดอื่นของตน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซิสม์ สถาบันนิยม สตรีนิยม ฯลฯ ที่ต่างพยายามสร้างเรื่องเล่า เกี่ยวกับเศรษฐกิจของตนเองที่แตกต่างกันออกไป

คงถึงเวลาแล้วที่นักเศรษฐศาสตร์ควรจะเอาอย่าง "ราโชมอน" โดยพยายามสร้างเรื่องราวของตนให้หลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งไม่ควรที่จะสถาปนาความเป็นจริงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ และอวดอ้างถึงความบริสุทธิ์แห่งศาสตร์ของตนเอง เศรษฐศาสตร์ควรจะเปิดรับการสร้างเรื่องราวที่หลากหลาย นอกเหนือจากวิธีวิทยาในแบบของตน สำหรับผู้เขียนเชื่อว่า การประชันกันของ "ความจริง" อันหลากหลาย จะสร้างคุณูปการทางด้านความคิดให้กับเศรษฐศาสตร์ มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

ขออย่างเดียวเศรษฐศาสตร์อย่าเลียนแบบวิธีการหาความจริง โดยอัญเชิญเจ้าเข้าทรง เหมือนในหนังตอนที่มีการอัญเชิญวิญญาณ ของซามูไรมาให้การก็แล้วกัน...

13 comments:

Anonymous said...

สู้ต่อไป ไอ้มดแดง

Anonymous said...

ทำยังไงจะได้เขียนลงกรุงเทพธุรกิจบ้าง?

ไฮโซมากนะครับ..

Gelgloog said...

ว่าแต่ กึ่มซาเกี๊ยวนี่ใครหว่า อิอิ

Anonymous said...

สวัสดีมาแว้ว ช.ล.เทพ......ขาจร เจ้าเก่า
อ่านแล้วยังทึ่งกับวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองของพี่ ถึงแม้จะลูกเมียน้อย แต่ก้เมียน้อยฉบับเมียโปรด ผมก็มีบทความเกี่ยวกับหนังละคอน แต่มองกันคนละมิติ คนละมุม แต่ที่เหมือนกันคือ
อยากบอกต้องออกมาเขียน


สำหรับคนอยากอ่าน


เพื่อน “กูรักมึงว่ะ” มหากาพย์ เกย์ บนจอเงิน :ถอดรหัสเนื้อหาและนาฏลักษณ์ตัวละคร ในมิติทางสังคมศาสตร์



ชลเทพ ปั้นบุญชู นักวิชาการอิสระด้านสังคม( ยุวโฆษกและYPD)



ภาคอารัมภบท
ณ ห้างแห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี ผมได้ไปซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมภาพยนตร์ เพื่อน “กูรักมึงวะ” เพื่อนำมาเขียนบทความ ต่อจากเรื่อง ประวัติศาสตร์เกย์ในสยามประเทศที่มาของคำเรียกเกย์ กะเทย ในบริบทสังคมไทย ที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น จนทนไม่ไหวต้องมาจับงานเขียนเรื่องนี้อีกรอบ แสดงให้เห็นถึงกระแส เกย์ ในสังคม ยังคงเป็นที่สนใจและถูกจับจ้องอยู่มากพอสมควร จนใครต่อใครหลายหลายคนต่างพากันให้ความสำคัญกลุ่มคนกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ
ในโรงภาพยนตร์ ผู้คนที่นับได้ประมาณ30คน(ซึ่งมีผู้หญิงมากกว่า) ผู้ชายทั้งจริงหรือไม่? อันนี้ผมไม่แน่ใจ สงสัยว่าคงจะมาถอดรหัสโลกทัศน์ เกย์ เหมือนผม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้หญิงมองข้ามไม่ได้ เผื่อดูไว้ศึกษาแฟนของตน สงสัยคู่ที่มาด้วยนี่คงขนลุกไปตามตามกัน ( กำลังถูกจับจ้อง อย่างไม่พลาดรายละเอียด เก็บครบทุกเม็ด)เท่าที่ผมเห็นกลุ่มเพศที่สามที่พวกเราเรียกว่าเกย์กลับไม่มากนัก ไม่รู้ว่าเพราะกลัวคนกล่าวหาว่าคนที่มาดูคือกลุ่มคนรักร่วมเพศ หรือเป็นเพราะเหตุอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวมา แต่ก็ถือว่าในช่วงยามบ่ายแก่ๆ คนไม่มากนักเพียงพอที่จะทำให้ผมใช้สมาธิรวบรวมประเด็นมาร้อยเรียงได้มากพอสมควร


เกริ่นอดีตภาคแห่งมหากาพย์ “เกย์” ก่อนปัจจุบัน
เนื้อหาสาระหนังแนวชายรักชายในสังคมไทยมีให้เห็นไม่มากนัก ส่วนใหญ่การประกอบสร้างตัวละคร มักจะกล่าวถึงกะเทย(ในทางตลก น่าสังเวช )มากกว่าซึ่งถือเป็นส่วนประกอบมากกว่าแก่นของสารัตถะ แต่ในปี2549 ได้ผลิตหนังเรื่อง แก๊งชะนี จับอีแอบ โดยสี่สาวผู้ประกาศเลื่องชื่อของวิก3พระราม4 นำแสดง โครงเรื่องได้นำเสนอเนื้อหาที่สอดแทรกอารมณ์ตลก ปน ผิดหวังและสมหวัง โดยกล่าวถึงผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังจะแต่งงานกับหญิงสาวซึ่งเพื่อนๆต่างลงความเห็นว่าผู้ชายคนนี้ผิดวิสัย ชาย ซึ่งชายคนดังกล่าวมีการสอดใส่ความหมายในแบบ ผู้ชายเนียบ เรียบร้อย สำอาง ดูแลตนเองดี และให้ความสำคัญกับการแต่งกายมากเป็นพิเศษ ที่กล่าวมานี้คือการประกอบสร้าง”เกย์” ในหนังเรื่องนี้ โดยมีจุดหักเหจากยุทธการสืบหาความจริงจากเพื่อนสาว เพื่อกระชากหน้ากากความเป็นผู้ชายจอมปลอมของแฟนเพื่อนโดยพบว่าเขาเคยมีความรู้สึกพิเศษกับเพื่อน(ชาย) ครั้งเมื่อเลยเรียนสมัยเรียน เป็นปมปริศนาคาใจมาจนถึงปัจจุบัน จนในที่สุดก็ต้องหาคำตอบในใจโดยเลือกในสิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริง ซึ่งเขากลัวว่าจะไม่ตรงกับสิ่งที่สังคมคาดหวัง




ภาคปัจจุบัน สารัตถะ เพื่อน “กูรักมึงวะ” ถอดรหัส จับพิรุธ
เพื่อน กูรักมึงวะ กำกับโดย พจน์ อานนท์ ผู้กำกับที่ถนัดหนังตลก (ขายตุ๊ด ขายกะเทย)เป็นพิเศษ ลองมาทำหนังแนว ramantic drama หรือ(erotic & paradox) ผมไม่แน่ใจ เพราะไม่มีความรู้เรื่องหนังเพียงพอที่จะอรรถฐาธิบาย โดยมีตัวเอกดำเนินเรื่องคือ เมฆ มือปืนนักฆ่าที่ต้องหาเงินมาจุนเจือแม่และน้องที่เผชิญกับโรคร้าย(เอดส์) กับอิฐ ชายหนุ่มชนชั้นกลางซึ่งมีความสุขแฟนสาวสวยที่ถูกเมฆตามฆ่าเนื่องจากกำความลับสำคัญของเจ้านาย และตัวประกอบเรื่องโดยมีทราย หญิงสาวผู้เปี่ยมไปด้วยความรักที่มีต่ออิฐ และมองความรักอย่างสวยงาม แต่ต้องมาโชคร้ายเมือพบว่าแท้ที่จริงแล้วแฟนของตนได้เปลี่ยนความรู้สึกรักที่มีให้ตนไปชอบผู้ชายอื่น หมอกหนุ่มผู้อับโชคติดโรคร้าย(เอดส์)จากการล่วงละเมิดทางเพศของพ่อเลี้ยงทำให้แม่และตนเองต้องติดโรคร้ายไปด้วย หมอกต้องขายตัว(ให้กับผู้ชาย)และชิงชังการรักร่วมเพศมาก แม่ของเมฆหญิงสาวผู้ติดโรคร้ายจากสามีซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากในสังคม
เรื่องย่อของเพื่อน “กูรักมึงวะ” คือเมฆได้รับมอบหมายให้ไปทำภารกิจจากนายให้ไปกำจัดอิฐ ซึ่งกำความลับของผู้จ้างวานฆ่า แต่เมฆเกิดเปลี่ยนใจไม่ฆ่าอิฐตามคำสั่ง จึงถูกนายสั่งเก็บทั้งคู่ เมฆได้รับบาทเจ็บขณะปะทะกัน กับลูกน้องนาย จนอิฐต้องให้การดูและช่วยเหลือเมฆจนก่อเกิดเป็นความผูกพันและความรัก แต่เมื่อความรักก่อเกิดของทั้งคู่ เมฆก็รู้สึกขัดแย้งกับความรู้สึกที่ตนเองเผชิญอยู่ และหลีกเลี่ยงที่จะพบหน้าอิฐ จนทำให้อิฐกระวนกระวาย และว้าวุ่นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนเมื่อกลับไปที่บ้านทำให้ทรายพบว่า แฟนที่ตนเคยรักมีท่าทีที่แปรเปลี่ยนไป ในขณะที่เมฆรักษาตัวอยู่กับอิฐ หมอกและแม่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ในการดำรงชีวิต แม่ป่วยหนักจากอาการของโรค ส่วนหมอกก็ต้องเผชิญกับการรังเกียจของสังคมภายนอก และอาการของโรคเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันหมอกก็ขายตัวโดยสภาวะที่สับสนของตนเอง จนในที่สุดเมฆตัดสินใจกลับบ้านเพื่อไปหาแม่และน้อง แต่ก็ต้องพบกับอิฐอีกครั้ง ทำให้ความรู้สึกโหยหาโถมประดาเข้ามาจนทะลักถึงขั้วลึกของหัวใจ ในวันนั้นนายก็สั่งลูกน้องมาเก็บเมฆแต่โชคร้ายปืนไปถูกแม่เสียชีวิต ทำให้อิฐโกรธแค้นถึงขั้นไปเก็บนายและลูกน้องล้างบ้าน เมฆกำลังจะตามไปห้ามแต่ประสบอุบัติเหตุ ตาบอด ส่วนเมฆถูกตำรวจจับ หมอก เข้ารับการรักษาฟื้นฟูที่วัดพุทธบทน้ำพุ เมฆจองจำในคุกเป็นเวลายาวนาน จนครบกำหนดพ้นโทษ อิฐไปรับเมฆแต่สุดท้ายเมฆก็ถูกยิงเสียชีวิต
เนื้อหาดังกล่าวหากวิเคราะห์นาฏลักษณ์ตัวละครกับบริบทสังคมไทยแล้วผมเห็นว่ามีจุดที่น่าสนใจอยู่มาก ในสังคมไทยหากจะกล่าถึงเรื่อง เกย์[1] (ผมได้นำเสนอไว้ในเรื่องประวัติศาสตร์เกย์แล้ว)ได้ระบุจำแนกประเภทโดยใช้พฤติการณ์ และรสนิยมการเสพสังวาสเป็นเกณฑ์
เมฆจึงถูกประกอบสร้างนาฏลักษณ์และสัญญะ ในลักษณะ เข้มแข็ง มีพฤติการณ์ร่วมเพศเป็นผู้กระทำ (เล่นสวาท)ถ้าหากสายตาที่ผมจับจ้องในจอไม่ผิดเพี้ยน มีความเป็นผู้นำ มีพละกำลัง จึงเป็น เกย์คิง [2]ในขณะที่อิฐ ถูกประกอบสร้างในลักษณะที่ อ่อนโยน นุ่มนวล พูดจาไพเราะ มีเมตตา มีพฤติการณ์ร่วมเพศแบบเป็นผู้ถูกกระทำ(ฝ่ายรับ) แต่อิฐมีแฟนเป็นผู้หญิงจึงถูกนิยมเป็น ไบรับ [3]
แต่หากจะลงลึกไปกว่านั้น ผมยังพบปมปัญหาในตัวละครอีกมากมายซึ่งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นและเป็นข้อพิรุธที่ผมรู้สึกได้
ประการแรก คุณพจน์ ผู้กำกับ ผู้เขียนบทและผู้สร้างมิได้เชื่อมโยงปมปัญหา ซึ่งอาจเป็นเพราะวิธีการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ อาจมีระยะเวลาสั้นทำให้ผมไม่อาจเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดเมฆและอิฐจึงเกิดความรู้สึกรัก และสามารถบรรเลงเพลงรักบนดาดฟ้าอย่างไม่กระดากกระเดิ่น หรือเรียกเรียกว่ามีแต่ผลแต่หาเหตุไม่ได้ หรือไม่ก็วิธีการเล่าเรื่องไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะเชื่อมโยงในเชิงตรรก ผมคิดว่าการที่ดูแลกันในระยะเวลาอันสั้น มันอาจไม่เพียงพอที่จะรักกันและบรรเลงบทจูบแบบดูดดื่มอย่างที่หญิงชายแท้ยังต้องอิจฉาเลย แสดงว่ามิติเวลาไม่มีสหสัมพันธ์เท่าไรนักสำหรับคนที่พวกเราเรียกว่า “คนแปลกหน้า” ที่เข้ามาในชีวิต ที่สำคัญยังเป็นเพศเดียวกัน ผมลองคิดเล่นๆนะครับหากผมเจอเหตุการณ์แบบเดียวกับอิฐ ผมไม่ต้องเล่นบทรักบนดาดฟ้าหมือนอิฐกับเมฆหรือครับ เพียงเพราะผมช่วยเหลือเมฆ ผมคิดว่าอันนี้ต้องอธิบายปมชัดเจน เช่นอิฐเคยมีความรู้สึกอะไรบางอย่างในสมัยช่วงเด็กๆ(แบบodipus ของลุงฟรอยด์)หรือปมปัญหาบางอย่าง เช่นเหตุการณ์ที่เป็นประสบการณ์พิเศษในอดีต ซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกแบบชายรักชายในปัจจุบัน มันมีแบบว่าแค่การตัดต่อฉากเพื่อนเขียนหลังให้ หรือฉากแต่งงานที่เพื่อนมาแสดงความยินดี แบบแว๊บๆแวมๆและไม่ชัดเจนจนทำให้ผมทึกทักที่จะสรุปเชิงอุปนัยได้เลย


ประการที่สอง ผมเห็นว่าคุณพจน์เน้นการสร้างสภาวะที่เกินจริงไปสักนิด ผมก็ไม่รู้ว่าคุณพจน์คิดอะไร แต่ผมรู้สึกว่าการประกอบสร้างที่เกินจริงมันทำให้ผมอาจจะไม่ inner กับความรู้สึกของภาพยนตร์เท่าไรนัก เพราะประสบการณ์ในเชิงวัฒนธรรมแบบนี้ผมแทบไม่มีเลย เช่นอาชีพมือปืนเกี่ยวข้องอย่างไรกับเกย์ หรือต้องการสร้างมุมที่ขัดแย้งของตัวละครในเรื่องกับสังคมวัฒนธรรมเกย์ไทย เพราะผมคิดว่าอาชีพนี้อย่าว่าแต่เกย์เลย ผู้ชายธรรมดายังประกอบกิจนี้ได้ยากเลย ซึ่งผมแค่สงใสว่าหากเป็นวิศวกร นักมวย หรืออื่นๆยังดูเป็นไปได้จริงในสังคมไทยมากกว่า ในขณะที่ที่พจน์ต้องการจะสะท้อนความเป็นจริงในสังคมระหว่าวัฒนธรรมชายรักชาย แต่กลับเลือกที่จะนำเสนอเนื้อหาเกินจริง หรือคุณพจน์ต้องการจะบอกว่า อะไรที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่น่าจะเป็นไปได้แต่กลับเป็นไปได้ งั้นผมก็อึ้งเลยที่ภูมิปัญญาผมด้อยไปหน่อยเลยไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของคุณพจน์จึงไม่สามารถซาบซึ้งในอรรถรสหนังได้อย่างเพียงพอ


ประการที่สามถ้าถามด้วยความสมเหตุสมผลของเนื้อหา การอธิบายเรื่องราว ผมกลับคิดว่าเรื่องนี้ไร้ซึ่งเหตุและผลที่สุดเท่าที่ผมได้เคยชมภาพยนตร์มา (คือผมอาจไม่ค่อยได้ตามหนังของคุณพจน์เท่าไร) เลยไม่รู้ว่าสไตล์หนังของคุณพจน์เป็นเช่นไร แต่ หากมองในเชิงเหตุผลผมคิดว่ามันดูชอบกลอยู่ แต่ถ้าจะมองด้วยความรู้สึกก็อาจจะไม่ต้องการคำอธิบายมาก(แต่ผมมันเจ้าปัญหานี่ซิ เลยไม่ค่อยจะเชื่ออะไรง่ายๆ) ผมคิดว่าจุดขัดแย้งของหนังเรื่องนี้มีอยู่หลายจุด ผมคิดว่าการฆ่าคนตาย ล้างบางโดยไตร่ตรองน่าจะต้องโทษประหาร มากกว่าติดคุกแค่20กว่าปี หรือการถูกไล่ยิงระหว่าคน2คนกับลูกน้องเกือบสิบ แล้วไม่เป็นอะไรมากมายผมว่ามันยิ่งกว่าปาฏิหาริย์เสียอีก หรือจุดดำเนินเรื่องให้ทั้งคู่มาพบกับความรู้สึกว่า “ผมชอบคุณ” มันยังดูลอยๆไปจนผมไม่อาจเชื่อมโยงได้นอกจาก ผมจะมีแรงขับในเรื่องเพศ มากกว่าความรู้สึกผูกพัน ผมจึงอดไม่ได้ว่าหนังเรื่องนี้ใช้สุนทรียะแบบ Erotic ในการเล่าเรื่องด้วยหรือการเข้าหาในทาง Paradox


ประการที่สี่การอธิบายเนื้อหาของคุณพจน์มีความสับสนอยู่มาก เช่นจะชูประเด็นเอดส์ เกย์ ความรัก ความใคร่ ครอบครัว เพื่อนหรืออะไร? มันไม่ชัดเจนและดูคลุมเครือ ไม่ค่อยที่จะโยงกัน ต่างฝ่ายต่างตัดไปตัดมาจนผมนึกว่าคนละเรื่องเดียวกัน และมันไม่เป็นเนื้อเดียวกันเปรียบเสมือนเอาผ้ามาปะเป็นเสื้อโดยใช้เศษผ้ามาต่อกัน อันนี้ต้องลองชมครับ (หรือผมอาจคิดมากวิตกจริตไปเอง) ที่สำคัญชื่อเรื่อง เพื่อน “กูรักมึงว่ะ”นี่ผ่านกองเซ็นเซอร์ได้อย่างไรเพราะผมคิดว่าภาษาตั้งชื่อไม่น่าจะผ่านทำให้ผมยิ่งแปลกใจไปยิ่งกว่าเดิม ที่สำคัญชื่อเรื่องดังกล่าวไม่เห็นเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่แพร่ภาพออกมา ผมเองอยากจะตั้งชื่อให้เองเลยว่า เกย์ จ๋า ข้ารักเอ็งมาก
กลวีธีการเล่าขอคุณพจน์จะเน้นในการถ่ายทอดเนื้อหาโดยนัยประหนึ่งว่าเกย์คือผู้ชายโดยทั่วๆไป เส้นกั้นระกว่างเกย์และผู้ชายจึงมิได้แตกต่างอะไรนักนอกจากคำว่า “การร่วมรัก”

กับเพศเดียวกัน และแสดงความรักเช่นเดียวกับหญิงชายทั่วไป ทั้งในเรื่องความห่วงหาอาทร ความคิดถึง ซึ่งต้องถือว่าเป็นวิวัฒนาการที่ซับซ้อนขึ้น กว่าการจำแนกในอดีตที่ผมได้ทำการศึกษา แต่บทจูบสวาทขาดใจบนดาดฟ้าและท้องถนนนี่คุณพจน์ให้ความสำคัญมากจนผมแทบจะคิดว่าเป็นerotic paradox ของหนังรักฉบับเกย์ในแบบฉบับคุณพจน์ เพราะผมดูพฤติกรรมและท่าทีของผู้ชมผู้หญิงในห้องชม ราวกับหยุดหายใจ ณ ขณะนั้น และเกิดคำถามขึ้นว่า ร้อนแรงยิ่งกว่าหญิง ชายอีก หรือคุณพจน์ต้องการนำเสนอว่า จริงๆแล้วรักเกย์กับเกย์ ยิ่งกว่าในหนังอีก(อันนี้ผมแอบคิดเองนะครับ) การใส่บรรยากาศในอารมณ์ของห้องเก่าๆ บนดาดฟ้า และบทเริงรักแบบดิบๆ ปล่อยอารมร์กระเจิดกระเจิงตามใจ จนผมอดคิดถึงสโลแกนหนึ่งไม่ได้ ถึงคำว่าanytime anywhere บทเริงรักจึงไม่สัมพันธ์กับเวลาและสถานที่ ได้ทุกที่ ทุกแห่งหน ทุกเวลา ก็แปลกดีครับ ถือเป็นวิธีคิดใหม่ๆที่ผมได้รับจากหนังเรื่องนี้

หากจะกล่าถึงเรื่องเกย์ในบริบทสังคมไทย เรื่อง เพื่อน “กูรักมึงว่ะ”อาจเป็นแค่เศษเสี้ยวที่คุณพจน์พยายามที่จะนำเสนอ ในเชิงโครงสร้าง และเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรมนี้ยังมีเนื้อหาที่หยิบยกสามวันก็ยังไม่หมด เช่นกระบวนการสร้างความแอ๊บแมนของเกย์ (ไม่รู้เหมือนแอ๊บแบ๊วหรือเปล่า)ในพื้นที่สังคมไทย มันจึงสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับของสังคมไทยมีการให้คุณค่าที่แตกต่างกันไปตามสภาวะของมิติเวลา (สามารถศึกษาได้ในวิทยานิพนธ์เรื่องวาทกรรมเกย์ ภาคประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬา)
ผมเลยเข้าใจว่าทำไมเกย์บางคนถึง “แอ๊บแมน” ซึ่งนาฏลักษณ์ลวง เพื่อสร้างความเป็นจริงในสังคม หรือบางคนเป็นผู้ชายที่มิได้จำแนกตัวเองเป็นเกย์ แต่มีรสนิยมชอบมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย วิวาทะระหว่างคนนอก(etic) กับคนในกลุ่ม(emic)จึงมีวิธีคิดที่แตกต่างกันและมีรายละเอียดมากมาย จนผมศึกษาแทบไม่หวัดไม่ไหว เพราะมันซับซ้อนและมีการแยกย่อย จนถึงระดับปัจเจก แต่อย่างน้อยก็ต้องขอขอบคุณที่คุณพจน์กล้าที่จะนำเสนอเรื่องราวที่ต้องรอสังคมให้โอกาสที่จะหยิบยื่นเพื่อถ่ายทอดชีวิต เกย์ ในอีกภาคหนึ่งของบริมณฑลประเทศไทย



ปล.

บทความชิ้นนี้เป็นข้อเสนอส่วนตัวที่อาจจะมีวิวาทะที่แตกต่างออกไป จึงขอให้ผู้อ่านอย่าถือเป็นสาระอะไรมากนัก

การนำเสนอโดยผ่านมุมมองทางสังคมศาสตร์ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาดอยู่มากมายขออภัยมา ณ ที่นี้



--------------------------------------------------------------------------------

[1] เกย์ในความหมายคือกลุ่มคนที่มีพฤติการณ์ รักร่วมเพศ ซึ่งมีการบรรจุคำศัพท์ตามลักษณะบุคลิกภาพและ มรรควิถีในการร่วมเพศหาอ่านได้ใน ประวัติศาสตร์เกย์ ในสยามประเทศ ที่มาของคำเรียกเกย์กระเทยในบริบทสังคมไทย

[2] เกย์คิง ซึ่งมีบทบาทเป็นฝ่ายกระทำ พฤติกรรมอาจกระตุ้งกระติ้ง หรือไม่ก็ได้ ซึ่งแล้วแต่ละบุคคล

[3] ไบรับหมายถึงสามารถมีอะไรกับผู้หญฺงได้ แต่หากผู้ชายจะชอบเป็นฝ่ายรับมากกว่า

Anonymous said...

อีกเรื่องละกัน
เอาไว้คราวหน้า
รับน้องโหด ประเพณีโฉด ฉบับอัปรีย์ชน แห่งกรุงสยาม

Anonymous said...

วิวาทะ “รับน้อง(โหด)” ประเพณีโฉดฉบับ” อัปรีย์ชน” แห่งกรุงสยาม



ชลเทพ ปั้นบุญชู นักวิชาการอิสระด้านสังคม( ยุวโฆษกและYPD )



รับน้องเพื่อ “อะไร” ทำไม “ต้องมี” มุมมองในเชิง “หน้าที่นิยม”



รับน้องเป็นประเพณีที่ปฏิบัติขึ้นในแต่ละสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ ระหว่าง รุ่นพี่ และ รุ่นน้อง ในเชิงอำนาจ ซึ่งหมายถึง การเคารพ เชื่อฟัง ปฏิบัติตาม จากบรรทัดฐานของ ”รุ่นพี่” ที่สร้างขึ้น สามารถพบเห็นได้ทั่วไปจาก การรับน้องมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่ที่ทำงานบางแห่ง กระบวนการ รับน้อง จึงเป็นมรรวิถีแห่งการเรียนรู้บรรทัดฐาน
( socialization ) ทางสังคม(นั้นๆ) อันจะนำมาสู่ความเข้าใจใน บทบาท(rule) หน้าที่(status) ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องให้เป็นไปตามกฏเกณฑ์ที่วางไว้



กระบวนการับน้องในประเทศไทยนั้นมีมากมายหลายแบบ เท่าที่ผมสังเกตเห็นก็มี แบบแรก การรับน้องแบบสันทนาการ [1]คือ ให้น้องเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก มุ่งเน้นให้เกิดความสนุกระหว่างพี่และน้อง ซึ่งหมายถึงการ้องรำทำเพลง เต้าท่าประหลาดประหลาด ออกมาแสดงร่วมกัน หากเป็นแบบที่สอง การรับน้องแบบพิธีกรรม [2]คือการสร้างความหมาย อัตลักษณ์ ตัวตน และจิตวิญญาณ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล หลอมรวมกับคณะ/สาขาวิชา จนไปถึงระดับสถาบัน การปฏิบัติแนวพิธีกรมแบบนี้ผมขอใช้แนวคิดทางมานุษยวิทยาเรื่อง การเปลี่ยนผ่านเชิงพิธีกรรม (rite the passed ) ซึ่งหมายถึงปัจเจกจำเป็นจะต้องประกอบพิธีกรม(บางอย่าง)ที่สังคมกำหนดไว้ เพื่อการยอมรับของคนในสังคม เช่นการล่าสัตว์ของบางชนเผ่าเพื่อแสดงถึงความเป็นเด็กที่จะต้องเปลี่ยนไปสู่ผู้ใหญ่ การรับน้อง ในความหมายเชิงพิธีกรมเปลี่ยนผ่านจึงบ่งบอกว่า น้องๆได้สามารถปฏิบัติกิจกรรมบางอย่างเพื่อแสดงความเป็นน้องใหม่ในสถาบันเรียบร้อยแล้ว ได้รับฉันทานุมัติจากรุ่นพี่ ให้เข้ามาเป็น “น้อง”นอกเหนือจากการเข้ามาในแบบรูปธรรม(การสอบได้หรือเข้ามาเรียน) แต่หากได้เปลี่ยนผ่านตนเอง(จากเงื่อนไขบางอย่างที่กำหนดขึ้น)ในเชิงจิตวิญญาณ หรือเรียกง่ายๆว่าเข้ามาเป็นักศึกษาอย่างเต็มตัวนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้แก่ ประเพณีติดเข็ม รับเกียร์ หรือผูกข้อมือ ส่วนแบบที่สามที่ผมจะกล่าวก็คือ“การับน้องแบบปฏิบัติการสร้างบรรทัดฐาน” [3]เป็นการจำลองวิธีการฝึกแบบนักศึกษาวิชาทหาร และทหาร ในการสร้างระเบียบวินัย โดย ควบคุม จำกัดสิทธิเสรีภาพ จากการกำหนดสภาวะที่กดดัน กว่าสภาวะปรกติ หรือสมมุติเหตุการณ์เพื่อหลอมรวมปัจเจกให้เข้าสู่”บรรทัดฐาน”กลุ่ม ที่รุ่นพี่สร้างขึ้น หรือที่เราเรียกว่าระบบ SOTUS (ตรงส่วนนี้ผมไม่สามารถกล่าวรายละเอียดได้ทั้งหมด) วิธีการเหล่านี้ใช้เพื่อสร้างระเบียบในการอยู่ร่วมกัน รักษาค่านิยมบางอย่างเช่นผ่านวาทะกรรมเชิงอำนาจ “รุ่นน้องต้องเคารพรุ่นพี่” “เพื่อนกันต้องช่วยเหลือรักใคร่ปรองดองกัน” “อย่าเอาตัวรอดคนเดียว” “อย่ามาอีโก้สูงในคนหมู่มาก” เป็นต้น

หากจะลงให้ลึกในส่วนวิธีการที่สองและสามนี่แหละครับที่ผมจะกล่าวถึง มันมีระเบียบวิถีปฏิบัติมากมายแต่จะนำมาสู่หลักการที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น เคยได้ยินไหมครับว่าของบางอย่าง “หลักการดี” แต่ “วิธีการห่วย” เพราะในส่วนของสารัตถะแล้ว ในส่วนนี้แหละครับที่มีปัญหาและถูกพิพากษ์วิจารณ์จนเป็นประเด็นทางสังคม

ผมเคยได้รับความรู้เมื่อสมัยยังเรียนในระดับปริญญาตรี รายวิชา จิตวิทยาสังคม อาจารย์ท่านอรรถฐาธิบายว่า [4]“การรับน้อง” นั้นทำไมถึงต้องใช้วิธีการกดดัน ”ทั้งร่างกาย” และ”จิตใจ” ท่านยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งว่า “ มีการกดลองให้เด็กทั้งสองกลุ่มที่มีปัญหาความขัดแย้งกัน ไปเผชิญกับสภาวะความยากลำบาก ความกดดัน เพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ดังกล่าว ผลปรากฏว่าเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ เด็กกลุ่มนี้กลับรักใคร่ปรองดองมาก เพราะต่างคนต่างที่ได้ถูกหลอมรวมประสบการณ์แบบเดียวกัน ความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจจึงเกิดขึ้น” ผมจึงขอใช้เหตุผลที่พอฟังขึ้นนี้มารองรับว่า ทำไม”เวลารับน้อง” จึงต้องสร้างสถานการณ์ให้ “กดดัน” และต้องสร้าง อุปสรรค แบบที่เรียกว่า วิบากกรรม เลยทีเดียว อาจารย์ท่านมองว่า “วิธีนี้แหละที่จะให้เรายอมรับ กฏเกณฑ์ ได้ในระยะเวลาอันสั้น” เพราะความรู้สึกร่วมในบริบทเดียวกัน ทำให้ผมนึกถึงรายการบิ๊กบราเธอร์ รายการrealality หรือบ้านอคาเดมี ที่แสดงอยู่ ก็ใช้หลักการเดียวกัน

แต่ไอ้ที่ผมไม่เข้าใจว่า วิธีการรับน้อง(โหด)ดังที่ปรากฏในข่าว มันเกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร? เพราะมันไร้ซึ่งเหตุและผลที่สุดในเชิงตรรก นอกจากไม่สร้างสรรค์แล้วยังรู่สึกว่าเป็นมรรควิถีแห่ง อุบาทว์ชน เขาทำกัน ขนาดนักโทษที่ทำความผิด เจ้าหน้าที่ยังไม่มีสิทธิที่จะไปทรมานร่างกาย เพราะมันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน

ผมได้ฟังคุณอา... สรยุทธ์ ไต่ถามในหน้าจอทีวี เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “โดนทั้งตระแกรงปิ้งปลานาบไปที่ก้น บุหรี่ที่ติดไฟจี้ไปที่ใต้ราวนม และส้อมที่ร้อนนามไปที่หน้าอก และให้ล้มลงไปกับกองถ่านกลบด้วยกองทราย ที่ยังมีความร้อนอยู่” ผมถึงกับหยุดหายใจพร้อมจินตมโนภาพตามที่ได้ฟัง ในห้วงจังหวะแห่งความคิดของตนเองก็ฉุกคิดคำพูดหนึ่งได้คือ

”อัปรีย์ชน” ที่สุด และผ่อนลมหายใจยาวๆเฮือกใหญ่

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ารุ่นพี่ที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว มีจิตใจ “วิปริต” หรือไม่? เพราะการกระทำที่แสดงออกมันบ่งชี้ว่า มิใช่ภาวะวิสัยมนุษย์ปรกติธรรมดาพึงจะทำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง จริยธรรมและศีลธรรมในมโนสำนึก ต่ำ ถึงขั้นหาได้มีไม่

วิธีการับน้องที่ดีและเป็นประโยชน์มีอีกตั้งมากมาย ที่สามารถทำได้แต่ทำไมถึงไม่ทำ ผมไม่อยากจะเอามุมมอง อารยชน และชนป่าเถื่อนเข้าไปตัดสิน เพราะมันเป็นเพียงมุมมองเชิงเดี่ยว เดี๋ยวจะหาว่าเอาสังคมของตนเองไปเปรียบเทียบกับคนในสังคมอื่นอื่น แต่ผมขอมองในฐานะ มนุษยนิยม คนหนึ่ง ที่เห็นว่าการกระทำดังกล่าว ขาดความปรานี และ เมตตาธรรมยิ่งนัก หลักการที่ปฏิบัติราวกับรุ่นน้อง มิใช่คน (ขนาดสัตว์เรายังไม่มีสิทธิที่จะทำได้เลย) อย่างนี้หรือครับคนที่อ้างตนเองว่าเป็น รุ่นพี่ ที่ปฏิบัติกับ รุ่นน้อง ผมเคยผ่านพิธีกรมรับน้อง ถึงแม้มันอาจจะมิได้ราบรื่นนัก แต่รุ่นพี่ที่ผมเคยสัมผัส คำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัย ของรุ่นน้องไว้อย่างดีที่สุด เพราะนี่คือหนึ่งชีวิตที่มีค่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บุคคลซึ่งนิยามว่าเป็น “รุ่นน้อง “ ผู้ถูกกระทำดังกล่าว ไร้ค่า เพียงเพราะไร้ตัวตน ไร้อำนาจ ไร้พื้นที่ จนต้องประกอบพิธีการแบบ ต่ำ ต่ำ ถูกกระทำแบบ “กดขี่”เพื่อสร้างความสนุกและสะใจ ของรุ่นพี่บางกลุ่มเท่านั้นหรือ และเบื้องหลังแห่งความเสียใจที่มิอาจประเมินค่าได้ครั้งนี้คือ “ความสูญเสีย” ของพ่อแม่และบุคคลในครอบครัว เพียงเพราะ การเข้ามาเรียนในสถาบัน ที่มีประเพณี “การับน้อง” แบบ “อัปรีย์ชน”ที่มีเดิมพันด้วย “ชีวิต” ตายหรือรอดขึ้นอยู่กับดวง



--------------------------------------------------------------------------------

[1] เป็นการกำหนดโดยตัวผู้ศึกษาเองจากการจำแนกประเภทของลักษณะกิจกรรมรับน้องเชิงประจักษ์

[2] การรับน้องดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนผ่านจากนักศึกษาธรรมดา ให้เป็นนักศึกษาในเชิงสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์ คือการประกอบพิธีกรมอันจะนำไปสู่ความสมบูรณ์ใน อัตลักษณ์ นักศึกษา

[3] ระบบแบบนี้ได้ใช้วีธีการแบบวิถีประชาเพื่อควบคุมบรรทัดฐานทางสังคม หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกนินทา แปลกแยกทางความรู้สึก จากเพื่อนๆ และรุ่นพี่ บรรทัดฐานแบบนี้จึงสามารถกำหนดลักษณะที่พึงกระทำและไม่ควรกระทำ ให้ปัจเจกรับรู้เพื่อรับเงื่อนไขดังกล่าว

[4] อ้างในคำบรรยายรายวิชา จิตวิทยาสังคม รศ.ลิขิต กาญจนคม อาจารย์ประจำภาควิชา จิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Anonymous said...

อีกเรื่องละกัน นานนานจะได้เล่นเนทซักที นานทีปีหน
เรื่องการศึกษาม่างดีกว่า หายจากเรื่องนี้ไปนาน

ถอดระหัส "รัฐธรรมนูญฉบับร่าง ปี 2550 " กับอนาคตการเมืองไทย


ชลเทพ ปั้นบุญชู นักวิชาการอิสระด้านสังคม (ยุวโฆษก)
ภาคเกริ่น(บ่นไปตัดพ้อไป)

ผมเองได้มีโอกาสอ่าน "รัฐธรรมนูญฉบับร่าง(ปกเหลือง) ปี 2550 ซึ่งบรรดานักกฎหมายมหาชนในแต่ละสำนักออกมาชื่มชมกับผลงานว่าเป็นมาสเตอร์ พีช ที่ตนเองได้มีส่วนในการยกร่างครั้งนี้ รวมถึงอมาตย์ฝ่ายเก่าสายราชการและองค์กรอิสระ ผมเองยังอ่านไม่หมด เพราะอ่านไปแปลไป ตีความหมายไป เลยใช้เวลานาน(อย่างนี้แหละครับไม่ใช่นักกฏหมายมหาชน) เพราะต้องดูถึงเนื้อหา เจตนารมณ์ ของกลุ่มผู้ร่างด้วยจึงจะถือว่าครบถ้วน จะได้เข้าใจโลกทัศน์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อย่างลึกซึ้งและถ่องแท้

ภาคสารัตถะ(วิพากษ์วิจารณ์แกมเหน็บ)
สิ่งที่ผมได้รับจากการอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมไปถึงข้อวิพากษ์จากสำนักอื่นที่นักวิชาการสายรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ออกมาสนับสนุนและโต้แย้ง ทำให้คิออะไรได้หลายอย่างจนเกิดมุมมองที่อยากจะนำเสนอดังต่อไปนี้

ประการแรก
รัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆเนื้อหาสาระอาจมิได้แตกต่างอะไรกับปี 2550 มากนัก สิ่งที่ต่างกันก็คือ การเพิ่มเติมอำนาจการตรวจสอบจากภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงสัดส่วนและที่มาของสส สว และการเพิ่มสิทธิ เสรีภาพให้ชัดเจนครอบคลุมขึ้น (ของชนบางกลุ่มซึ่งมิอาจรวมเพศที่3)เข้าไปผนวกด้วย เพราะบางประโยคบางวรรคตอนก็คัดลอกมาเสมือนหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี2540 ฟื้นคืนชีพ แต่สิ่งที่ต่างก็ตรงที่มาของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ค่อยสง่างาม นั่นก็คือกำเนิดขึ้นมาจากอำนาตเผด็จการทหาร แล้วคัดกรองคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมาร่าง(ซึ่งเป็นที่ยอมรับ?)และมัดมือชก ซึ่งในส่วนนี้จึงแตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับปี2540ที่คลอดกมาจากภาคส่วนประชาชนทั่วทั้งประเทศอย่างแท้จริง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็หมายความว่า "ร่างดีไม่จำเป็นต้องมาจากประชาธิปไตย หรือร่างที่มาจากประชาธิปไตยก็ไม่จำเป็นต้องดี(เพราะได้ฉีกทิ้งไปแล้ว) สิ่งเหล่านี้จึงอาจเรียกได้ว่า "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ"(คือมีคนกำกับดูแลให้ เหมือนกับผู้ใหญ่ดูแลเด็ก)นั่นเอง

ประการต่อมา
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดอำนาจของฝ่ายบริหารแบบรัฐสภาลงซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือทำให้รัฐบาลรอบคอบและรับผิดชอบต่อนโยบายมากขึ้น แต่ข้อเสียก็อาจมีผลทำให้การทำงานล่าช้าเช่นเดียวกับในอดีตซึ่งไม่อาจตอบสนองได้ทันท่วงที อดีตจากการใช้รัฐธรรมนูญปี2540อาจทำให้มองเห็นภาพได้สองด้านคือในส่วนที่ทำงานเร็วแต่ในขณะเดียวกันก็๋ทำให้ฝ่ายบริหารและ(นิติบัญญัติ)มีอำนาจในสภามากแบบชนิดที่ว่าไม่เคยมีมาก่อนจนทำให้กฏหมายที่คลอดออกมาผ่านฉลุยทุกวาระ (ซึ่งงอาจมีผลเสียต่อส่วนรวมในภายหลัง)

ประการสุดท้าย
รัฐธรรมนูญฉบับร่างได้เขียนมาตรา 309 ในบทเฉพาะกาล ความว่า" บรรรดาการใดใด ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช2549(เรียกฉบับ คมช. )ว่าเป็นการชอบด้วยกฏหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"
ข้อนี้ผมสงสัยเช่นเดียวกับฝ่ายที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ามีไว้เพื่ออะไร? หรือเพื่อยอมรับการทำรัฐประหารว่าเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย(แบบไทยๆ) หรือให้คมช.ได้รับคำยกย่องว่าเป็นฮีโร่ และเป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง ผมเองก็มิอาจก้าวล่วงคมช.ได้มากนักเพราะระบบการปกครองแบบบ้านเราใช้ผู้น้อยเข้าหาผู้ใหญ่ (ระบบผู้หลักผู้ใหญ่)เพื่อให้อำนาจบารมีแห่งท่านคุ้มครองเรา(ประชาชนตัวเล็กๆ) อำนาจดังกล่าวเบ็ดเสร็จและเด็ดขาดยิ่งนัก
แต่สิ่งที่ลึกไปกว่านั้น เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยแบบเต็มใบ เพราะการทำรัฐประหารก็มีขึ้นเรื่อยมาในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีรัฐธรรมนูญใช้มากว่า 75 ปี เพราะการทำรัฐประหารก็คือการยึดครองอำนาจของประชาชน(ที่เลือกตั้งมาถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีคุณภาพ) มาครอบครองไว้ชั่วระยะหนึ่ง(ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ)จึงค่อยปล่อยกลับไปสู้ภาคประชาชนใหม่อีกครั้ง การเมืองการปกครองบ้านเราจึงมีวงจรแบบ"วัฏสงสาร" เวียน ว่าย ตาย เกิด ไม่จบไม่สิ้น นี่แหละครับ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร เป็นเอกลักษณ์ของชาติ
ไม่รู้คนอื่นคิออย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ผมกลับอยากให้ร่างนี้ผ่านมากๆ(ตัวสั่นเลย) ถ้าหากร่างนี้ผ่านจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นเยอะ(ถ้าเป็นไปได้จริงตามที่กล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ) เพราะมีหลายมาตราในร่างดังกล่าวเขียนไว้น่าประทับใจยิ่งราวกับจะทำให้สิ่งที่คิดเชิงอุดมคติกลายเป็นความจริง(ไม่ใช่ฝันลมลมแล้งๆ)ของไพร่ฟ้าหน้าใส เช่น
" มาตรา 49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการศึกษาไม่น้อยกว่า12ปี ที่รัฐจะต้องจัดการให้อย่างทั่วถึงและมัคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายผู้ยากไร้ ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลออื่น"
ผมจึงได้จับจ้องเฝ้าดูว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามา จะนำมาตรานี้และมาตราอื่นๆมาปฏิบัติได้มากน้อยเพียงไร เพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่าที่ผ่านมาเน้นแต่เพียง"ปริมาณ" หากแต่ยังขาด "คุณภาพ" แล้วจะมีวีธีวางนโยบายอย่างไรมาจัดระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม(ในเชิงคุณภาพ) เพราะการจัดการศึกษาบ้านเราทุกวันนนี้ยังเหลื่อมลำกันมากทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท (ในเรื่องคุณภาพในเรื่อง ปัญหาครูขาดแคลน สื่อการศึกษาและอื่นๆ) หรือเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มอายุ12-18ปี ถูกเบียดขับออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน(คือไม่สามารถได้รับการศึกษาหรือเข้าไม่ถึงระบบนั่นเอง)วซึ่งมีอยู่จำนวนมาก(อ้างในงานวิจัยนครภิวัฒน์และวิถีชีวิตเมือง สถาบันวิจัยประชากรศาสตร์ ม.มหิดล)
ภาคปัจฉิม(เหนื่อยและรอความหวัง)
สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากเอาไว้ก็คือ บ้านเมืองเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการปลูกฝังประชาธิปไตย ซึ่งมันน่าจะเริ่มจากเด็กในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา เพราะในระบบโครงสร้างการศึกษาไทย สอนให้เรายอมรับอำนาจ จากคำสั่งที่ถูกชี้นำมาโดยตลอด ครูชี้นำนักเรียน(ซึ่งบางอย่างอาจปราศจากเหตุและผล) ไม่เคยได้กำหนดทิศทางเองได้ ดูได้จากระบบแอชมัชชั่นส์ หรือระบบการสอนที่เน้น ผู้สอนเป็นศูนย์กลาง(แบบชี้นำ) มิใช่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังเป็นไปได้น้อยมาก ทำให้เด็กไทยขาดกระบวนการเรียนรู้สร้างสรรค์ หรือนิสัยแบบประชาธิปไตย (กำหนดทิศทางเองได้และไม่ถูกยัดเยียด) จึงอยากที่จะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านได้รับรู้และแก้ไขในดอกาสต่อไปเพื่อสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้กับภาคเยาวชน
ปล.
บทความชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ การเมืองของไพร่ เขียนโดยอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ การปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้นำเสนอระบบการเมืองไทยและระบบโครงสร้างซึ่งทำให้ผู้เขียนมีความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้
บทความนี้แม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมือง การปกครอง แต่ผู้เขียนพยายามจะใช้มุมมองทาง มานุษยวิทยา เข้ามาศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงอาจมีความบกพร่องไม่มากก็น้อย สิ่งหนึ่งซึ่งเกิดจาก ความรู้อันน้อยนิดของผู้เขียนเอง และความอ่อนด้อยทางปัญญา ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้จึงขอน้อมรับความผิดพลาดทุกประการ

Gelgloog said...

โอวววว

มามีสามอันขอเวลาพี่อ่านซักเดี๋ยวนะน้องชลเทพ 55

Anonymous said...

ว่าด้วย ภิกษุสันดานกา ความจริงในสังคมที่มิควรเปิดเผย?

ชลเทพ ปั้นบุญชู นักวิชาการอิสระด้านสังคม (ยุวโฆษกและกลุ่ม YPD)





เกริ่นนำ ภาค ฆราวาส

ผมเองได้ยินข่าวการถกเถียงเกี่ยวกับภาพเขียนชิ้นหนึ่งที่จัดแสดงในมหาวิทยาลัยศิลปากร ภาพนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 สาขาจิตรกรรม โดยอาจารย์อนุพงษ์ จันทร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ภาควิชาวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อดีตศิษย์เก่าก้นกุฏิมหาวิทยาลัยศิลปากร จนมีพระสงฆ์และกลุ่มนิสิตพระสงฆ์รั้วข้างๆวังท่าพระออกมาประท้วงและให้ระงับการแสดงอันเนื่องมาจากความไม่เหมาะสมและดูหมิ่นศาสนา ผมได้ไปอ่านข้อความที่ผู้เขียนภาพให้ความเห็นไว้ “ผมสร้างงานศิลปะขึ้นมาไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำลายศาสนา แต่ผมมองไปถึงปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น ให้คนในสังคมได้ฉุกคิด ภาพของผมต้องการสื่อว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยศาสนาเป็นเครื่องหาผลประโยชน์ โดยชื่อ ของ ผลงานผมก็ไม่ได้ตั้งขึ้นเอง แต่เอามาจากพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ถึงภิกษุลามกรูปหนึ่ง ที่ไม่ควรค่าแก่การกราบไหว้”

วิวาทะแห่งข้อขัดแย้ง :จากฆราวาสสู่สังฆาวาส

ผมได้มีโอกาสชมรายการ ตัวจริงชัดเจน เมื่อคืนวันพุธที่ 3 ตุลาคม โดยมีพระเทพวิสุทธิกวี เลขาธิการพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กับ ดร. ทวีวัฒน์ บุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศาสนาเปรียบเทียบ ม.มหิดล เป็นผู้ร่วมรายบการ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าจิตรกรมิอาจมาร่วมรายการได้เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกับคณะสงฆ์ ก่อนอื่นผมต้องขออกตัวว่าสิ่งที่ผมจะวิพากษ์นี้มิได้มีเจตนาก้าวล่วงเบื้องสูงหรือลบหลู่ศาสนาแต่อย่างไร หากเป็นพลังบริสุทธิ์ที่อยากจะขอแสดงความคิดเห็นในมุมที่แตกต่าง ในมิติอื่นๆนอกเหนือจากในด้านความเหมาะสม? ในปริบทสังคมไทย

ประการแรก หลวงพ่อท่านกล่าวถึงความไม่เหมาะสมระหว่างภาพกับปริบทสังคมไทย อ้างถึงความไร้จริยธรรมต่อสังคมที่นำเสนอภาพ หากคนที่ไม่มีวิจารณญาณอาจเข้าใจผิดโดยการเหมารวมพระสงฆ์ว่ามีพฤติการณ์เป็นอีกาได้ ที่สำคัญยังนำเรื่องที่ไม่ควรพุดมาพูดในที่สาธารณะ (เรื่องเน่าๆในวงการผ้าเหลืองนะครับ) ผมตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่หลวงพ่อท่านพูด เป็นการดึงเอา วาทกรรมความศักดิ์สิทธิ มากดทับความจริงให้เลือนหายไป เพียงเพราะเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงที่ต้องปิดเงียบไว้(พูดไปเดี่ยวบาปหนัก) อย่างนี้แหละครับเรื่องจริงก็ไม่ควรพูด เลยพูดกันแต่เรื่องไม่จริง จนมันกลายเป็นเรื่องจริงโดยปริยาย จนผมแอบคิดไม่ได้ว่า เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่ขัดกับบรรทัดฐานทางสังคมมักจะเจ็บปวดเสมอ ยิ่งเห็นยิ่งเจ็บปวด ยิ่งตอกย้ำยิ่งเสียใจ

ประการที่สองผมคิดว่าหลวงพ่อท่านใจแคบที่จะเอาอคติทางวัฒนธรรมมาตัดสินภาพมากไปหน่อยโดยมิได้ดูสารัตถะของภาพ ทำให้มองเห็นแค่เปลือกของภาพโดยใช้บรรทัดฐานแบบสังคมจารีตประเพณี นิยม ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงสถาบันศาสนาเป็นสิ่งซึ่งแตะต้องมิได้ มิควรก้าวล่วง และวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งหมายถึงเรากำลังจาบจ้วง อำนาจ ของสถาบันเบื้องสูงจนผมนึกว่าตนเองอยู่ในประเทศไทยเมื่อสามร้อยปีที่ปกครองแบบเทวราชา มนุษย์เป็นเพียงเศษเสี้ยวธุลีหนึ่งที่ต้องถูกชี้นำโดย ผู้นำทางสังคม(ทั้งผู้มีอำนาจและมีความศักดิ์สิทธิ) หากใครก้าวล่วงต้องนำไปตัดลิ้น สิ่งนี้แหละครับที่เรียกว่า ยอมรับโดยปราศจากเงื่อนไข ผมกลับมองในมุมที่แตกต่าง ผมคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็จริง แต่ศาสนาเป็นสิ่งที่ยึดโยงสังคม รักษาบรรทัดฐานบางอย่างไว้ เพื่อควบคุมให้สังคม ดำรงไปในวิถีทาง แต่ศาสนาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคม และศาสนาก็มิได้แยกเดี่ยวพระสงฆ์ให้ทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาเพียงกลุ่มเดียว หากยังต้องอาศัยศาสนิกชนอื่นสืบทอดด้วยอีกทาง ถึงแม้จะไม่ได้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับพระสงฆ์แต่ก็มีความเท่าเทียมที่จะธำรงรักษาศาสนาเช่นเดียวกับพระสงฆ์ ดังนั้นศาสนิกชนควรที่จะมีสิทธิที่จะแสดงออกได้อย่างมีเหตุมีผล เพื่อธำรงความบริสุทธิ์ ของหลักธรรม ศิลปะจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถสะท้อน ความเป็นจริง มากกว่าจะสร้าง วาทกรรม อำพราง แบบบิดเบือน จนเกิดการลักลั่นระหว่าง พุทธศาสนา กับลัทธิพิธี ที่นำพุทธศาสนาไปใช้เพื่อทางอวิชชา เพราะผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือคนละสิ่ง หรือถ้าหากเป็นสิ่งเดียวกันผมคิดว่ามันคืออลัชชี ในพุทธศาสนามากกว่า การประกอบเนื้อหาและเจตนาภาพนี้ชัดเจน และสะท้อนสังคมได้อย่างลุ่มลึกแสดงถึงปัญญาญาณของศิลปิน ที่สามารถสร้างอารมณ์ในภาพได้อย่างยอดเยี่ยม และนำสัญลักษณ์มาสื่อเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจสังคม และนี่คือวิถีทางหนึ่งที่ปัจเจกชนผู้ศรัทธาต่อศาสนาจะแสดงออกถึงสิ่งที่ผิดแผกแปลกปลอมให้สังคมได้ประจักษ์ถึงความเป็นจริง ทำให้ผู้ชมชื่นชอบเพราะสามารถใช้ประสบการณ์ตีความ สังเคราะห์ วิเคราะห์และร่วมคิดไปกับภาพได้

ประการสุดท้าย หลวงพ่อท่านเห็นว่า ภาพนี้แสดงถึงความวิปลาส ฟั่นเฟือนของผู้วาด และมองว่าผู้ให้รางวัลไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่สมควรที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ มองมหาวิทยาลัยที่จัดไม่สำนึกต่อส่วนรวม อันนี้ผมรับข้อกล่าวหาไม่ได้ ผมกลับคิดว่าภาพนี้ศึกษา ธรรม มองสภาวะ ของความจริง และถ่ายทอดในเชิงสัญลักษญ์ จนเป็นผลงสานที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งของประเทศไทย(อย่างประเมินค่ามิได้) หลวงพ่อท่านกล่าวอ้างว่า สิ่งที่ศิลปินวาดมิได้มีระบุไว้พระไตรปิฎก แต่ผมกลับมองในมุมต่าง ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้นี่แหละ คือแรงบันดาลใจที่ได้รับจากพระไตรปิฎกจนเข้าใจถึงแก่นทางปรัชญาพุทธ และเรียบเรียงจากมโนทัศน์ออกมาสู่ ภาพเขียนเชิงวิพากษ์

ภาคสารัตถะ วิเคราะห์เนื้อหา และมุมองสังคมวิทยา

ภาพนี้ในมุมมองของผมแล้ว ผมกลับชอบมันมากเลยผมเห็นถึงภูมิปัญญา วิธีคิด และความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่จะนำเสนอความเป็นจริงทางสังคมในเชิงประจักษ์ ก่อนอื่นผมเองก็เป็นศิษย์เก่าแห่งมหาวิทยาลัยดังกล่าและเคยได้ร่ำเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะมาบ้าง อยากออกมาวิวาทะ ซึ่งอาจนละขั้วกับพระสงฆ์ และศ.คุณหญิงไขศรี รมว.วัฒนธรรม (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร)

เนื้อหาของภาพนี้นำเสนอความงมงายของพระสงฆ์ ที่มิได้มุ่งแสวงหาพระธรรม แต่กลับมุ่งแสวงหา วัตถุ เป็นสรณะ โดยการปลุกเสกเครื่องราง หมกมุ่นทางแห่งไสยศาสตร์ อันมิใช่ทางแห่งโลกุตรธรรม ลองไปมองซิครับว่าจริงๆแล้วสังคมพระเป็นอย่างนี้หรือไม่ ? ข่าวที่ลงอยู่ก็พอมีให้เห็นกรณีพระทำอัปรีย์ จัญไร มั่วโลกีย์ มุ่งการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เพื่อใช้วิถีแห่งความงมงายแก้ปัญหา มากกว่าที่จะใช้ปัญญาและหลักธรรม พระในปัจจุบันจึงไปยึดอาชีพใหม่ นั่นก็คือ เจ้าลัทธิพิธีทางไสยศาสตร์ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่มรรควิถีที่ ผู้สืบทอดพุทธศาสนาอย่างพระสงฆ์พึงจะทำ หรือนี่คือศาสนารูปแบบใหม่ (แต่ที่แน่ๆไม่ใช่พุทธแน่นอน) แต่ใช้ผ้าเหลืองแอบอ้างเป็นพระมาหากินมากกว่า

ไม่ใช่ว่าภาพเขียนแบบนี้จะพึ่งปรากฏนะครับ ในยุโรปก็มีให้เห็นมากมาย ศิลปินอยู่คู่กับสังคม ภาพในยุคสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ จึงมุ่งเน้นถึงการมองและสะท้อนสังคมของจิตรกร ซึ่งอาจจะแตกต่างกับอดีตอย่างยุค บิแซนทีน เรเนอซอง หรือ นีโอคลาสสิค จิตรกรสมัยใหม่อย่าง กูเบต์ ซึ่งผลงานสะท้อนความจริงของเขาทำให้มีชื่อเสียงในฝรั่งเศสว่าเป็นจิตรกรเพื่อสังคมอย่างแท้จริง และเป็นผู้ที่ศึกษาปรัชญาการเมือง เป็นนักปราชญ์ที่เสนอมุมมองผ่านทางภาพเขียน ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นขุนนาง และผู้มีฐานันดรสูงกับ ชาวบ้านที่ต้องอดอยาก อยู่อย่างแร้นแค้นทำให้เราสามารถมองเห็นความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจน จิตรกรจึงเป็นผู้นำทางความคิดของฝรั่งเศสจนนำมาสู่การปฏิวัติ ผมคิดว่าจิตรกรในยุคสมัยใหม่จะมีอัตลักษณ์ที่เน้นความเป็นปัจเจกและกล้าที่จะสะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมาผ่านสุนทรียศาสตร์จนมีความงามโดยสมบูรณ์ทั้งองค์ประกอบและเนื้อหา

แต่ภาพนี้อาจไปขัดระบอบทางสังคมแบบจารีตประเพณีนิยมในสังคมไทย ที่เห็นสมณะเป็นผู้มีฐานันดรสูงที่มิอาจก้าวล่วงได้ เพราะ “ศักดิ์สิทธิ” “สูงส่ง” จนห้ามแตะต้อง จิตรกรที่แสดงนาฏลักษณ์แบบกระจกเงาสะท้อนอัตลักษณ์ จึงถูกแบนอย่างไร้ซึ่งเหตุและผล การที่ให้คนนอกเป็นผู้สะท้อนความเป็นตัวตน ทำให้คนในอย่างพระสงฆ์ถึงกับอึ้งจนแทบพูดอะไรไม่ออก ภาพลักษณ์ที่เคยถูกมองไม่ดีจึงบ่นปี้ไปกันใหญ่ บาปบุญจึงเป็นอำนาจเพื่อควบคุมให้ข้อเท็จจริงถูกผลิตขึ้นชอบธรรมขึ้นมา วาทกรรมที่อำพราง จึงถูกกระบวนการทำให้เปลี่ยนรูป บิดเบือน เลือกสรร ที่จะนำเสนอ ของผู้มีอำนาจ ที่อยากจะลดทอด รูปส่วน ให้เป็นไปในทางที่ต้องการ ความเป็นจริงในสังคมจึงมิได้สะท้อนออกมาอย่างเปิดเผย แต่กลับแปรรูปให้บิดเบือนจากความเป็นจริง จนเสมือนหนึ่งว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจริง อันนี้แหละครับ มายาคติของจริง

มายาคติของพระสงฆ์ที่มีภาพลักษณ์นักบวชผู้ใจบุญ ผู้แสวงหาทางธรรมเพื่อบรรลุสู่ความเป็น นิพาน จึงไม่อยากจะสูญเสีย หรือลดความน่าเลื่อมใสลง เพียงเพราะความเป็นจริงบางส่วนที่ถูกนำเสนอมีผลกระทบต่อสถานะภาพและบทบาทที่เป็นอยู่ ภาพลวงตา จึงเกิดขึ้นและถูกผลิตซ้ำจนเป็น วาทกรรมอำพราง ไปโดยปริยาย ภาพเขียนที่สะท้อนความเป็นจริงทางสังคมจึงถูกกีดกันเพราะเห็นว่าเป็นเพียงความไม่เหมาะสม l

จึงทำให้ผมไม่แปลกใจว่าทำไมผู้ที่ออกมาต่อต้านเป็นพระ สงสัยคงเพราะยอมรับความเป็นจริงไม่ได้ ? หรือ ไม่อยากยอมรับ?เลยไม่อยากให้เผยแพร่ ผมคิดว่าเมื่อภาพนี้ได้บังเกิดขึ้นแล้วจะทำให้พระสงฆ์(ทั้งแท้และเทียม) ได้ตระหนักถึงการรื้อถอนโครงสร้างกันใหม่ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ผมว่ามันก็เสื่อมทรามพอแรงอยู่แล้ว พระลุ่มหลงในรูปวัตถุ(มากกว่าสภาวธรรม) พระในคราบนักอวิชชาธุรกิจพุทธพานิชย์(โดยใช้บทบาทสถานะภาพมาเป็นเกราะกำบัง) จนกลายเป็นเรื่องสีเทาของกลุ่มวงการผ้าเหลือง

ผมในฐานะฆราวาสทำจึงมิอยากให้เรายึดติดกับภาพลักษณ์ที่ใช้มายาคติมอง แต่ลองมองให้เห็นถึง สัจจะ หรือความจริงที่เกิดขึ้นนั่นเอง

Unknown said...

สุดยอดกันทั้งนั้น

ต้องรีบเขียนภาคจบของ "วัตนธรรมทางการเมือง" ซะแล้ว

Anonymous said...

เศรษฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์คืออะไร? ว่าด้วยมุมมองในแง่คนทั่วไปคงเข้าใจว่าเป็นการศึกษาในเรื่องเงินๆทองๆเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความหมายของมันลึกล้ำกว่านั้นมากมาย

วิชาที่ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์นั้นมีความหมายถึง “การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชากรโลก” การจัดการสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นก็คือหัวใจของศาสตร์แห่งความพอเพียงอีกด้วย แต่จากการอธิบายทฤษฏีต่างให้เข้าใจร่วมกันได้ง่ายก็ต้องมีมูลค่ากลางที่ทุกคนเข้าถึงได้นั่นก็คือเงินตรา

ทางเศรษฐศษสตร์แล้วนั้น แบงค์หรือเงินไม่มีค่า มูลค่าของตัวมันเองจะสะท้อนจากสิ่งที่นำมาเปรียบให้เป็นมูลค่า เช่น แรงงาน หิน ดิน ทราย ดังนั้นสำหรับเศรษฐศษสตร์ทุกสิ่งจึงมีค่าและไม่มีอะไรฟรีในโลก

จหลายคนคงเข้าใจหลายอย่างที่กล่าวถึงวิชานี้อย่างไม่เข้าใจนัก เช่น พฤติกรรมความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ซึ่ง อดัม สมิธ บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวไว้ในลักษณะนี้จริง แต่นั่นก็เพราะเศรษฐศาตร์แห่งความเป็นจริงนั้นโหดร้าย

เพราะศาตร์นี้เป็นศาสตร์เดียวที่ได้ดึงทรัพยากรทุกอย่างในโลกมาแปรเป็นตัวเงินดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว นั่นหมายความว่าเศรษฐศาสตร์ได้สนใจ Welfare ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก (เอาทุกอย่างมาใช้ประโยชน์) เพราะทุกๆครั้งที่มีการจะทำอะไรก็ตาม เราจะคิดเป็นเงินเป็นทองทั้งหมด ดังนั้นทุกคนจึงจะทำทุกสิ่งเพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด (อย่าลืมนะครับว่าไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่รวมถึงจิตใจด้วย โหดร้ายจริงๆ)

แล้วหากเราไม่คิดก้อนหิน ดิน ทราย อากาศเป็นเงินล่ะ?

ก็จะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า social cost หรือ ต้นทุนทางสังคมขึ้น ซึ่งจะถูกตีมูลค่าเป็นตัวเงิน เช่น
นายแดงจะสร้างโรงงานใหม่ นักบัญชีจะวิเคราะห์แค่เพียงค่าวัตถุดิบ ค่าโรงงานเท่านั้น

แต่นักเศรษฐศาสตร์เราจะคิดตั้งแต่มูลค่าที่ก่อให้เกิดความรบกวนต่อชุมชนใกล้เคียง จนถึงระดับนานาชาติ ซึ่งจะทำให้นายแดงต้องพิจารณาสร้างระบบต่างๆที่มีคุณค่าต่อการลดการรบกวนต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ นี่ยังไม่นับรวมถึงการคำนวณ มูลค่าของโรงงานที่ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชน เช่น การสร้างงาน มีศาสตร์ไหนจะเลวร้ายเช่นนี้บ้าง

ถ้าจะยกทฤษฏีให้ละมุนกว่านี้หน่อยคงต้องให้ทำความรู้จักกับ “ทฤษฏีเกม” โดย จอนห์ แนช นำมาประยุกต์ใช้และอธิบายในเชิงเศรษฐศาสตร์ เป็นการแสดงถึงความเห็นแก่ตัวอย่างมาก แนชอธิบายง่ายๆว่า

“ถ้ามีกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายนัดเดทกัน แล้วผู้ชายทุกคนเน้นเล็งเฉพาะผู้หญิงที่สวยที่สุดในกลุ่ม ผลจะกลายเป็นว่าผู้ชายทุกคนจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ (สวยเลือกได้ หยิ่ง) แต่หากผู้ชายทุกคนร่วมมือกัน ไม่แย่งกันและจัดสรรกันอย่างเป็นระบบ ทุกคนจะสามารถจับคู่ของตัวเองได้ “เราเรียกพฤติกรรมเห็นแก่ตัวนี้ว่า Non-Zero sum game ซึ่งเหล่านักบริหารนำไปเรียบเรียงเป็นกลยุทธ์ win – win strategy คือทุกคนได้ผมประโยชน์หมดแม้จะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในกรณีไม่มีคู่แข่ง แต่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับกรณีมีคู่แข่งน้อยราย หรือ ฮั้วนั่นแหละ
เลวจริงๆ
เศรษฐศาตร์ยังไม่เคยมีความจริงเพียงข้อเดียวอีกด้วย และกระทำกันมานานแล้วจนได้ชื่อว่าเป็นศาสตร์ที่มีหลายมือ (In the other hand,.....)

นั่นก็เพราะนักเศรษฐศาสตร์ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โครงสร้างทางคณิตศาสตร์นั้นเป็นเพียงแบบจำลองที่นำตัวแปรมาอธิบาย ดังนั้นเวลาเราจะอธิบายอะไรเราจะอธิบายบนพื้นฐานที่เราศึกษาเท่านั้น และเราก็จะต่อท้ายเสมอว่างานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้นำเอาปัจจัย a , b มาพิจารณาด้วยเพราะอะไร

ดังนั้นถ้าเหตุการณ์ผิดเพี้ยนไปก็เกิดจาปัจจัยเหล่านี้แหละ เป็นต้น ไม่รับผิดชอบเลย ดังนั้นในการศึกษาเรื่องๆหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์จึงมีหลายมิติ หลายมุมมอง และหลายคำตอบอีกด้วย ช่างมั่วจริงๆ นี่ยังไม่รวมเนื้อหาทางสถิติอีกนะ เพราะไม่ว่าศาตร์ใดๆที่ใช้สถิติ เราจะไม่เคยพบคำตอบที่ถูกต้องร้อยละ 100 ไม่เชื่อไปหาดูได้ครับ เราจะสรุปเป็นความเป็นไปได้เสมอ ซึ่งไม่มีทางถึง อย่างมากก็ 99.9999 สำหรับวงการแพทย์ (อันนี้ยกให้ครับ เอาเยอะก็ดี)

สุดท้าย คาวมแตกต่างระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์กับวิชาทางสังคมศาสตร์อื่นๆ ก็คือการเป็นศาสตร์เดียวในสาขาวิชากลุ่มนี้ที่ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นการเห็นแก่ตัวอย่างมาก

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? สาเหตุเพราะศาสตร์นี้มีความคล้ายคลึงกับวิทยาศาสตร์มากที่สุด มีการตั้งปัญหา กระบวนการวิจัยและศึกษาเป็นไปตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือมีเครื่องมือในการวิจัยชัดเจน และมีการทดลองอีกด้วย

ตอนผมทำวิทยานิพนธ์สิ่งสำคัญก็คือ ห้ามเด็ดขาด ห้ามกลอนพาไป ต้องมีวิจารณญาณและความรับผิดชอบต่องานเขียนอย่างมาก ต้องมีทฤษฏีรองรับเสมอ ดังนั้นผมเชื่อว่า อย่ารวมเศรษฐศาสตร์กับสังคมศาสตร์ง่ายๆครับ ทำความเข้าใจด้วยหนังสือหรือถามนักเศรษฐศาสตร์ใกล้ตัวท่าน

ผมอยากให้ลองอ่านงานของ วรากรณ์ สามโกเศฐ ชุด “โลกนี้ไม่มีอะฟรี” (ขออภัยหากเขียนชื่อผู้แต่งผิด) ซึ่งเป็นแรงบรรดาลใจและคลังความคิดให้ผมเขียนบทความชิ้นนี้ได้แม้จะเป็นเวลางานก็ตาม

ปล. ผมเข้าใจคุณนะเพราะเกษตรด้วยกัน อ.ระพีเคยกล่าวว่าทุกสิ่ง ทุกทฤษฏีเป็นเพียงข้อสมมติ แต่ผมอยากให้เขียนในแนวป้องกันการเข้าใจผิดหน่อย ประเดี๋ยวยิ่งเข้าใจผิดกัน เพราะไม่ค่อยมีใครเข้าใจเศรษฐศาสตร์อยู่ด้วยมาก

ยุ้คกี้จัง เศรษฐศาสตร์ไม่เต็มบาท

Gelgloog said...

บทความน่าสนใจครับยุคกี้จัง

ว่าแต่ใครเรียนเกษตรหรือนั่น ผมไม่เคยเรียนที่เกษตรเลยนะ แหะๆ (หรือว่าจะพูดถึงนายชลเทพหว่า)

ผมเห็นด้วยครับเรื่องที่ว่าอย่าเหมารวมเศรษฐศาสตร์กับสังคมศาสต์แบบง่ายๆ

เพราะว่าด้วยลักษณะที่เป็น Imperailism ของเศรษฐศาสตร์เนี่ย มักจะอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆในเทอมของตัวเองหรือภาษาของตัวเองไปเสียหมด

เช่นเรื่องพฤติกรรมการบริโภคที่ลดรูปให้อยู่ในกรอบอรรถประโยชน์นิยมเท่านั้น โดยหลงลืมมิติอื่นๆของการบริโภค และถึงมีมิติอื่นๆเข้ามา เศรษฐศาสตร์ก็คงอธิบายได้ในรูปแบบของ demand function เท่านั้น

สิ่งที่เห็นก็คือนอกจากเศรษฐศาสตร์จะ "แปลกแยก" กับสังคมศาสตร์อื่นๆในแง่วิธีวิทยาที่อิงกลไกอย่างมากแล้ว มันยังมีแนวโน้มขยายอาณาเขตคำอธิบายไปสู่สังคมศาสตร์แขนงอื่นๆด้วย

และเห็นด้วยครับที่ทุกทฤษฎีมันก็เป็นเพียงข้อสมมติในกรอบหนึ่งๆ ที่จะนำมาสู่อธิบายอะไรบางอย่าง ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณาญาณของเราแล้วล่ะครับว่าจะเลือกอิงกับกรอบไหนอย่างไร

suttiporn said...

ถ้าสนใจเรียนผมว่าหาทุนได้ง่ายครับ แต่ต้องทำการสมัครเรียนพร้อมขอทุนกับแต่ต้องทำเค้าโครงวิทยานิพนธ์ให้น่าสนใจนะครับ แล้วถ้าเขาเห็นความสำคัญเขาก็ให้ทุนนะครับ