Monday, February 04, 2008

American Dreamz ดรี๊ม ดรีม........

สวัสดีคร้าบทุกท่าน........
หายหน้าหายตาไปพักนึงเช่นเคยสำหรับนาย Gelgloog คนนี้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้มิตรรักแฟนเพลงคิดถึงจนขาดใจตายไปเสียก่อนเลยแวะมาทักทายผู้อ่านทุกท่านให้พอเป็นกระสัยเสียหน่อย อะ เหอ
สำหรับคราวนี้ไม่ค่อยมีอะไร update ใหม่แฮะ เพราะผมก็ยังว่างงานเช่นเดิม ที่สมัครอาจารย์ไว้ที่ มข ก็เลื่อนไปเป็นเดือน เมษายนโน่น ส่วนที่ ม แม่ฟ้าหลวงก็พึ่งสมัครไปได้ซักพักไม่รู้เค้าจะว่ายังไงกับผมมั่ง ชีวิตคนว่างงานมันช่างไร้แก่นสารเสียจริง เอิ๊กๆ
ดังนั้นชีวิตในตอนนี้ผมก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ครับนอกจากอ่านการ์ตูน การ์ตูน และการ์ตูน ฮ่าๆ ซึ่งช่วงนี้มีหลายเรื่องน่าสนใจมาแนะนำให้อ่านกันครับ
1. ยุทธภูมิกระเพาะเหล็ก ค่ายบูรพัฒน์ - อ่านเรื่องนี้แล้วอารมณ์รายการทีวีแชมเปี้ยนเลยทีเดียว เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักกินจุครับ รับรองอ่านแล้วกระเพาะต้องโครกครากอย่างแน่นอน
2. ปิดเกาะปฏิวัติ ค่ายวิบูลย์กิจ - เล่มนี้โดนมากครับออกมาสองเล่มแล้ว เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการประแยกแยกตัวจากประเทศญี่ปุ่นของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่เพื่อนของเค้าได้ตายไปอย่างมีเงื่อนงำโดนเบื้องหลังก็คือรัฐบาลของประเทศนั่นเอง
3. ฮันไซ ค่ายอะไรน้อจำไม่ได้ - เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับการทำอาหารครับ พระเอกเรื่องนี้จะเน้นทำอาหารง่ายๆถูกๆ แต่มากด้วยความอร่อย ถือเป็นการฉีกแนวการทำอาหารออกไปอีกขั้นทีเดียว
4. หลุดโลก restuarant ค่ายวิบูลย์กิจ - เรื่องนี้ฮามากครับ ผิดเผินเหมือนลายเส้นจะออกแนวการ์ตูนผู้หญิง แต่อ่านไปรับรองติดสนั่นครับ เป็นเรื่องราวของกิจการร้านอาหารฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่กลางทุ่งสุสาน ห่างไกลจากย่านที่มันควรจะอยู่เป็นอย่างยิ่ง พร้อมด้วยเจ้าของร้านสันดานเสีย และบริกรขารั่วที่คอยขยันมาเติมความฮาไม่รู้จบ อันนี้ 6 เล่มจบนะครับ
5. คุณหมาปัญหาเยอะ ค่ายวิบูลย์กิจ - การ์ตูนหมาๆ แต่เกี่ยวกับป๋า ซึ่งจริงน่าจะตั้งชื่อว่าคุณป๋ามันหา (เรื่องหมา) เยอะซะก็หมดเรื่องหมดราว เรื่องนี้ขำมากครับเป็นการ์ตูนที่เน้นความสัทพันธ์ระหว่างมนุษย์ โดยมีหมาเป็นตัวชูโรงสร้างความขำขัน อ่านแล้ววางไม่ลงเช่นกัน เรื่องนี้ 16 เล่มจบครับ
จริงๆยังมีอีกหลายเรื่องแฮะ แต่ดันนึกไม่ออกซะนี่ไว้จะทยอยมาบอกเล่าเก้าสิบเรื่อยๆนะครับ และอย่าลืมติดตามการรีวิวเกี่ยวกับการ์ตูนแบบยาวๆของผมใน gelgloog ณ bloggang ด้วยเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน.....
พักจากเรื่องการ์ตูนมาที่มุขประจำของผมดีกว่าครับ เช่นเคย คราวนี้ผมก็มีบทความที่พึ่งเขียนได้ไม่กี่วันมาให้อ่านกันครับ คิดว่าหลังจากบทความชิ้นนี้ ชิ้นต่อๆไปจะทำเป็นซีรี่ย์ไปโลด เกี่ยวกับดูหนัง-ละคร แล้วย้อนมองเศรษฐศาสตร์ โอวว (จะรอดไปได้กี่เรื่องวะเนี่ย ฮ่าๆ) อันนี้ก็ต้องติดตามต่อไปนะครับว่าหนังเรื่องต่อไปที่จะมาเป็นเหยื่อสังเวยคมเขี้ยวผมจะเป็นเรื่องใด....
ว่าแล้วเชิญทัศนาได้ครับ
------------------------------------------
ดูหนัง – ละคร แล้วย้อนมองเศรษฐศาสตร์ ตอน American Dreamz ดรี๊ม ดรีม.......

มุมมองบ้านสามย่าน : นรชิต จิรสัทธรรม กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551

ลองคิดถึงประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้ที่ไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ แต่กลับส่งทหารในประเทศออกไปรบที่อื่นอย่างไร้เหตุผล และยิ่งไปกว่านั้น ผู้คนในประเทศต่างพากันสนใจลงคะแนนให้กับ ดารา (idol) ในรายการเรียลลิตี้โชว์ที่มีชื่อเสียง มากกว่าการออกไปใช้สิทธิ์เลือกประธานาธิบดีคนต่อไป (เท่านั้นยังไม่พอท่านประธานาธิบดีนี่แหละตัวดีที่ติดรายการเรียลลิตี้จนงอมแงมสุดๆ)

ที่เกริ่นมาคือ Tagline ของหนังเรื่อง American Dreamz (แต่ที่อยู่ในวงเล็บน่ะผู้เขียนเพิ่มเองล้วนๆ) ของผู้กำกับ พอล วิทซ์ ซึ่งเป็นหนังคอมเมดี้เสียดสีการเมืองอเมริกา และรายการ American Idol ที่ถือเป็นรายการร้องเพลงเรียลลิตี้ที่ผู้คนติดกันเกรียวกราว โดยเรื่องราวโฟกัสไปที่ มาร์ติน ทวีด (รับบทโดย ฮิวจ์ แกรนท์) พิธีกรรายการ อเมริกันดรีมส์ ชื่อกระฉ่อน ที่มีนิสัยเป็นคนไม่แยแสผู้ใดทั้งสิ้นนอกจากตัวเอง โดยในซีซั่นใหม่นี้เขาได้พยายามเฟ้นหาผู้เข้าร่วมรายการที่แปลกใหม่ แหวกแนวกว่าที่เคย จนได้ผู้เข้ารอบสุดท้ายสองคน ได้แก่ แซลลี่ (แมนดี้ มัวร์) สาวน้อยที่อยากเด่นอยากดังเสียเหลือเกินจนแทบไม่เลือกวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการหลับนอนกับพิธีกร หรือหลอกใช้แฟนของตัวเองเพื่อสร้างความนิยมให้กับผลโหวต รวมถึง โอเมอร์ (แซม โกลซารี่) เด็กหนุ่มชาวอาหรับจากค่ายทหารของผู้ก่อการร้ายที่รักเสียงเพลงเป็นชีวิตจิตใจ แต่กลับถูกองค์กรส่งเข้าร่วมรายการดังกล่าวด้วยเจตนาร้ายแอบแฝง

นอกเหนือจากนั้นยังมีตัวละครที่คอยสร้างสีสันอีกมากไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดีจอมต๊อง (รับบทโดยเดนนิส เควด) ที่ดูจะปิติเสียเหลือเกินกับการเป็นกรรมการของรายการอเมริกัน ดรีมส์ ในรอบสุดท้าย รวมไปถึง คริสต์ ไคลน์ ที่รับบทเป็นแฟนหนุ่มที่มีความรักคงมั่นต่อแซลลี่ จนตายแทนกันได้ (และก็ตายจริงๆเสียด้วย........)

ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำการล้อเลียนสังคมอเมริกันโดยสร้างเรื่องราวขำขันดังที่เกริ่นไว้ในตอนต้น แต่เมื่อผู้เขียนได้ดูแล้วกลับขำไม่ออก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องสะท้อนโลกความเป็นจริงได้อย่างเจ็บแสบ เช่น ในขณะที่ประเทศของตนส่งทหารให้ไปรบ ไปตาย (รวมถึงไปฆ่าคนอื่นตาย) ในสงคราม เพื่อประโยชน์บางประการ แต่ผู้คนในประเทศกลับหน้ามืดตามัวหลงใหลรายการเรียลลิตี้และความบันเทิง โดยไม่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นข้างนอก เท่านั้นไม่พอ ประธานาธิบดีในเรื่องนี้ยังปัญญานิ่มสุดๆ จนขนาดที่ว่าไม่เคยมีความคิดของตัวเองเลย และการกระทำทุกอย่างของเขานั้นก็ถูกชักใยโดยผู้ช่วยหมายเลขหนึ่งตลอดเวลา
นอกเหนือจากการเสียดสีสังคมอเมริกันโดยผ่านการเล่าเรื่องแบบคอมเมดี้แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีชั้นเชิงในการเสียดสีอุดมการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจ เช่น อุดมการณ์ทุนนิยมและเสรีนิยม (capitalism - liberalism) ของอเมริกาที่ครอบงำพวกเราอยู่ ซึ่งได้รับการเผยแพร่ผ่านองค์ความรู้สมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (mainstream economics)

อุดมการณ์ครอบงำที่เรากำลังพูดถึงอยู่นั้น คือ ความคิดในเรื่องของการเสนอทฤษฎีที่ตั้งสมมุติฐานเบื้องต้นว่าปัจเจกชนในฐานะเศรษฐกิจ มีเหตุมีผลที่สมบูรณ์ (perfect rationality) และสามารถเลือกกระทำการต่างๆ ได้อย่างเสรีโดยมีเหตุผลเป็นตัวคอยกำกับ รวมไปถึงตัวบททฤษฎียังได้พยายามพิสูจน์ผลลัพธ์อันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจในตลาดเสรีนั้นว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ไปจนถึงการนำเสนอตัวแบบความทันสมัย (modernization) ว่าจำกัดอยู่เพียงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นลำดับขั้น โดยที่ขั้นสมบูรณ์สุดท้าย คือระดับความอุดมสมบูรณ์ที่ประชาชนมีการบริโภคกันอย่างสมบูรณ์ถ้วนหน้า มีสภาพการจ้างงานเต็มที่ และประชาชนมีความมั่นคง (high mass consumption stage) ทั้งหมดได้แสดงให้เห็นถึงพลังของอุดมการณ์ของทุนนิยมเสรี ที่เชื่อมั่นในความจำเริญทางวัตถุ พลังแห่งระบบตลาด และความมีเสรีภาพ (ร่วมด้วยความมีเหตุผล) ในการดำเนินการและการกระทำของหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ อันเป็นกลไกสำคัญที่พึงจะนำสังคมไปสู่ความผาสุกได้

การเสียดสีการครอบงำเชิงอุดมการณ์ดังกล่าว ได้รับการนำเสนอผ่านตัวละคร โอเมอร์ เด็กหนุ่มชาวอาหรับที่มีความแค้นกับอเมริกาอย่างใหญ่หลวง เพราะผู้เป็นแม่ของเขาได้เสียชีวิตจากการจู่โจมของทหารอเมริกา ทำให้เด็กหนุ่มต้องเข้าร่วมกับองค์กรผู้ก่อการร้าย แต่สุดท้าย เมื่อโอเมอร์ได้มาสู่อเมริกา เขากลับหลงระเริงกับความสุขในแบบบริโภคนิยมและการประกวดร้องเพลงจนละทิ้งเป้าหมายในการล้างแค้นเสียสิ้น การหักเหของตัวละครนี้ได้แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของอุดมการณ์เสรีในแบบอเมริกันดรีมที่มีพลังเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง การไขว่คว้าตามหาฝันในดินแดนแห่งเสรีภาพเป็น “ความจริง” ที่เกิดขึ้นได้เสมอ แม้กับเด็กหนุ่มจากองค์กรก่อการร้ายที่เต็มไปด้วยความคั่งแค้นและมุ่งแต่จะสังหารประธานาธิบดีในตอนแรก

ถ้าพิจารณาตามแรงจูงใจเบื้องต้นแล้ว ความมุ่งมั่นในตอนต้นของโอเมอร์น่าจะมีความขัดแย้งกับอเมริกันดรีมในมิติเชิงอุดมการณ์เป็นอย่างมาก แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็นว่า พลังแห่งอเมริกันดรีมได้ค่อยๆละลายซึมลึกเข้าไป กลืนความคิดเด็กหนุ่มจนโอเมอร์กลายเป็นผู้ที่มีมรรคปฎิบัติเยี่ยงวิถีอเมริกันชนคนหนึ่งในที่สุด
นอกจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีมุมมองที่เจ็บแสบต่อกระบวนการที่ทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้าของระบบทุนนิยม โดยเฉพาะในกรณีของรายการเรียลลิตี้ที่มีกระบวนการทำชีวิตให้กลายเป็นสินค้า (ถ้าจำไม่ผิดผู้เขียนเคยพูดถึงประเด็นดังกล่าวในเรื่องอคาเดมี แฟนเทเชียแล้ว) แต่ในหนังเรื่องนี้ กระบวนการดังกล่าวได้หนักข้อขึ้นไปอีก โดยในตอนจบของภาพยนตร์ที่เฉลยว่าใครเป็นผู้ชนะผลการโหวตในซีซั่นล่าสุด ซึ่งปรากฏว่าเป็นแฟนหนุ่มของแซลลี่ที่ถูกระเบิดตายคาที่ แต่ชนะใจผู้ชมด้วยความรักมั่นจริงใจแบบสุดๆ (ในขณะที่พิธีกรรายการตายไป กลับไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่) ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมแข่งขันเลย แต่ใครเล่าจะสนใจกับรายละเอียดด้านเทคนิคเช่นนั้น เพราะถ้าหากมีความเป็นไปได้ที่นามธรรมเช่นความตายสามารถแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าได้ แน่นอนว่าย่อมไม่รอดพ้นสายตาและการแสวงหากำไรของระบบทุนอย่างแน่นอน แม้แต่ความตาย ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของวัฏจักรชีวิต ก็ไม่อาจหลีกหนีสัจธรรมข้อนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนเห็นพ้องกับการระเบิดพลีชีพของผู้ก่อการร้ายว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือทุนนิยมเสรีเป็นผู้ร้ายในทุกเรื่อง หากแต่ต้องการให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของความคิด ทัศนคติ และมโนทัศน์ที่ถูกเก็บซ่อนไว้อยู่ และเราอาจลืมสังเกตไป

ฉากจบในภาพยนตร์ได้ตัดกลับมายัง โอเมอร์ ที่ได้เป็นนักร้องสมใจ และคงลืมการแก้แค้นไปอีกตลอดชั่วชีวิตของเขา ส่วนแซลลี่ หลังจากซาบซึ้ง (แบบปลอมๆ) ต่อการจากไปของแฟนหนุ่มให้ผู้ชมดู สาวน้อยแสบใหญ่นั้นก็สมใจได้เป็นพิธีกรรายการอเมริกันดรีมส์ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ของตนให้ดูดีจากความจริงใจและความตายของแฟนตนได้อย่างหน้าตาเฉย ก่อนกล้องตัดไปยังโฉมหน้าผู้เข้าแข่งขันในซีซั่นใหม่ที่ได้ปรากฏตัวต่อหน้าผู้ชมทุกคน

แล้ววัฏจักรก็หมุนเวียนต่อไป.............


8 comments:

sweetnefertari said...

แหม่ เล่าซะ...

ไม่ต้องไปดงไปดูมันละ

เล่ามันถึงตอนจบเลยนะพี่น้อง

Anonymous said...

คุณ gelgloog ขอบคุณที่ไปคอมเมนต์ในบล็อกผมนะครับ
โทษทีครับ

เรื่อง "ฮันโซ ยอดกุ๊กอัจฉริยะ" ของสำนักพิมพ์ TKO Comics ครับ
รวมถึง PS ราโชมอน โรงพักใจนักเลง ด้วยครับ

"ยุทธภูมิกระเพาะเหล็ก" ของบูรพัฒน์ได้ยินเสียงร่ำลือมานานแล้ว
แต่ยังไม่ได้อ่านเลยครับ

ยังไงฝาก "แอร์ฯ สุดซ่าส์ นางฟ้าสุดแสบ" ไว้อีกเรื่องครับ

sweetnefertari said...

งั้นฝาก "อุซางิ", "Papillon", "7 seeds" ด้วยนะคะ ฮุฮุ

Anonymous said...

อือ การ์ตูนส่วนใหญ่ รู้สึกเรืองของกินทั้งนั้นเลยนะพี่

Anonymous said...

ข้างบนความเห็นผมนะ

Unknown said...

ขยัน



ขยัน




(อ่านการ์ตูน)


จังพี่เรา


555

แซวเล่น

เดี๋ยวซักพักจะแซวจริง

Gelgloog said...

โดนแซวแหลกเลยแฮะกรู อิอิ

Anonymous said...

คราวหน้า ช่วย mentioned ว่า บทความนี้มีการ เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ ด้วยนะครับ T-T

นัท