Saturday, May 27, 2006

สัพเพเหระเรื่องการ์ตูน



วันนี้มาคุยเรื่องเบาๆกันบ้างดีกว่า

คิดว่าหลายๆท่านเองที่แวะเวียนเข้ามาใน blog นี้คงเคยอ่านหรือเคยชมการ์ตูนไม่มากก็น้อย สำหรับตัวผมเองพูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่าชีวิตผูกพันกับการ์ตูนมาก กล่าวคือจำความได้ต๊อกแต๊กๆ ก็เริ่มอ่านเริ่มดูการ์ตูนแล้วมั๊ง หรือไม่ตอนเช้าๆก็ต้องรีบตื่นมาเปิดช่องเก้าการ์ตูน เป็นรายการเดียวจริงๆ ที่ทำให้เด็กอย่างเราตื่นเช้าได้

ยังไม่จบแค่นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับการ์ตูนยิ่งแนบแน่น แนบสนิทขึ้นเรื่อยๆ สมัยเด็กๆนี่ต้องถึงกับเก็บเงินค่าขนมไว้ซื้อการ์ตูนรายสัปดาห์ คิดไปคิดมาก็นะ โดนมอมเมาด้วยการ์ตูนทั้งแต่เด็กเลยแฮะ ฮ่าๆ

สำหรับคนยุครุ่นๆผมแล้ว น่าจะบแบ่งการ์ตูนออกได้เป็นสองช่วงใหญ่ๆนะ ช่วงแรกก็น่าจะเป็นช่วงที่การ์ตูนไม่มีลิขสิทธิ์เบ่งบาน คงประมาณตอนผมอยู่ประถมล่ะมัง จะมีการ์ตูนรายสัปดาห์จำพวก The Talent, Animate หรือ NOVA ออกมาเขย่ากระเป๋าเงินได้ทุกอาทิตย์ จำได้ว่าตอนไปเรียนพิเศษสมัยเด็กๆนี่ผมยืนรอหน้าร้านเลยนะ การ์ตูนรวมเล่มนี่มาแบบฮาร์ดมากโดยเฉพาะพวกหมึกจีนนี่ไม่ต้องสืบ อ่านให้ตายกันไปข้างเลยครับ แต่ละเล่มนี่หนาโคตรๆ

แต่ไม่ใช่ว่าในยุคนั้นการ์ตูนลิขสิทธิ์จะไม่มีนะครับ เรายังสามารถเห็นพวก Viva Friday หรือการ์ตูนปกสองชั้นที่เป็นลิขสิทธิ์ของวิบูลย์กิจอยู่ประปราย ผมว่าบ้านเมืองเรายังไม่บ้านป่าเมืองเถื่อนขนาดนั้น เพียงแต่การ์ตูนไร้ลิขสิทธิ์นี่มันทำมาค้าคล่องจริงๆผับผ่าสิ

ต่อมาการ์ตูนจำพวกไม่มีลิขสิทธิ์เริ่มไร้ที่อยู่ บวกกับการอุบัติขึ้นของ BOOM กับ C-Kids ซึ่งไปกว้านซื้อพวกการ์ตูนเรื่องเจ๋งๆ กลั่นๆ มาทั้งนั้น ทั้งดรากอนบอลเอย กัปตันซึบาสะเอย โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ลัคกี้แมน ฯลฯ เล่นเอาการ์ตูนไม่มีลิขสิทธิ์หมดแผ่นดินอยู่ไปโดยปริยาย แต่ก็ยังเห็นแซมๆมาบ้างนะครับ คงยากนะสำหรับเมืองไทยที่จะปราบพวกนี้ให้หมดไปร้อยเปอร์เซ็นต์

คราวนี้การ์ตูนไร้ลิขสิทธิ์นี่มาแนวใหม่เลยครับ ไปจับเอาการ์ตูนพวกติดเรทหน่อยๆ การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่มาทำขายกัน เล่นเอาคนอ่านวูบวาบหายใจไม่ทั่วท้องกันเลยทีเดียว แต่ก็มีประเภทที่โจ๊งครึ่มไปเลยก็มีนะ เล่นทำเอาตกใจเลยว่า เห้ย การ์ตูนญี่ปุ่นนี่มันมีแบบฮาร์ดๆ ขนาดนี้เลยหรอวะนั่น!! น่าเป็นห่วงเหมือนกันครับสำหรับบ้านเมืองเราที่กฎหมายเกี่ยวกับการควมคุมสื่อต่างๆยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก น่ากลัวจะไปเจอเด็กอนุบาลเดินไปซื้อเข้าซักวัน คงฮาร์ดน่าดู

สำหรับผมก็มีพฤติกรรมการบริโภคการ์ตูนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สมัยเด็กๆ นี่ใช้เก็บหอมรอบริบซื้อเอาครับ สะสมจนล้นบ้าน ล้นทะลักเต็มไปหมด ใส่ลังแล้วลังเล่าก็ยังไม่หมด การ์ตูนรายสัปดาห์นี่ไม่ต้องบอกเลยฮะ ซื้อแม่งทุกสัปดาห์ไม่เคยเว้น จนกองเป็นตั้งๆเลย

แต่พอช่วงหลังตั้งเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยพฤติกรรมผมเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดมากๆ กล่าวคือลดการซื้อการ์ตูนลงเยอะเลยทีเดียว สาเหตุแรกสำคัญก็อยู่ที่ราคาค่างวดการ์ตูนเล่มหนึ่งมันแพงเอาแพงเอา จากเล่มละ 25 บาทไปเล่มละ 30 บาทยังไม่พอตอนหลังยังขึ้นไปที่ 35 – 40 บาท ยิ่งตอนนี้การ์ตูนใหม่ๆเล่มละ 45 บาทก็มีนะเอ้อ ลองคิดเล่นๆ ถ้าจะวัด comics price index สงสัยตัวเลขคงออกมาโอ่อ่าน่าดู เอาเป็นว่า inflation มีเกิน 10 เปอร์เซ็นต์แหงมๆ (อันนี้คิดเล่นๆ ใครว่างๆ หรือสนใจจะลองหาข้อมูลมาคำนวณดูก็ตามสะดวกเลยนะครับ ผมสนับสนุนเต็มที่เลย เพราะก็อยากรู้เหมือนกัน คิดว่าลำพังมองตัวเลขแค่นี้คงจะหยาบไป) เพราะหนังสือการ์ตูนนี่ขึ้นทีละ 5 บาทครับ ต่ำกว่านี้ไม่ต้องพูดถึง เหอ เหอ

ราคาการ์ตูนแพงขึ้นทุกวันๆ แต่ purchasing power นี่ย่ำต๊อกอยู่กับที่ สรุปก็เลยต้องไปเน้นเช่าการ์ตูนเอาครับ ต้องขอบคุณประเทศไทยจริงๆ ที่มีกิจการให้เช่าการ์ตูนเปิดอยู่มากมาย โอ้ย ไอ เลิฟ ไทยแลนด์

อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเช่าเอา เพราะการ์ตูนที่อ่านนับวันมันยิ่งเยอะขึ้นๆ แถมบางทีไอ้เรื่องเก่าๆที่อ่าน มันก็ไม่ยอมจบซักกะที มันเลยหมักหมมพอกพูนขึ้นทุกวัน เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วเช่าเอาดีกว่าครับ แล้วก็เลือกเก็บเฉพาะบางเรื่องที่เราชอบจริงๆ

หรือบางทีก็กระทำตัวเยี่ยงกาฝากครับ คอยไปเป็นพวก free rider ไปไถเพื่อนฝูงให้มันด่าเล่น ซึ่งก็ได้ผลนะครับ ยอมโดนแม่งด่าหน่อย แต่กูได้อ่านการ์ตูนไม่เสียตังค์ เอ้อ คุ้มหวะ หึหึ (หัวเราะอย่างผู้ชนะ)

ที่ผมอยากรู้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในส่วนของกิจการเปิดให้เช่าการ์ตูนเนี่ย ประเทศอื่นเค้าจะมีกันมั๊ยน้อ แต่เท่าที่เคยคุยกับคนที่อยู่เมืองนอกเค้าก็บอกว่าไม่มีกันนะ เห็นจะมีเมืองไทยนี่แหละ เปิดกันเป็นล่ำเป็นสันเลย เอาแค่แถวบ้านผมนี่ก็ปาเข้าไป สี่ซ้าห้าร้านแล้ว เลือกเช่ากันเต็มไปหมด บางร้านที่คนเช่าเยอะๆนี่เป็นห้องแถวสองห้องเลย ขอบอก ขอบอก


ถ้าจะให้ผมมอง ก็คงเป็นเพราะว่าสำหรับบ้านเมืองเราแล้วระบบกรรมสิทธิ์มันไม่ได้หยั่งรากฝังลึกติดหนับเสียเท่าไหร่นัก แม้นว่าเราจะเดินหน้าการพัฒนาตามแบบทุนนิยม แต่บางปรากฏการณ์มันก็แสดงให้เห็นว่าเรายังมีลักษณะอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับระบบดังกล่าวไปเสียทั้งหมด เอกลักษณ์แบบไทยๆนี่เวิร์ลคลาสจริงๆ ผับผ่า

อีกอย่างก็คงเป็นที่นิสัยง่ายๆ สบายๆ ของคนไทยด้วยแหละครับ อารมณ์ประมาณว่าจะให้เช่าก็เช่าไปเถอะ แต่อย่ามาลักไก่เอาการ์ตูนลิขสิทธิ์กูไปพิมพ์ขายก็แล้วกัน ถือว่าไม่เกี่ยวกัน ของแค่นี้หยวนให้

สำหรับผมชอบนะ ที่เป็นแบบนี้ ตกเย็นเดินเข้าร้านเช่าการ์ตูนหยิบมาซักห้าหกเล่ม จ่ายเงิน เอากลับมานอนอ่านที่บ้าน หลับสบาย........มีความสุขจริงๆ

แต่ถ้าจะให้มองจริงๆ ระบบตรงนี้ผมว่าก็น่าจะทำให้เข้มงวดไปเลย เช่นอาจจะแบ่งไปเลยว่านี่คือการ์ตูนที่ใช้สำหรับเช่า ซึ่งเอาไว้ขายให้ร้านเช่าการ์ตูนซื้อไปไว้ให้ลูกค้าเช่า อีกอันก็คือการ์ตูนสำหรับขาย ไว้ให้คนทั่วไปซื้อเก็บสะสม เสร็จแล้วก็จัดแจงตั้งราคาให้ต่างกันซะ ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย

ปากดีไปงั้นแหละครับ ใจจริงก็ไม่อยากให้มันเป็นแบบนี้หรอก ถ้าเป็นงั้นจริงราคาเช่าการ์ตูนจะพาลแพงขึ้นอีกอะดิ แบบนี้ไม่ดีเป็นแน่แท้

วันนี้เขียนมาแบบไร้ประเด็นเรื่อยเปื่อยดีแฮะ สำหรับตอนนี้คงเป็นอะไรที่เกริ่นๆมากกว่าครับ ผมคิดเอาไว้แล้วว่าตอนหน้าจะมาพูดเรื่องการ์ตูนกันอีกครั้ง อาจจะเป็นการรีวิวการ์ตูนแบบสั้นๆ หลายๆ เรื่องดูซิว่าเราจะชอบเรื่องเดียวกันหรือเปล่า

วันนี้ต้องขอลาที เพราะได้เวลาต้องเอาการ์ตูนไปคืนแล้วครับ อิอิ

ป.ล.

สำหรับคนที่อยากอ่านการ์ตูนก็เชิญที่นี่เลยครับ เป็น blog ของพันทิปที่ผมเปิดไว้เขียนรีวิวการ์ตูนโดยเฉพาะ พึ่งเขียนไปไม่กี่ตอนเองครับ เลยมาโปรโมทซะหน่อย ฮ่าๆ

Monday, May 15, 2006

ทุนนิยมและการแข่งขัน : ข้อคิดจาก The Apprentice



ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน หนังสือ “The Great Transformation” ของ Karl Polanyi ได้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก โดยสาระสำคัญก็คือพูดถึงการอุบัติขึ้นของภาวะสมัยใหม่ (Modernity) ซึ่งสิ่งที่ Polanyi ได้นำเสนอคือ การที่ระบบตลาดได้สถาปนาตนเองไปทั่วทุกอณูของสังคม และแทนที่ตลาดจะเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางสังคม แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความสัมพันธ์ทางสังคมกลับกลายไปเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกตลาดหรือระบบเศรษฐกิจดูดกลืนกินเข้าไป ทำให้ตลาดแนบแน่นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเราแนบแน่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (เหมือนผ้าอนามัยโลริเอะเลย ฮ่าๆ) แม้แต่ “คน” ที่มีชีวิตจิตใจ เมื่ออยู่ในตลาดก็กลับโดนปฏิบัติเฉกเช่นสินค้าทั่วไป พลังแรงงานไม่ได้มีค่าอะไรไปมากกว่าสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันในตลาด

แต่เมื่อย้อนกลับมาดูสภาวะปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่เพียงพลังแรงงานเท่านั้นที่ถูกทำให้เป็นสินค้าและแลกเปลี่ยนกันในตลาด แต่มันเกินเลยไปถึงการเอา “ชีวิต” และ “จิตใจ” มาผ่านกระบวนการทำให้กลายเป็นสินค้า ร่างเนื้อและจิตใจของมนุษย์ กลายเป็นหนึ่งในความบังเทิงรื่นเริงใจ ปิดบังซ่อนเร้นความสัมพันธ์เชิงขูดรีดที่ยังคงดำรงอยู่ของระบบทุน กลายเป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนจะเป็นธรรมดาไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือบรรดารายการ Reality Show ต่างๆ ที่พากันแห่ยกทัพดาหน้ามาให้เราได้รับชมกันนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรายการยุคแรกๆอย่าง Survival หรือจะเป็นรายการ Big Brother ทาง UBC ที่คนกำลังติดกันงอมแงมขณะนี้ ซึ่งแต่ละรายการต่างก็มี concept ที่แตกต่างกันไป จับคนไปอยู่ป่าบ้าง จับมาหัดร้องรำทำเพลงบ้าง จับให้มาอยู่ด้วยกันแล้วมีโจทย์ให้ทดสอบบ้าง แต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมเดียวกันคือรายการเหล่านี้ล้วนขาย “ชีวิต” และ “จิตใจ” มนุษย์ทั้งสิ้น แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะได้รับผลตอบแทนจากการเข้าร่วมเกมดังกล่าว ได้ตามล่าหาความฝันของตัวเองผ่านรายการนั้น ได้เข้าไปสู่วงการมายาที่เฝ้าใฝ่ถึง ได้รถ ได้เงิน ได้บ้าน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเป็นจริงได้ว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาเหล่านั้นก็กลายเป็นหนึ่งในกระบวนการสะสมทุนอย่างหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้

แน่นอนว่าบทบาทของรายการเหล่านั้นคงไม่ได้อยู่ที่การทำให้ “ชีวิต” และ “จิตใจ” กลายเป็นสินค้าเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงการ “ผลิตซ้ำ” (reproduce) วัฒนธรรมและความคิดเชิงคุณค่าต่างๆให้กับสังคมด้วย เพื่อให้ระบบใหญ่ๆ ซึ่งก็คือระบบทุน สามารถดำรงตน และสถาปนาความชอบธรรมเอาไว้ได้

รายการหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ “The Apprentice” ของ Ronald Trump ผู้ที่เป็นอภิมหาเศรษฐีชั้นนำของอเมริกา รูปแบบของรายการนี้ก็คือจะเฟ้นหา candidate โดยจะมีการเปิดให้รับสมัครผู้คนจากทุกประเทศ ซึ่งแต่ละคนที่มาสมัครล้วนมีประสบการณ์ทำงานระดับเซียนทั้งนั้น บ้างเป็นเด็กวัยรุ่นเอ๊าะๆ จบจากมหาลัยวิทยาลัยชั้นนำ บ้างก็เป็นคนทำงานผู้มากประสบการณ์ ฯลฯ แต่ทางรายการก็จะคัดเลือกให้เหลือเพียง 18 คน และ 18 คนที่เหลือจะต้องแบ่งเป็นสองทีม เพื่อทำการแข่งขันโจทย์ทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องลงมือปฏิบัติและทำกันจริงๆ หาใช่โจทย์ที่อยู่บนกระดานดำไม่

เมื่อการแข่งขันแต่ละโจทย์จบลง ทีมที่แพ้จะต้องทำการโหวตเพื่อนร่วมทีมออกหนึ่งคน ร่วมด้วยการตัดสินของ Trump และผู้ช่วยทั้งสองของเขา สุดท้ายผู้ที่ถูกโหวตให้ออกก็จะโดน Trump “ไล่ออก” จากการเป็น Apprentice ไป

การแข่งขันจะดำเนินด้วยโจทย์ธุรกิจต่างๆไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายแล้วจะเหลือผู้แข่งขันที่ชนะเพียงคนเดียวบนเศษซากของคนที่ถูกไล่ออกไป และเขาคนนั้นก็จะถูก Trump จ้างเข้ามาทำงานในองค์กรด้วยค่าจ้างระดับเลขหกหลัก พร้อมได้รับการนับหน้าถือตาจากวงสังคม

ถ้าจะแปลไปแล้ว คำว่า Apprentice ก็หมายความว่า “เด็กฝึกงาน” แต่จะเห็นได้ว่า การฝึกงานในเกมนี้มันไม่ธรรมดา ถ้าเด็กฝึกงานที่เราพบเห็นตามองค์กรทั่วไปก็คงจะทำหน้าที่เกี่ยวกับเอกสาร งานธุรการต่างๆเพื่อนเรียนรู้ระบบองค์กร แต่การฝึกงานของ Trump มันไม่ใช่แค่นั้น มันเป็นการเคี่ยวกรำผู้เข้าแข่งขันอย่างแท้จริง จับคนจากต่างทิศต่างถิ่น ต่างพื้นเพ ต่างบุคลิกลักษณะ ต่างนิสัยใจคอมารวมกันเป็นทีม ซึ่งในทีมเองก็ต้องมีความร่วมมือกันในขณะเดียวกันแต่ละคนในทีมก็ต้องแข่งกันเองเพื่อแสดง performance ที่โดดเด่นให้เข้าตา Trump อีกด้วย ไหนจะต้องแข่งกันในทีมอีก ไหนจะต้องแข่งกับทีมตรงข้ามอีก และไหนจะแข่งกับตัวเองอีก ฟังดูแล้วมันดูเป็นการแข่งขันที่รุนแรงเหลือเกิน

ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยได้ติดตามรายการนี้ซักเท่าไรนัก กล่าวคือไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตารอว่ารายการนี้จะมาช่องไหน วันไหน เวลาไหน ส่วนมากจะเป็นการรับชมตามอัตภาพมากกว่า ถ้าเปิดไปแล้วบังเอิญ ก็อดใจไม่ไหวที่จะดูเหมือนกัน

นั่นก็เพราะว่าลักษณะอันสำคัญของรายการประเภท Reality Show ก็คือการที่รายการนั้นเล่นกับ “จิตใจ” ของคน ทั้งจิตใจของผู้เล่นในจอและนอกจอ ผู้เล่นในจอต้องผ่านการเคี่ยวกรำสารพัด เผชิญอุปสรรค ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง โดยอีตา Trump ไซโคซะจนหมด self บ้าง สิ่งเหล่านี้เล่นเอาคนที่อยู่นอกจอถูกดูดเข้าไปอยู่ในจอโดยไม่รู้ตัว และเกิดอาการ “อิน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขอกลับมาสู่ประเด็นหลังจากที่กล่าวอารัมภบทเกี่ยวกับเกมมาเสียเยิ่นยาวจนเกือบจะหลุดออกทะเล ดังที่ได้เกริ่นไว้ว่าหน้าที่หนึ่งอันสำคัญของเกมดังกล่าวก็คือการ “ผลิตซ้ำ” แนวคิดเชิงคุณค่าต่างๆให้กับสังคมด้วย ดังที่รายการ Apprentice แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องของ “การแข่งขัน”ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุการณ์ณ์ปกติในโลกทุนนิยม

สำหรับผู้เขียนเองไม่ได้ปฎิเสธเรื่องของการแข่งขัน แถมยังมองว่าการแข่งขันเป็นหนึ่งในธรรมชาติของมนษย์ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามการแข่งขันคงไม่ได้เป็นธรรมชาติอย่างเดียวของคนเรา หากแต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆด้วย

แต่ในโลกทุนนิยมดูเหมือนว่ามิติด้านการแข่งขันของมนุษย์มันจะถูกดึงออกมาอย่างชัดเจนเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการ The Apprentice ที่ทุกคนต่างแข่งขันกันเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ต่างคนต่างต้องทำให้ดีที่สุด แน่นอนในทีมย่อมต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน หากแต่เป็นการพึ่งพาอาศัยโดยตั้งอยู่บนผลประโยชน์เป็นหลักโดยที่เบื้องหลังการพึ่งพาดังกล่าวนั้นไร้เสถียรภาพยิ่ง เพราะจะเสี่ยงต่อการถูกหักหลังตลอดเวลา

หลายคนอาจจะมองว่านี่มันก็เป็นแค่เกมเท่านั้น แต่สำหรับผู้เขียนกลับมองว่า มันเป็นเกมที่ไม่ใช่เกมธรรมดา หากแต่มันสะท้อนภาพของความยุ่งเหยิงภายในระบบทุนได้เป็นอย่างดี เป็นระบบที่มีผู้แพ้ ผู้ชนะ แน่นอนว่าทุกคนไม่ใช่ผู้ชนะ และบางครั้งผู้ที่ชนะก็ใช้วิธีการที่ไม่สมควร

ดังตอนล่าสุดที่ผู้เขียนได้ชมรายการนี้ พบเห็นพฤติกรรมอันไม่เป็นมืออาชีพของผู้เข้าแข่งขันกันขึ้น กล่าวคือ ทีมแรกได้ทำการสั่งโทรโข่งเอาไว้ก่อนแล้วจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ในการประชาสัมพันธ์ตัวสินค้า แต่โดนอีกทีมหนึ่งตัดหน้าเอาไปโดยสวมรอยเป็นทีมแรก ทำให้ทีมแรกต้องทำงานโดยปราศจากเครื่องมือดังกล่าว และสุดท้ายก็พ่ายแพ้ไป

แน่นอนว่าการที่ทีมแรกแพ้นั้นไม่ได้มาจากปัจจัยที่โดนโกงหน้าด้านๆแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว การกระทำดังกล่าวของอีกทีมถือว่าเป็นอะไรที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพอย่างยิ่งยวด

สำหรับผู้เขียนแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะถูกยกมาเป็นประเด็น แต่สำหรับ Trump แล้ว เมื่อฟังเหตุผลในเรื่องนี้จากทีมที่แพ้ได้แต่พูดออกมาสั้นๆว่า “ผมชอบนะ” กล่าวคือชอบทีมที่ทำการโกงแบบหน้าด้านๆนั่นแหละ ฟังไปแล้วก็ได้แต่คิดว่า เอ้อ.....มันอะไรของมันวะเนี่ย

ซึ่งตรงนี้เอง ทำให้เราได้เห็นภาพของการแข่งขันอย่างชัดเจนเลยที่ว่า คนชนะกลับกลายเป็นผู้ชอบธรรม คนแพ้ไร้สิทธิ์ในการอุธรณ์ใดๆ ช่างเป็นภาพที่น่าสมเพชยิ่งนัก.........

มันคงจะเกินไปที่เราจะพิพากษารายการดังกล่าวว่าเป็นตัวสร้างค่านิยมที่ไม่ดี แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มันก็เป็นภาพๆหนึ่งที่ย้ำให้เรามองเรื่องของการแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้เกิดความคิดที่ว่า สังคมที่เป็นจริงมันก็แบบนี้ คนชนะก็ได้ คนแพ้ไม่ได้อะไร แนวคิดดังกล่าวได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมในระบบทุนนิยม ก็คือ จะรอดได้ก็ต้องแข่งขัน แข่งขัน และแข่งขัน ซึ่งบางครั้งวิธีการที่ได้มาซึ่งชัยชนะมันไม่น่าพิศมัยเอาเสียเหลือเลย แต่มันก็ถูกทำให้กลายเป็นของธรรมดาไปเสียสิ้น

สำหรับตัวผู้เขียนคิดว่าภาพดังกล่าวยังเป็นเครื่องสะท้อนถึงสังคมอเมริกันได้ดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการแข่งขันในเกมธุรกิจที่เล่นกันอย่างถึงพริกถึงขิง และเชื่อเลยว่า ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ที่การไหลบ่าของทุนเป็นอย่างทะลักล้น การส่งผ่านวาทกรรมของการพัฒนากระแสหลักภายใต้ระบบทุนเป็นไปอย่างไร้พรหมแดน ดังนั้นแล้วการที่เราจะเห็นภาพดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ที่แห่งอื่นมันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

วัตถุประสงค์หลักของผู้เขียนคงไม่ได้อยู่ที่การจู่โจมรายการดังกล่าว หรือนั่งก่นด่าว่าระบบทุนหรือการแข่งขันมันไม่ดีแบบโน้น ไม่ดีแบบนี้ หากแต่อยู่ที่ว่าสังคมที่เป็นอยู่ที่ถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมนั้นมันไม่ได้สวยหรูไปเสียทั้งหมด

สุดท้ายแล้วเราก็เป็นดั่งหนูติดจั่น ที่วิ่งอยู่บนวังวนของทุนอย่างไร้จุดจบ แม้แต่ “ชีวิต” และ “จิตใจ” ของเราก็กลับกลายเป็นสินค้าได้อย่างหน้าตาเฉย และเชื่อเลยว่าใครหลายๆคนก็ไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัว ว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสะสมทุนไปเสียสิ้น

อะไรๆ ที่เป็นสินค้าได้ก็คงไม่รอดพ้นสายตาของทุนอย่างแน่นอน หน้าที่ของมนุษย์อย่างเราก็คงได้แต่ก้มหน้าแข่งขันกันเองอย่างเมามันส์ บนเศษซากของผู้แพ้อันกองเพนินสุมหัวเราอยู่ โดยที่ทุนมันมีแต่จะใหญ่โตลุกลามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่ามันคงไมได้มารู้สึกรู้สาอะไรกับเราด้วย

แต่จงอย่าลืมว่าทุนมันไม่ใช่สิ่งมีชีวิต มันจะไร้จิตใจก็ไม่แปลก หน้าที่ของมันก็คือการสะสม สะสม สะสม เพิ่มพูน เพิ่มพูน เพิ่มพูน ก็เท่านั้น!!!

ป.ล.

บทความนี้ผู้เขียนได้ดองเค็มพอสมควรเขียนวันละประโยคสองประโยคกว่าจะเสร็จ ป่านนี้รายการ The Apprentice อาจจะได้ตัวผู้ชนะไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้ที่สนใจรายการดังกล่าวคลิกที่นี่เลยครับ มีรายละเอียดพอสังเขปให้ได้อ่านกัน