Monday, June 25, 2007

Academy Fantasia : ปฏิบัติการฝันถูกล่า?

ผมคิดว่าทุกท่านที่เผลอไผลเปิดเข้ามาดู blog ของผมคงตกใจน่าดูกับการ update ที่รวดเร็วทันใจในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน blog นี้เลยนะจะบอกให้)

แต่อย่าพึ่งคิดไปไกลครับ ผมมักง่ายเอาของเก่ามาขายอีกแล้ว ฮ่าๆ อันนี้เป็นบทความของผมที่พึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็วๆนี้เองครับ และเพื่อให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ผมจึงไม่รีรอเอามาลงใน blog อีกรอบสำหรับบางคนที่ไม่ได้ติดตามอ่านกรุงเทพธุรกิจ (จริงๆ ผมเองก็อายที่จะบอกว่าไม่ได้อ่านเหมือนกัน แหะๆ) อย่างไรก็ตามสำหรับบทความนี้ต้องให้เครดิตพี่เปี๊ยกที่ช่วย edit ขัดเกลา ทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยังไงก็ขอรบกวนสำหรับครั้งต่อๆไปด้วยนะคร้าบ

เอาล่ะเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาขอเชิญทัศนา......................

------------------------------------------------------------------------------

Academy Fantasia : ปฏิบัติการฝันถูกล่า??

มุมมองบ้านสามย่าน : นรชิต จิรสัทธรรม กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2550

ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน หนังสือ “The Great Transformation” ของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Karl Polanyi ได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยสาระสำคัญคือการพูดถึงการอุบัติขึ้นของภาวะสมัยใหม่ (modernity) ที่ระบบตลาดได้สถาปนาตนเองไปอยู่ทุกอณูของสังคม และแทนที่ตลาดจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางสังคมได้กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกตลาดดูดกลืนเข้าไป ทำให้ตลาดกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเราแนบแน่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้แต่ “มนุษย์” ที่มีชีวิตจิตใจ เมื่อได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาด ก็กลับโดนปฏิบัติเฉกเช่นสินค้าทั่วไป หยาดเหงื่อและพลังแรงงานไม่ได้มีค่าอะไรมากกว่าสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันในตลาด

ผลพวงของพัฒนาการที่ระบบตลาดได้เข้ามามีบทบาทนำในชีวิตเราอย่างแนบแน่น ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างได้กลายเป็นสินค้าไปเสียสิ้น และเมื่อลองมองย้อนมาดูสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่พลังแรงงานเท่านั้นที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าและแลกเปลี่ยนกันในตลาดแรงงาน แต่ยังได้เกินเลยไปถึงการนำเอา “ชีวิต” และ “จิตใจ” ของมนุษย์ มาผ่านกระบวนการทำให้กลายเป็นสินค้า (commodification) ร่างเนื้อและจิตใจของมนุษย์ได้กลายมาเป็นสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคเสพเข้าไปเพื่อความบันเทิงเริงใจ หรือใช้เป็นเครื่องบำบัดความกำหนัด ทั้งในรูปแบบที่โจ่งแจ้ง เช่น การค้าประเวณี หรือที่ซับซ้อนกว่า เช่น รายการจำพวก Reality Show ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่มนุษย์ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าเต็มรูปแบบ เพื่อการแสวงหากำไรผ่านเครื่องมือการสื่อสารและแผนการตลาดขององค์กรธุรกิจภาคเอกชน

รายการ Academy Fantasia เป็นรายการประเภทนี้ที่มีได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะว่ารายการนี้ถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่ได้เข้ามายึดพื้นที่ในจิตใจของผู้ชมในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องมาจนถึง season ที่ 4 แล้ว โดยรูปแบบมาตรฐานของรายการคือการนำเหล่า “นักล่าฝัน” ทั้ง 12 คน (แต่เท่าที่ทราบมาใน season นี้ ทางรายได้ปรับเปลี่ยนกติกาเล็กน้อย กล่าวคือจะเฟ้นหาผู้เข้ารอบ 20 คนสุดท้ายจากทั่วประเทศก่อน จากนั้นจึงทำการโหวตให้เหลือ 12 คนเพื่อให้เข้าไปอยู่ในบ้าน Academy) ที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทั่วประเทศมาอยู่ร่วมกันในบ้าน Academy เพื่อฝึกฝนวิชาการแสดง การเต้น การร้องเพลง ฯลฯ ภายใต้คำชี้แนะของคุณครูหลายท่านซึ่งมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป
แต่เพราะเป็นรายการที่เน้นการมีส่วนร่วมและสื่อสารระหว่างกันระหว่างผู้ชมและผู้เข้าแข่งขัน และเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมดู ในส่วนของวิธีการร่วมสนุกของผู้ชมจึงมีการส่ง sms เข้าโหวตหมายเลขที่ตนชื่นชอบ ยิ่งส่งมากโอกาสที่ผู้เข้าแข่งขันที่ตนชื่นชอบจะเข้ารอบจะยิ่งมีมากขึ้น ถึงกับมีเรื่องเล่ากันมาว่าบางคนเสียเงินค่าโทรศัพท์ให้กับการโหวตต่อเดือนเป็นจำนวนถึงหลักพันหลักหมื่นเลยทีเดียว

ในส่วนของการปลุกเร้าอารมณ์การมีส่วนร่วม ไฮไลต์ของรายการนี้จะอยู่ที่วันเสาร์ของทุกสัปดาห์ โดยนักล่าฝันทุกคนจะต้องแสดงคอนเสิร์ตต่อหน้าผู้ชมตามโจทย์เพลงที่ตนได้รับแตกต่างกันไป ก่อนที่เหล่า commentator จะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์การแสดงของแต่ละคน และแต่ละสัปดาห์จะต้องมีผู้เข้าแข่งขันจำนวน 1 คน ที่ได้รับผลโหวตจากผู้ชมน้อยที่สุดและต้องออกจากบ้าน Academy ไป คนที่ได้รับผลโหวตมากที่สุดและสามารถยืนหยัดเป็นคนสุดท้ายจะกลายเป็นแชมป์นักล่าฝัน พร้อมกับของรางวัลมากมาย ทั้งรถ ทั้งบ้าน ฯลฯ รวมไปถึงโอกาสที่จะได้โลดแล่นในวงการมายา

แม้ว่าภาพที่ตามมาของบรรดานักล่าฝันจะเต็มไปด้วยความชื่นมื่น ได้เข้าถึงโอกาสการแจ้งเกิดกลายเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือพวกเขาเหล่านั้นได้กลายมาเป็นหนึ่งในกระบวนการสะสมทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของกลุ่มทุนเจ้าของรายการ ผู้ให้การสนับสนุนรายการ หรือกลุ่มที่จะนำเอาบรรดานักล่าฝันไปใช้ในการสร้างภาพลักษณ์สินค้าเพื่อแสวงกำไรทางธุรกิจต่อไปในภายหน้า แม้ว่าเหล่านักล่าฝันจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที

เมื่อพิจารณากรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กระบวนการสะสมทุนภายใต้ระบบทุนนิยมได้นำพาความรุนแรงแบบใหม่มาสู่เรา ซึ่งต่างจากสังคมสมัยก่อน ดังเช่นในเรื่องของการค้ามนุษย์ การค้าทาส ที่การควบคุม กดขี่ เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อเทียบกับเหล่านักล่าฝัน เราจะเห็นความเหมือนที่แตกต่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาจะถูกจับตาอยู่ตลอดทั้ง 24 ชม. ทุกอย่างล้วนเป็นการดำเนินชีวิตและกิจกรรมที่ดูเหมือนธรรมดา แต่กลับไม่ธรรมดา เพราะมันมากับความ “เนียน” ที่ทำให้แม้กระทั่งผู้ที่ถูกกระทำอยู่ไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวอยู่เลยว่าทุกย่างก้าว ทุกการกระทำ ทุกการแสดงออกทางอารมณ์ของนักล่าฝันนั้นได้ถูกทำให้กลายเป็น “วัตถุ” ที่คอย “ปลุกปั่น” อารมณ์ของผู้ชมให้ทำการโหวตคะแนนให้กับเหล่านักล่าฝัน และโฆษณาสินค้าหลากหลายประเภทที่แฝงตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในที่อยู่อาศัยของพวกเขา อีกทั้งเกือบทุกอิริยาบถของบรรดานักล่าฝันในบ้าน Academy ได้ถูกนำมา “ผลิตซ้ำ” ผ่านรายการในพันธมิตรเครือข่ายของผู้ผลิตอย่างนับไม่ถ้วนและต่อเนื่อง เพื่อปลุกปั่นอารมณ์ผู้ชมให้ใช้บริการโหวตผ่าน sms โดยรายได้จากการโหวตได้ทะลักไหลไปเข้าสู่กระเป๋านายทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และสอดคล้องกับแผนการตลาดที่ได้วางไว้

ข้อสังเกตประการหนึ่งต่อกระแสความนิยมที่มีต่อรายการนี้อย่างล้นหลาม คือภาพสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของสังคมบางประการ ความโหยหาความฝันอันบริสุทธิ์ของผู้คนในสังคมทุนนิยมที่ทุกคนต่างแย่งกันไขว้คว้าเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ความสัมพันธ์ในระบบตลาดที่จำกัดความลึกของความสัมพันธ์มนุษย์ให้อยู่ในกรอบของการแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ จนบางครั้งอาจจะทำให้ลืมความฝันเหล่านี้ไป ดังนั้นแล้วนัยของการเข้าไปมีส่วน “ร่วมฝัน” ไปกับเหล่านักล่าฝัน ผ่านการโหวตทางโทรศัพท์มือถือ จึงอาจถือได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความบกพร่องตรงจุดนี้ได้ แต่ด้วยกรอบลักษณะของกิจกรรมนี้เอง ความสัมพันธ์ระหว่างนักล่าฝันและผู้รับชมรายการก็เป็นเพียงแค่ความสัมพันธ์แบบตลาดที่ดำเนินผ่านตัวเงินเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านบริการของบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมในการแสดงออกถึงความชื่นชอบและรสนิยมส่วนบุคคล การรับสารโฆษณาแฝงที่เร้นตัวมากับรายการ หรือการบริโภคสินค้าที่เกี่ยวพันกับรายการในภายหลัง ผู้ชมจึงเป็นผู้ถูกกระทำ ผู้ผลิตซ้ำความสัมพันธ์ และเป็นสินค้าในบางกรณีด้วยเช่นกันเช่น การสมัครเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้แข่งขัน เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนฐานวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างกำไรขององค์กรธุรกิจและกลุ่มทุนเป็นสำคัญ

เป้าหมายหลักของผู้เขียนคงไม่ได้อยู่ที่การก่นด่ารายการดังกล่าว หรือจู่โจมระบบทุนว่ามันแย่ไปเสียทั้งหมด เพราะเราคงไม่สามารถปฏิเสธคุณูปการบางอย่างจากมันได้ และที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าสังคมสมัยใหม่จะมีความรุนแรงมากกว่า หรือแย่กว่าสังคมแบบเก่า หากแต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงความแยบยลของระบบทุนนิยม ในการดำรงไว้ซึ่งความพันธ์แบบขูดรีดของตนเอาไว้ ถึงขนาดที่ผู้ถูกกระทำหรือถูกทำให้กลายเป็นสินค้านั้นไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ และแทนที่นายทุนจะต้องขอบคุณผู้เข้าร่วมแข่งขันฐานะที่ยอมพลีกายเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไร กลับกลายเป็นว่าผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นฝ่ายขอบคุณรายการที่ได้หยิบยื่นความสำเร็จให้ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าความสัมพันธ์ที่กลับตาลปัตรดังกล่าวคงหาที่ไหนไม่ได้แล้วนอกจากบนโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ เพราะขนาดความฝันของเรายังไม่สามารถรอดพ้นจากการตามล่าของมันไปได้เลย!!

11 comments:

Anonymous said...

จังหวะดีๆ จะขอเอาไปลงในบอร์ด ป.ตรีเราหน่อยนะครับพี่

Gelgloog said...

ตามบายโลด

sweetnefertari said...

เมื่อกี่ก่อนจะขึ้นเปิดคอมก็เพิ่งปิดทีวีไป ดูอะไรนะรึก็AFไง ไม่ได้ดูป่าวๆนะ โหวดV15 ไปอีกสามทีด้วย โฮ๊ะ โฮ๊ะ

Anonymous said...

AF = Animal Fantasia
น่าจะเรียกชื่อว่า ปฏิบัติการขายฝันซะมากกว่าล่าฝันนะ

Anonymous said...

AF = Animal Fantasia
น่าจะเรียกชื่อว่า ปฏิบัติการขายฝันซะมากกว่าล่าฝันนะ

Gelgloog said...

sweetnefertari โหวตไปสามทีแล้วหรอ สงสัยป่านนี้อาจจะเพิ่มเปนสิบทีแล้วก็ได้นะ อิอิ

คนแอนโนนีมัส เอางั้นเลยเรอะ........

Unknown said...

ชอบข้อสรุปมากครับ

ผมเห็น (อย่างคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แหะ ๆ) ว่าท้ายที่สุดแล้ว เราคงต้องอยู่ร่วมกับระบบเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมต่อไป แต่การอยู่ร่วมกับระบบเศรษฐกิจกระแสหลักนี้ให้ได้และให้ดี คือ ต้องมี “ความพอดี” “มีเหตุมีผล” และมี “ภูมิคุ้มกัน” ครับ คือรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นทาสของ วัตถุแลการบริโภค

crazycloud said...

ขอปรบมือให้กับความคลั่ก ของบทความตอนนี้

บทความตอนนี้ มีการมอง กลไกทางเศรษฐกิจ แบบจิตวิเคราะห์ (ไม่รู้ผู้เขียนตั้งใจหรือผมมองไปเอง) ผ่านตัวประสบการณ์ คือรายการ อคาเดมี

กระบวนการผลิต ได้พัฒนาและยกระดับ จากการผลิตสินค้าแบบจับต้องได้ ณปัจจุบันได้กลายเป็นกระบวนการผลิตทางเนื้อหนัง โดยอาศัยกลไกการตลาดแบบกระตุ้น ต่อมลูกหมาก หรือรังไข่ ให้หลังสารเทโทสเทอโรน หรือ เอสโตรเจน

ผู้ผลิตรายการ อคาเดมี คือกลุ่มทุนไทยจีน ที่แต่เดิมขายเมล็ดพันธ์ผัก ซึ่งมีลักษณะคล้ายต่อมเพศ สกุล เจี๋ยไต่

ณ ปัจจุบัน ได้กลายเป็น ทรู คอร์ป ผู้นำ Convergence อันหมายถึง การหอมรวมเทโนโลยีการสื่อสารทั้งหมด ให้สามารถกระตุ้นต่อมเพศของมนุษย์ให้มีการคัดหลั่งมากที่สุด

นี่ คือการคั่นน้ำส้มแบบรีดถึงเปลือกของนายทุน

ข้าพเจ้ามนุษย์โลกคงปวดต่อม มิใช่น้อย

ไม่ทะลึ่ง นะ แต่ ตึงตัง

Anonymous said...

ยินดีด้วยที่เรียนจบแล้วนะคะ

อิจฉาๆ

Gelgloog said...

น้องติ๊กเอ๋ย ศก พอเพียงก็เป็นทางออกทีดี แต่สำหรับโลกทุนนิยมคงยากนะที่จะบอกว่าเราไม่ตกเป็นทาวของวีตถุ เชื่อดิว่า เราต้องตกเป็นทาสมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อะเหอ

ส่วนที่คุณเมฆฯ ว่ามานั้นผมไม่ได้คิดไปถึง ฟรอยด์ หรือ ลากอง อะไรเลยครับ แหะๆ เขียนไปเรื่อย อย่างไรก็ตามขอขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมกาน

คุณเฟย์ยินดีที่รู้จักครับ blog ผมไม่ต้องเข้ามาบ่อยก็ได้ เพราะไม่ค่อยจะ up เท่าไหร่ 55

Anonymous said...

Interesting to know.