Thursday, September 30, 2010

ขอ up blog หลังจากห่างหายไปกว่า 1 ปี พร้อมมีบทความมาฝาก

สวัสดีครับ

ไม่รู้จะทักทายยังไงดีหลังจากห่างหายมาปีกว่า เผลอแผลบเดียวผมมาทำงานที่ขอนแก่นได้สองปีเต็มแล้วครับ เวลาช่างผ่านไปไวจริงๆ เหมือนพึ่งมาทำงานวันแรกเมื่อวานก็ไม่ปาน

จริงๆ วันนี้ไม่ได้ตั้งใจจะมา up blog โดยตรงครับ พอดีอยากจะเขียนบทความเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง "The Scret Sins of Economics" ของ Derdre McClosekey แต่ไปๆมาๆ เปิดมาเล่นที่ blog ตัวเองแล้วเกิดซาบซึ้งอยากลำรึกความหลังว่างั้น เลยขอเข้ามา update กันซะหน่อย มิตรรักแฟนเพลง (ถ้ายังคงมีอยู่)จะได้คิดถึงกัน

จะว่าไปแล้ว ผมลองใคร่ครวญถึงเหตุผลที่ blog นี้ร้างลาได้หลายข้อเหมือนกันนะครับ เพื่อนๆ (ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน)ลองไปคิดดูซิว่ามันจริงๆมั๊ย

ข้อแรก การมีงานประจำทำ ทำให้ไม่ได้แล blog เลยครับพ้ม จะหาว่าอ้างก็ได้ แต่มันจริงๆนิหว่า
ข้อสอง พักหลังผมจะเขียนบทความบ้างแต่ก็ลงในกรุงเทพธุรกิจครับ เลยไม่ได้เหลียวแล blog เลย ชั้นขอโทษ (อีกครั้ง)
ข้อสาม อันนี้เด็ดสุดครับ มันคือ Facebook ของเล่นใหม่ยอดฮิตในขณะนี้ มันทำเอาผมเสียกระบวนท่าทีเดียว เล่นเอา blog นี้กลายเป็นสินค้าด้อย หรือ inferior good ไปในทันที

ผมว่าหลักก็สามข้อนี้แหละครับ ผนวกกับเทอมนี้ ผมสอนเยอะบรรลัยโลกมาก ประมาณเกือบ 20 ชม ต่อสัปดาห์ได้ครับ เล่นเอาเบลอและเอ๋อ และบอกได้เลยว่าผมโง่ลงมากๆ เพราะไม่ค่อยได้อ่านอะไรประเทืองปัญญาวันๆเอาแต่ shift ซ้าย shift ขวา ไปกับวิชา microeconomics จะว่าไปแล้วผมนึกถึงคำของ อ.ปรีชา เปี่ยมพงษ์สานต์ ที่บอกว่า ตอนนี้ผมก็เหมือนเป็นอาจารย์ที่อยู่บนสายพาน ชัดเจนจริงๆ

สำหรับชีวิตตอนนี้มีความคืบหน้าหลายอย่างครับ เรื่องเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยากมาคุยใน blog นี้ ช่วงเวลาที่หายไปผมก็ไปดำเนินการสอบ IELTS แล้วก็สมัครเรียนต่อปริญญาเอกครับ ซึ่งตอนนี้มีที่แรกที่ตอบรับการสมัครของผมมาแล้วคือ University of Athens ประเทศกรีซครับ หลักสูตรนี้เรียกสั้นๆว่า UADPhilEcon ครับ (http://www.econ.uoa.gr/UA/content/en/Article.aspx?office=17&folder=283&article=385 ลองเข้าเวบนี้ดู)ผมเริ่มสมัครที่นี่ที่แรกเลย เพราะน่าสนใจดี หลักสูตรปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ที่นี่ จะมีแนวทางของปรัชญาเศรษฐศาสตร์สังคม กับเศรษฐศาสตร์การเมืองคู่กันไปครับ แม้ว่าช่วงปีแรกๆจะต้องเรียนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเข้ม แต่ทางหลักสูตรมีการให้เรียนวิชาปรัชญาการเมือง สังคม ควบคู่กันไป อีกทั้งยังมีคอร์สที่เราจะต้องทำงานกับ original text ของ classical economist เช่น เคนส์ เวบเบลน ฯลฯ แถมยังไม marxian econ ให้เรียนตั้งสองตัวแน่ะ เข้าทางผมมากๆครับ

แต่สรุปว่า ไม่ได้ไปครับ

เพราะหลังจากได้ offer มาก็มานั่งคิด หลายเรื่องครับ ไหนจะการปรับตัวซึ่งอาจจะลำบากสำหรับคนไทย และเวลาที่บีบมากๆ ตอนที่ได้ offer มาผมไม่พร้อมเลย อีกทั้งเห็นตอนนี้ประเทศกรีซก็วุ่นวายใช้ได้ เลยตัดสินใจ ไม่ไป และจะลองสมัครที่อื่นต่อครับ ซึ่งตอนนี้ได้ยื่นไปทางอเมริกาไป ส่วนมหาวิทยาลัยไหน แนวไหน ไว้ค่อยมา update กันคราวหน้าเนอะ

วันนี้ก่อนจากกันขอทิ้งท้ายด้วยบทความที่พึ่งลงในกรุงเทพธุรกิจ สดๆร้อนๆ วันนี้เลยครับ ขอเชิญ ชมได้

--------------------

ความเสี่ยงจากการเกิดสงครามกลางเมืองในทัศนะของเศรษฐศาสตร์

นรชิต จิรสัทธรรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรุงเทพธุรกิจ 30 กันยายน 2553

สงครามถือเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ สงครามสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม การเกิดสงครามย่อมไม่ใช่สิ่งดี เพราะมันนำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินและจิตใจ อย่างยากที่จะเยียวยา อย่างไรก็ตามในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ สงครามไม่ได้มีแต่ความสูญเสีย ข้อดีของสงครามอาจมีอยู่บ้างในแง่ของการทำให้เศรษฐกิจ (ในบางภาคส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการสงคราม) ได้รับผลกระทบในทางบวก รวมทั้งสงครามระหว่างประเทศ สามารถนำไปสู่ความสามัคคีของคนในชาติได้

นอกเหนือจากสงครามระหว่างประเทศ เราสามารถจำแนกสงครามได้ออกมาอีกประเภทหนึ่งคือ “สงครามกลางเมือง” (civil war) อันเป็นสงครามที่ถูกนิยามจากการต่อสู้ของกลุ่มคนภายในของเขตรัฐเดียวกัน (แต่อาจจะต่างกันซึ่งอุดมการณ์ทางการเมือง ศาสนา หรือชาติพันธุ์) โดยในทางเศรษฐศาสตร์ได้นิยามสงครามกลางเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้กันระหว่าง “รัฐ” (state) และ “ฝ่ายกบฏ” (rebel) ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์สามารถแจกแจง ตัวกำหนดความน่าจะเป็นของการเอาชนะสงคราม รวมถึงลักษณะของแรงจูงใจ รวมถึงต้นทุน-ผลตอบแทนของฝ่ายกบฏไว้ดังนี้

ประการแรก แรงจูงใจของฝ่ายกบฏคือ “การเข้ายึดอำนาจรัฐ” (state capture) และ “การแบ่งแยกดินแดน” (secession) โดยที่ผลประโยชน์ของฝ่ายกบฏคือค่า “คาดการณ์ของรายได้” (ซึ่งก็คือฐานภาษีของรัฐนั่นเอง) ที่จะเกิดเมื่อชนะสงคราม เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านต้นทุนพบว่า ต้นทุนของฝ่ายกบฏคือ “ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากวาระสงคราม” หรืออีกนัยหนึ่งคือการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือโอกาสทำมาหากินแบบปกติ อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมสงครามซึ่งในกรณีของประเทศที่ยากจน ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจย่อมมีโอกาสที่ต่ำกว่าในประเทศที่ร่ำรวยกว่า

ประการที่สอง เมื่อพิจารณาความน่าจะเป็นของการเอาชนะสงครามของฝ่ายกบฏได้ถูก
กำหนดโดย ความสามารถของรัฐในการ “ป้องกันตันเอง” ซึ่งการป้องกันตนเองของรัฐนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ หากแต่ขึ้นอยู่กับงบประมาณหรือการใช้จ่ายด้านการทหาร (military expenditure) เพื่อป้องกันประเทศ อันมาจากรายได้จากฐานภาษีของรัฐ นอกเหนือจากนั้นความสามารถในการป้องกันตนเองยังสามารถถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นตัวกำหนด “ความยาวนาน” ของภาวะสงคราม ซึ่งสามารถนำไปเป็นเครื่องมีในการคาดการณ์ต้นทุนในการก่อสงครามของฝ่ายกบฏได้อีกด้วย

ดังนั้นเงื่อนไขของการก่อกบฏ อันนำไปสู่สงครามกลางเมืองจึงเกิดจากการเปรียบเทียบ ต้นทุน-ผลตอบแทน ภายใต้เงื่อนไขแรงจูงใจและความน่าจะเป็นที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

จากกรอบคิดดังกล่าวสามารถเห็นได้ว่า “ความน่าจะเป็นของการก่อสงคราม” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวิเคราะห์การเกิดขึ้นของสงครามกลางเมือง ในบทความเรื่อง “On economic causes of civil war” ของ Paul Collier และ Anke Hoeffler ซึ่งตีพิมใน Oxford Economic Papers (1998) ได้พัฒนาแนวคิดในเรื่อง “โอกาส” หรือ “ความเสี่ยง” ในการเกิดสงครามกลางเมือง และได้ทำการวิจัยเชิงประจักษ์ ด้วยแบบจำลองเศรษฐมิติ ซึ่งผลการทดสอบพบว่า “ระดับรายได้ต่อหัว” เป็นกำหนดโอกาสในการที่จะเกิดสงครามกลางเมือง โดยมีความสัมพันธ์กันในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อกำหนดตัวแปรอื่นๆให้คงที่ ประเทศที่มีระดับรายได้เป็นครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยรายได้ของกลุ่มตัวอย่าง จะมีโอกาสในการเกิดสงครามร้อยละ 63 ในทางกลับกันประเทศที่มีระดับรายได้เป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยรายได้ของประเทศในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จะมีโอกาสการเกิดสงครามกลางเมืองแค่ร้อยละ 15 เท่านั้น (ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าสงครามกลางเมืองจึงมักเกิดขึ้นประเทศที่ยากจน)

นอกเหนือจากตัวแปรทางเศรษฐกิจยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่เป็นตัวกำหนดความเสี่ยงในการเกิดสงครามอีก เช่น การครอบครองทรัพยากรธรรมชาติของฝ่ายกบฏสามารถส่งผลกระทบต่อการเกิดสงครามกลางเมืองได้ (เหตุผลที่อาจสนับสนุนได้คือกองกำลังของฝ่ายกบฏย่อมที่จะต้องหาเลี้ยงตัวเอง และฐานทรัพยากรเป็นที่มาของรายได้) และ ขนาดของประชากรส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงในการเกิดสงครามกลางเมืองเช่นกัน ตรงนี้สามารถตีความได้ว่า ถ้าหากกลุ่มประชากรมีขนาดใหญ่ การแบ่งแยกดินแดนย่อมทำได้ง่ายกว่าประเทศที่มีกลุ่มประชากรขนาดเล็ก

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา” (ethno-linguistic fractionalisation) (ซึ่งแสดงได้โดยดัชนีที่มีค่า 0-100) ถ้าหากพิจารณาด้วยตรรกทั่วไป เรามักจะคิดกันว่า ยิ่งประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษาและชาติพันธุ์มากเท่าใด ก็ยิ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองมากขึ้นเท่านั้น แต่ผลการศึกษาของ Collier กลับพบว่า สำหรับประชาชาติที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ต่ำ จะมีความเสี่ยงในการเกิดสงครามกลางเมืองต่ำ และในกรณีที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก (ค่าดัชนีเข้าใกล้ 100) โอกาสการเกิดสงครามกลางเมืองก็ต่ำเช่นเดียวกัน ในทางกลับกัน ประเทศที่มีดัชนีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาในระดับที่กลางๆ จะส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดสงครามกลางเมืองสูง ตรงนี้สามารถตีความได้ว่าสำหรับประเทศที่มีความเป็นหนึ่งเดียวสูง การสร้างความแตกแยกคงเกิดขึ้นได้ยาก และในทางเดียวกันประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาสูงมากความสามารถในการรวมกลุ่มเพื่อก่อการกบฏก็ยิ่งกระทำได้ยาก

ในงานของทั้งสองยังยกตัวอย่างสังคมที่ต่างกันอย่างสุดขั้วมาประชันกัน โดยสังคมแรกกำหนดให้มีระดับรายได้ต่อหัวที่สูงมาก (9,895 ดอลลาร์ต่อปี) อีกทั้งมีขนาดประชาการที่เล็กที่สุดจากกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงมีระดับทรัพยากรธรรมชาติที่สูงมาก และมีความเป็นหนึ่งเดียวของชาติพันธุ์ เมื่อใส่ข้อมูลดังกล่าวแล้วประเมินในแบบจำลองพบว่า โอกาสในการเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.00017 เท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้าใส่ข้อมูลของประเทศที่จนที่สุด (285 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี) และมีขนาดประชากรที่ใหญ่ รวมถึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในระดับกลางๆ พบว่าประเทศนี้จะมีความเสี่ยงในการเกิดสงครามสูงถึงร้อยละ 99

นอกเหนือจากนี้ Collier ยังได้ทิ้งท้ายไว้อีกว่าสำหรับสังคมที่กลุ่มทางชาติพันธุ์และภาษาที่แตกออกเป็น 2 กลุ่ม ผลกระทบต่อความเสี่ยงในการเกิดสงครามกลางเมืองนั้นยิ่งทรงพลัง กล่าวคือ มีความน่าจะเป็นในการเกิดสงครามกลางเมืองมากกว่าร้อยละ 50

แม้คราวนี้เนื้อหาจะยาวและยากไปเสียหน่อย แต่ผู้เขียนขอสรุปสั้นๆว่า จากผลการศึกษาดังกล่าวเมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทยพบว่า “ความเสี่ยง” ในการเกิดสงครามกลางเมืองไม่ได้หายไป เพราะผู้คนในสังคมถูกแบ่งกลุ่มออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน หากแต่ไม่ใช่ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์และภาษาดังข้างต้น แต่มันเป็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์และภาษาทางการเมือง (หรือสีทางการเมือง?)

แม้การนำเสนอครั้งนี้อาจจะดูมองโลกในแง่ร้ายไปเสียหน่อย แต่การมองความเป็นไปของโลกด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ด้วยมุมมองทางวิชาการก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการตัดสินในดำเนินนโยบายต่างๆ และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะสามารถให้ข้อคิดแก่ผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ไม่มากก็น้อย

2 comments:

natsima said...

เสียดายนี่ไม่ใช่ facebook

ไม่งั้นจะกด "Like" ให้กับคำว่า

...อาจารย์บนสายพาน..

Gelgloog said...

ดีใจที่ยังมีคนอ่าน 5555