Wednesday, May 18, 2011

สวัสดีครับ เจอกันปีละครั้งอีกเช่นเคย 5555

ห่างหายไปนานครับ ตั้งแต่กันยายนปีที่แล้วได้ จะว่าไปแล้ว Blog นี้ก็อยู่คู่กับผมมานาน ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จนทำงาน ถึงตอนนี้ต้องกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้งมันก็ยังอยู่ (แบบหายใจหอบร่อแร่)

สำหรับรอบปีที่ผ่านมาเรื่องราวในชีวิตเกิดขึ้นมากมายครับ เอาหลักๆก่อนละกัน ผมได้ที่เรียนแล้วครับ สรุปได้ไปที่ The University of Sydney ประเทศออสเตรเลียครับ ซึ่งจะบินไปวันที่ 9 กค นี้แล้ว โดยผมไปเรียนในสาขา Political Economy ที่ต้องการมาแต่แรก โดยตัว Research Proposal ที่เสนอไปคือเรื่องแนวเกี่ยวกับ ศก พอเพียง และทุนนิยมของไทยครับ จะออกมารูปแบบไหน จะเรียนจบหรือไม่ อีกสี่ปีถัดจากนี้ไปก็ต้องลุ้นกันน่ะครับ

การกลับไปเป็นนักเรียนครั้งนี้สิ่งที่ผมหวังคือ อยากรีบไปเรียน เขียนงานให้เสร็จโดยไว แล้วรีบกลับมาทำงานสอนครับ และอยากไปฝึกฝนฝีมือทักษะทางวิชาการให้พัฒนามากขึ้นกว่าเดิม ไม่ให้แพ้พวกฝรั่งตาน้ำข้าวด้วยเอ้า (มุมมอง bias ทางชาติพันธุ์ของผมเริ่มโผล่ขึ้นมาอีกแล้ว 55) ส่วนเรื่องไปหางานทำ make money อันนี้ผมคงตามสภาพหละครับ ถ้าไม่พอกินมันก็ต้องทำกันบ้าง แต่คงไม่ทำเป็นหลักแน่นอนเพราะหลวงส่งเราเรียนก็ต้องรีบเรียน รีบจบครับ

ไหนๆพูดถึงเรื่องเรียนแล้ว มาครั้งนี้ผมขออนุญาต แปะบทความที่ของผมที่พึ่งลงในกรุงเทพธุรกิจเมื่อสัปดาห์ก่อนให้ดูกันนะครับ เป็นการแนะนำสถานที่สำหรับการไปเรียนด้าน Political Economy/Heterodox Economics ยังไงลองอ่านดูนะครับ แล้วถ้าได้แลกเปลี่ยนกันจะดีมากๆๆเลยครับ ปลุกกระแส Blog ที่ซบเซาหน่อย 55

เชิญครับ
----------------------------------------------


เปิดกรุแหล่งที่เรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง!

กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน 12 พฤษภาคม 2554

นรชิต จิรสัทธรรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2545 อ.ปกป้อง จันวิทย์ ได้เขียนบทความ “เรียนเศรษฐศาสตร์นอกคอกที่ไหนดี” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการจุดประกายให้ผมเสาะหา “คอก” ที่เปิดสอน “เศรษฐศาสตร์การเมือง” จวบจนปัจจุบันเวลาผ่านมาเกือบ 9 ปี บทความของ อ.ปกป้อง ยังคงทันสมัยอยู่สำหรับการแนะนำที่เรียนในอเมริกา อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ผมขอใช้พื้นที่แนะนำที่เรียนสถาบันที่อยู่นอกอเมริกาเป็นหลัก ซึ่งคิดว่าเป็นโอกาสดีด้วยสองเหตุผลด้วยกัน หนึ่ง ช่วงนี้เป็นเทศกาลสอบสัมภาษณ์และประกาศผลแอดมิชชั่นนักเรียน อีกทั้งเป็นช่วงปิดเทอมที่เอื้อให้ นักเรียน/นักศึกษา ค้นคว้าหาทางเดินของชีวิตรวมถึงด้านการศึกษา จึงถือเป็นจังหวะที่ดีในการให้ข้อมูล และสอง คอลัมน์ “มุมมองบ้านสามย่าน” นี้มีอุดมการณ์ที่ต้องการเผยแพร่งานเขียนด้าน เศรษฐศาสตร์การเมือง (อาจมีด้านอื่นร่วมด้วย) เป็นแกน จึงควรมีใครซักคนมาเขียนแนะนำที่เรียนกันซักครั้ง


กล่าวถึง “เศรษฐศาสตร์การเมือง” เราสามารถนิยามว่าเป็นการวิธีการศึกษาเศรษฐศาสตร์ โดยใช้กรอบที่ต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่อิงกับอุดมการณ์ตลาดเสรีเป็นที่ตั้ง เศรษฐศาสตร์การเมืองสามารถศึกษาได้หลายแนว ทั้งมาร์กซิสต์ แนวสตรีนิยม แนวสถาบันนิยม ฯลฯ ซึ่งที่ๆมีการสอนเศรษฐศาสตร์การเมืองล้วนมีนักเศรษฐศาสตร์แนวนี้อยู่ในคณะไม่มากก็น้อย


ผมอยากเริ่มต้นไม่ไกลนักและเป็นสถาบันที่ผมกำลังจะไปศึกษาต่อ คือ The University of Sydney (USYD) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในออสเตรเลีย ได้มีภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง (http://sydney.edu.au/arts/political_economy/) ที่เปิดสอนสาขานี้ตั้งแต่ปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก สามารถกล่าวได้ว่าที่นี่ได้รวมเอานักเศรษฐศาสตร์การเมืองแนว Radical (คือค่อนข้างจะเอียงซ้าย) ไว้มากที่สุดในออสเตรเลีย โดยภาควิชานี้มีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างแนวทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและเศรษฐศาสตร์การเมือง จนแยกตัวออกมาเป็นอีกหนึ่งภาควิชาและสังกัดคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ในปัจจุบัน (ผู้สนใจสามารถอ่านได้ในหนังสือ “Political Economy Now! The struggle for alternative economics at the University of Sydney (2009)” โดย Gavan Butler, Evan Jones and Frank Stillwell)


ผมยังอยู่ในเมืองซิดนี่ย์ แต่ไปที่ University of Western Sydney (UWS) โดยใน School of Economics and Finance (http://www.uws.edu.au/economics_finance/sef) บางรายวิชาได้มีการสอนโดยเน้นการวิพากษ์ตัวแบบของกระแสหลัก โดย Steve Keen เจ้าของหนังสือ Debunking Economics (2001) ถือเป็นผู้ที่วิพากษ์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างจริงจัง นอกจากนี้ Center for Citizenship and Public Policy (http://www.uws.edu.au/ccpp/citizenship_and_public_policy) ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน มีหลักสูตรปริญญาเอกด้าน Political and Social thought ซึ่งผิวเผินอาจดูไม่ค่อยเป็นเศรษฐศาสตร์นัก แต่ในหลักสูตรมีสองในสิ่วิชาที่เป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง อีกทั้งยังมีนักคิดแนว “Postmodern Marxism” คนสำคัญเป็นสมาชิกคือ Katerine Gibson (น่าเสียดายที่ Julie Graham คู่หูได้จากโลกนี้ไปแล้ว) ที่ได้เป็นบรรณาธิการและเขียนบทนำร่วมกับ Resnick and Wolff แห่ง UMASS (หนึ่งในสถาบันที่ดังเรื่องการสอนเศรษฐศาสตร์การเมืองในอเมริกา) ไว้ในหนังสือเช่น Re/presenting Class : Essays in Postmodern Marxism (2001) และ Class and Its Others (2000)


ต่อมาขอขยับมาทางยุโรปบ้าง โดยชื่อ Cambridge University ได้ผุดขึ้นมาก่อนในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานของอังกฤษ แม้ว่าปัจจุบันคณะเศรษฐศาสตร์ที่นี่ (http://www.econ.cam.ac.uk) จะเน้นกระแสหลัก อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่ทำงานในการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้แก่ Han-Joon Chang นักเศรษฐศาสตร์แนวสถาบันนิยมเจ้าของหนังสือ Reclaiming Development (2004) และ Tony Lawson ที่มีชื่อในด้านปรัชญาเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี Cambridge Journal of Economics อันเป็นวารสารที่มีการตีพิมพ์บทความวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกด้วย อีกแห่งที่ไม่ควรลืมคือ Open University ซึ่งเป็นหัวแรงหลักในการจัดทำโฮมเพจ http://www.hetecon.com ซึ่งรวบรวมข้อมูลของ นักคิด สถาบัน วารสาร สมาคม ด้านเศรษฐศาสตร์นอกแสที่สำคัญ โดยภาควิชาเศรษฐศาสตร์ (www.open.ac.uk/socialsciences) ซึ่งสังกัดคณะสังคมศาสตร์ของที่นี่ มีปรัชญาการสอนที่เน้นความหลากหลายในเศรษฐศาสตร์จึงทำให้สามารถเลือกเรียน และทำวิจัย ในแนวทางเศรษฐศาสตร์การเมืองได้


บางครั้งการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นได้ซ่อนอยู่ในคณะบริหารธุรกิจด้วย เช่นที่ Bristol Business School ของ University of the West of England (http://www.uwe.ac.uk) และSchool of Management, Leicester University (http://www.le.ac.uk) มีอาจารย์หลายคนที่ทำงานด้านทฤษฎีองค์กร, Marxist Political Economy และ Anti-Capitalism ในแห่งหลังนั้นมีศูนย์ปรัชญาและเศรษฐศาสตร์การเมืองที่จัดสัมมนาอย่างจริงจัง (สังเกตได้ว่าในต่างประเทศมีการประยุกต์เศรษฐศาสตร์การเมืองในการศึกษาด้านธุรกิจแล้ว ซึ่งนับว่าหาได้ยากในบ้านเรา) ในอังกฤษยังมีอีกสองแห่งครับ ได้แก่ University of Stirling (http://www.stir.ac.uk) ที่มี Sheila Dow ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุแล้วแต่ยังคงดำรงตำแหน่ง Director ของ Stirling Center of Economic Methodology และ Leeds University (http://www.leeds.ac.uk/) ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่มีการสอนในด้านนี้


ทีนี้มาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์บ้าง ณ Erasmus Institute of Philosophy and Economics (EIPE: http://www.eur.nl/fw/english/eipe/) ได้มีการสอนปรัชญาและเศรษฐศาสตร์ในระดับโท-เอก (ทั้งที่พิจารณาเศรษฐศาสตร์ในฐานะที่อยู่ในปรัชญาสมัยใหม่ รวมถึงวิวาทะทางด้านปรัชญาในเศรษฐศาสตร์ และมีการศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันด้วย) อีกทั้งยังมีสมาชิกกิตติมศักดิ์ระดับไม่ธรรมดาทั้ง Mark Blaug, Uskali Mäki รวมถึง Deirdre McCloskey นักเศรษฐศาสตร์ข้ามเพศชื่อดัง และในประเทศเดียวกันยังมี Institute of Social Studies (ISS: http://www.iss.nl/) ที่มีการสอนด้าน Development Studies ทั้งสองที่นี้แม้จะอยู่คนละที่แต่ก็สังกัด Erasmus University ครับ


ด้วยเนื้อที่จำกัดอีกแห่งที่อยากแนะนำคือภาควิชาเศรษฐศาสตร์แห่ง University of Athens ประเทศกรีซ (http://www.econ.uoa.gr) ซึ่งมีหลักสูตร ป.เอก เศรษฐศาสตร์ในแบบสหศึกษา วิชาแกนของที่นี่เน้นกระแสหลัก ในขณะเดียวกันได้บังคับให้เรียนวิชาปรัชญาสังคมและการเมืองควบคู่กันไป รวมถึงมีวิชาที่ต้องศึกษางานเขียนของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองจาก Original Text โดยตรง สำหรับวิชาเลือกมีหลายรายวิชาที่แสดงความเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างชัดเจน และUniversity of Torino (http://www.de.unito.it/web/member/segreteria/dottcreativita/home.htm) ในอิตาลีได้มีหลักสูตรนานาชาติที่เน้นแนวทางเศรษฐศาสตร์ที่ปฏิเสธสมมติฐานความมีเหตุผล และมีอาจารย์หลายท่านทำงานในสาย History of Economic Thought ด้วย


แม้ว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองจะไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากขาดรูปธรรมในด้านอาชีพการงานด้วยลักษณะวิชาที่เป็นกึ่งปรัชญา อย่างไรก็ตามผมมองว่าประเทศไทยที่มีสารพันปัญหาด้านโครงสร้าง เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม อยู่เป็นนิจ ทำให้เรายังต้องการนักคิด นักเคลื่อนไหว ที่เรียนด้านนี้อีกเยอะครับ สำหรับผู้ที่ทราบแหล่งที่เรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองอื่นนอกเหนือจากนี้ สามารถส่งมาคุยกับผมได้ที่ gelgloog@hotmail.com ครับ

3 comments:

ree48012 said...

blog ของพี่ให้ความรู้ แล้วก็ได้อีกมุมมองหนึง ขอบคุณความรู้มากๆนะคะ

Bear said...

ขอสอบถามหน่อยค่ะ พอดีได้มีโอกาสได้อ่าน blog ของพี่ตอน search หาข้อมูลเกี่ยวกับคณะต่างๆ ตอนนี้มีความฝันอยากเรียนปริญญาคณะอื่นที่ไม่ใช่ปัจจุบันซึ่งเป็นอีกคณะที่อยากเรียนมานาน แต่มีข้อจำกัดคือเรียนได้แค่ 1 คณะ เลยพยายาม search หาข้อแตกต่างของเศรษฐศาสตร์และบัญชี จนมาเจอถึงข้อความที่พี่เคยโพสต์ไว้ เลยอยากปรึกษาถึงข้อแตกต่างและเรื่องเนื้อหาวิชาที่เรียนของเศรษฐศาสตร์หน่อยค่ะ ถ้าเป็นไปได้อยากทราบด้วยว่าเทียบกับบัญชีแล้วเนื้อหาของ 2 วิชานี้แตกต่างกันยังไงค่ะ ไม่มีความรู้ด้านนี้เลย เนื่องจากวิชาที่จบมาคนละสายงานกับด้านนี้เลยค่ะ

ขอบคุณนะคะ

Unknown said...

พอดีอ่านการแนะนำเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ อยากจะขอเมลพี่เพื่อปรึกษาหน่อยได้ไหมค่ะ