Thursday, October 20, 2005

จากคอลัมน์ เหะหะ พาที ไปจนถึงทฤษฎีการบริโภคเชิงสัญญะ




พอดีได้อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” ของคุณ “ซูม” ในหนังสือพิมไทยรัฐเมื่อวันอังคารที่ 18 ที่ผ่าน ซึ่งในคอลัมน์ได้บอกเล่าเก้าสิบว่า บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ แถลงยอดขายรถยนต์ของบริษัทตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม จนถึงเดือนกันยายน ปีนี้รวมแล้วประมาณ 5 แสนคันเศษ ซึ่งเพิ่มจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวถึง 15 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายที่สวนกับกระแสปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่ถีบตัวขึ้นเพิ่มขึ้นสูงมาก

คุณซูมยังมองต่อไปอีกว่ารถยนต์นั้นเปรียบได้ดั่งปัจจัยที่ 5 ของคนไทย และยิ่งไปกว่านั้นรถยนต์สำหรับคนไทยยังถือได้ว่าเป็นเครื่องแสดง“ฐานะ”และบ่งบอก“ความมีระดับ”ของผู้เป็นเจ้าของอีกด้วย โดยที่คุณซูมได้อ้างถึงรายงานฉบับหนึ่งที่ได้มีการสำรวจซึ่งพบว่า บัณฑิตยุคใหม่อยากที่จะมีรถเป็นของตัวเองมากกว่าบ้านด้วยซ้ำ

ค่านิยมดังกล่าวร่วมด้วยกับการที่ระบบขนส่งสาธารณะบ้านเรายังเฮงซวยไม่มีเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้คนต่างพากันเสาะแสวงหารถยนต์เพื่อเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ

จากข้อเขียนของคุณซูมเราสามารถมองได้ว่าบางครั้ง(หรือหลายครั้ง)พฤติกรรมทางด้านเศรษฐกิจของคนเรามักจะไม่ได้แปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจเสมอไป ดังเช่นการบริโภครถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างสวนกระแสดังที่ได้กล่าวมา

เพราะสังคมเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ในระบบสังคมยังมีเรื่องของปัจจัยทางด้านสถาบันที่เป็นนามธรรมต่างๆเช่น จารีต ค่านิยม แบบแผนทางสังคม ธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคม ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมของปัจเจกชนทั้งสิ้น และปัจจัยเหล่านี้มีความเป็นพลวัตร(dynamic) กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่ได้คงที่แต่อย่างใด

ดังนั้นการวิเคราะห์ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มองพฤติกรรมการบริโภคของปัจเจกชนที่ตั้งอยู่บนหลักการของความมีเหตุมีผล(rational) และกำหนดให้ปัจจัยทางด้านสถาบันอื่นๆคงที่ดูท่าจะเป็นข้อสมมติที่ห่างไกลความเป็นจริงไม่น้อยเลยทีเดียว

ซึ่งถ้ามองในมุมของทฤษฎีการบริโภคเชิงสัญญะ(comsumption of sign)ที่ถูกนำเสนอโดย ฌอง โบดริยาร์ด (Jean Baudrillard) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักคิดสกุลหลังสมัยใหม่(postmodern) อันเอกอุได้นำเสนอว่า การบริโภคสินค้าของเรานั้นตกอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์แห่งสัญลักษณ์ต่างๆ

เมื่อพิจารณาสินค้าหนึ่งๆจะพบว่า มันจะต้องประกอบไปด้วยคุณค่าแห่งการใช้สอย(use value) ซึ่งก็คือประโยชน์ของสิ้นค้านั้น และคุณค่าในการแลกเปลี่ยน (exchange value) ซึ่งก็คือมูลซื้อขายของสินค้านั้นๆในตลาดนั่นเอง

ซึ่งถ้ามองตามปกติสินค้าต่างๆน่าจะถูกประกอบด้วยมูลค่าทั้งสองแบบดังที่กล่าวมา แต่ทฤษฎีการบริโภคเชิงสัญญะนำเสนอต่อไปอีกว่า สินค้านอกจากมีคุณค่าทั้งสองอย่างแล้ว มันยังมีคุณค่าเชิงสัญญะ(sign value) อีกด้วย

นั่นหมายความว่านอกจากสินค้ามันมีจะประโยชน์ใช้สอยตามหน้าที่ของมันแล้ว มันยังสามารถที่จะสื่อ “สัญลักษณ์” อะไรบางอย่างได้อีกด้วย และการที่เราอยากจะครอบสินค้านั้นคงไม่ได้มาจากประโยชน์ใช้สอยของมันแต่เพียงประการเดียว หากมาจากการที่เราต้องการที่จะครอบครอง “สัญลักษณ์” ของตัวสิ้นค้านั้นๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆดังเช่นรถยนต์ในกรณีที่คุณซูมยกมาเราจะพบว่าส่วนหนึ่งที่เราต้องการครอบครองมันก็เพราะว่ามันมีคุณค่าใช้สอยที่จะทำให้เราเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย แต่เมื่อมองลงไปจะพบว่าสัญญะที่รถยนต์สื่อออกมามันแสดงถึง “ฐานะ” ของผู้ที่ครอบครองได้อีกด้วย ดังนั้นการที่คนเราอยากได้รถยนต์ส่วนหนึ่งก็เพื่อต้องการที่จะ“สื่อ” ถึง “ฐานะ” ของตนให้ผู้อื่นได้รับรู้นั่นเอง

ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ชัด ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง…..

เช่นในกรณีของรถยนต์ออฟโรด(off road) ที่สื่อถึงความแข็งแกร่งสมบุกบัน สามารถขับขี่ได้ในที่ๆไม่ต้องมีถนนรองรับ จะเห็นได้ว่าบางคนใช้รถยนต์ประเภทนี้ก็เพื่อต้องการที่จะ “สื่อ” ว่ากูก็เป็นคนประเภท“ลุยๆ”นะ(ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจจะไม่เคยเอารถออกไปลุยเลยก็ได้ ได้แต่ขับในเมืองไปทำงาน) นั่นแสดงว่าเขาใช้รถยนต์เป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นตัวของตัวเองและสร้างอัตลักษณ์(indentity)ทำให้ตนเองไม่เหมือนคนอื่นโดยผ่านการบริโภคสินค้า

ไม่เพียงแต่รถยนต์เท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่าสินค้าต่างๆที่พวกเราต่างใช้สอยกันก็ล้วนอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์แห่งสัญลักษณ์ทั้งสิ้น กล่าวคือสินค้าหนึ่งๆมันจะต้องเป็นตัวแทนของสัญญะอย่างใดอย่างหนึ่ง(หรือหลายอย่างก็ได้)

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการบริโภคของคนเรานั้นมีความซับซ้อนเหลือเกิน ซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ดังนั้นการวิเคราะห์ในประเด็นที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคของปัจเจกชนหรือสังคม ควรที่จะพิจารณาเรื่องราวดังกล่าวรวมเข้าไปด้วย

แม้ว่าการวิเคราะห์ในทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เน้นการประมาณแบบจำลองอุปสงค์ที่มีรากฐานมาจากทฤษฎีอรรถประโยชน์ จะทำให้ได้การวิเคราะห์ที่สามารถทำนายผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆในแบบจำลองได้อย่างมีนัยสำคัญ(ทางสถิติในแบบจำลอง) แต่ข้อเสียก็คือการวิเคราะห์แบบนั้นมันยังขาดความลุ่มลึกในการพิจารณาถึงพฤติกรรมการบริโภคที่แท้จริงในสังคมที่ยังมีความซับซ้อนรอให้ค้นหาความจริงอยู่

อย่าลืมว่าเศรษฐศาสตร์ก็เป็นสาขาหนึ่งในสังคมศาสตร์ ดังนั้นการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้เราไม่สามารถเข้าใจสังคมได้อย่างถ่องแท้ สิ่งที่จำเป็นควบคู่กันไปก็คือเศรษฐศาสตร์ควรจะต้องเป็นศาสตร์ที่อธิบายสังคมได้อย่างลุ่มลึกและรอบด้าน

สำหรับตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้หวังอะไรไปมากกว่าการที่แนวคิดทฤษฎีการบริโภคเชิงสัญญะที่ได้นำเสนอมาจะเป็นอีกหนึ่งในแนวคิดที่เข้าไปแต่งแต้มสีสันโลกแห่งเศรษฐศาสตร์ให้แลดูสวยงามน่ามองยิ่งขึ้น……..





Monday, October 17, 2005

ขอยีสต์ด้วยคน!!!

ตอนนี้ป่วยมาได้สองสามวันแล้วครับ……ตรัสรู้เลยว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐแท้

แต่เวลาป่วยก็ดีอย่างครับมันทำให้เราต้องนอนแอ้งแม้งอยู่เฉยๆ บางทีนอนเยอะๆมันก็เบื่อครับเลยต้องหาหนังสือมาบรรเทาความเบื่อเสียหน่อย เลยไปหยิบเอา”โลกนี้มันช่างยีสต์” ของคุณท่านแทนไท ประเสริฐกุลมา อืม……อ่านไปได้แต่คิดในใจว่า อ้ายนี่มันช่างยีสต์จริง

ประเด็นมันอยู่ที่ตรงนี้ครับ ผมอ่านหนังสือของพี่แก โอเค มันเป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่งเลยทีเดยว ให้รอยยิ้มกับคนอ่าน ให้ข้อคิดดีๆอะไรต่อมิอะไรตั้งเยอะแยะ โดยเฉพาะคนที่อยากเป็นครูบาอาจารย์อย่างผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ถือว่าได้ประโยชน์มากจริงๆ แต่ทว่า…..พออ่านเรื่องยีสต์ๆของพี่แกแล้ว ชีวิตผมก็เกิดเรื่องยีสต์ๆขึ้นทันที อะไรของมันวะ??

จริงๆมันก็ไม่ได้มีอะไรมากมายนักหรอกครับ แต่ก็อยากจะบ่นไปงั้นๆแหละ เรื่องมันก็เริ่มจากว่าตอนแรกไอ้ท่านเพื่อนของผมสองคนแม่งเสี้ยนสุราขนาดหนัก โทรมาหาผมตอนเอ่อ..เห็นจะเลยเที่ยงวันซักหน่อยได้ ซึ่งแม่งโทรมาผมก็รู้แล้วว่าจะมาใช้บ้านกูเป็นที่เสพสุราแหงมๆ คุยไปคุยมาผมเลยบอกไปว่า “กูไม่สบายมึงอย่ามาเลย” มันก็เลย “เออๆๆ กูไม่ไปละ” ไอ้เราก็คิดว่า เอ…..ดีเว้ยพวกแม่งว่าง่ายดี

วันทั้งวันก็ไม่ได้ทำอะไรครับ นอนสลับกับเล่นเนท ไปเรื่อยๆ จนมาถึงตอนเกือบๆจะค่ำก็มีไอ้เพื่อนอีกคนโทรมา (จริงๆแม่งเป็นรุ่นน้องสมัยที่เรียนมัธยมแต่แม่งปีนเกลียวกันทั้งแก๊งพวกแม่งไม่เคยเรียกกูพี่เล้ย แต่ก็เอาเหอะจะไปถือแม่งก็กระไรอยู่คบกันมาจนป่านนี้แล้ว)

“เห้ยๆๆ วันนี้วันเกิดไอ้เอ็กส์มัน ออกมาหน่อย เนี่ยๆร้านเพลินจิตตรงบ้านมึงเนี่ย”
ไอ้เราก็ เอ่อ….”กูไม่สบายอยู่ว่ะไว้วันหลังละกันนะ”
พี่แกก็ทำประมาณว่า “โหยๆ ซึ้งหวะๆ แม่ง”

ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงได้แต่คิดในใจว่า แม่งจะอะไรกันนักกันหนาวะมึงไม่เคยเจ็บไม่เคยไข้กันรึไง ก็เลยบอกไปแบบจำใจว่า

“เออๆๆ ดูก่อนนะ” (จริงๆไอ้คำว่าดูก่อนถ้าใช้กับเพื่อนเนี่ยรู้ได้เลยกว่ากว่าร้อยละ90แม่งเบี้ยวแน่)

พอค่ำๆไม่รู้ผีตนใดเข้าสิงผมก็ไม่ทราบ(หรือจะเป็นผีแทนไทฯ) ผมโทรหาเพื่อนที่ชวนผมตอนแรกก่อน อารามประมาณว่าสงสารพวกมันจริงๆไม่มาแด๊กเหล้าบ้านกูแล้วพวกมันจะซัดเพนจรไปร่ำสุราที่ไหนกัน โทรหาเสร็จสรรพปุ๊บก็เลยบอกมันว่ากูจะไปหาละกันแต่มิสามารถแตะต้องสุราได้

อืม….ไหนๆจะออกจากบ้านก็เลยโทรหาเพื่อนอีกคนที่โทรมาบอกว่า “เออๆ กูเปลี่ยนใจแล้ว พวกมึงถึงร้านแล้วโทรมานะ” (ไม่ใช่อะไรหรอกครับพอพวกมันโทรมาผมจะได้ผละจากเพื่อนอีกคนได้ง่ายหน่อย แหะๆ)

ก็ออกไปหาไอ้พวกกลุ่มแรกเสร็จ นั่งคุยนั่งเฮฮาไปตามอัตภาพ พอซักสามทุ่มหน่อยๆ(จริงๆพวกแม่งนัดผมสองทุ่ม)ได้มั๊งก็ลองโทรหาเพื่อนอีกพวกนึงดู

“เห้ย มึงอยู่ไหนแล้ววะ”
“เอ้อ เนี่ยจะเข้าร้านแล้วตรงเนี้ย”
“เออๆๆ กูออกไปละ เจอกันๆ”

ร่ำลาพวกแรกเสร็จออกไปหาอีกพวกหนึ่ง เอารถไปจอดปุ๊บเดินไปที่ร้าน เอ…….วันนี้มันแปลกๆแฮะ เสียงเพลงก็ไม่มี มืดก็มืด พอเดินมาใกล้ๆ โอวววว….แม่งคลุมร้านหมดทุกทิศทุกทาง อะไรฟะเนี่ย แบบนี้ร้านแม่งปิดแน่นอน เด็กห้าขวบยังรู้ แต่ไม่เป็นไร ร้านปิดผมมีทางลับครับ (อย่างว่าแด๊กร้านนี้แม่งประจำ ถึงคลุมร้านกูก็ไม่หวั่น)

เดินเข้าไปเจอพี่ที่ร้าน

“พี่ๆ ร้านปิดหรอ”

พี่แม่งก็อารมณ์งงๆ ประมาณว่ามึงไม่เห็นรึว่าร้านปิดอยู่เดินเข้ามาถามเฉยเลย แต่ก็ตอบกลับมาว่า

“ปิดครับน้อง แต่ถ้าน้องจะมานั่งก็นั่งได้นะ”

เอาละไง สรุปมันปิดหรือไม่ปิดวะเนี่ย ผมเลย อืม….โทรหาเพื่อนก่อนดีกว่า

“เห้ย พวกมึงอยู่ไหนกันวะ”
“เนี่ยๆ ตรงร้านละ กำลังขับรถเข้าร้าน”

เจริญ!! ไม่มีหมาซักตัวครับท่าน มีผมคนเดียว แม่งจะถึงตั้งกะตอนโน้นแล้วแม่งไม่ถึงซะทีมันไปขับรถวนอ้อมโลกที่ไหนวะ มันน่ายีสต์แตกจริง(ขอเลียนแบบคุณแทนไทหน่อยละกัน)

ตอนเดินออกมารอพวกแม่งนอกร้านก็คุยกับพี่ที่ร้านอีกครับ ได้ใจความว่า พอดีพรุ่งวันออกพรรษาเค้าก็เลยอยากหยุดควบสองวันไปเลย แต่ถ้าน้องๆอยากกินกันแรงกล้าขนาดนั้นก็มานั่งมากินได้ตามปกติ

อืม……พี่นี่ยอดคนจริงๆ ต้อนรับขับสู้นักดื่มทุกสถานการณ์ โอสสสส (หวังว่าคุณแทนไทคงไม่จดลิขสิทธิ์คำๆนี้นะครับ เพราะมันสามารถหาได้ในการ์ตูนญี่ปุ่นทั่วไป)

รออีกเกือบสิบนาทีได้กว่าแม่งจะมา คุยไปคุยมาพวกมันจะไปร้านอื่นกัน แต่ผมไม่เอาด้วยหละ บอกทักทายเจ้าของวันเกิดเสร็จผมก็เลยกลับบ้าน เพราะเกรงว่าสุขภาพจะไม่อำนวย อีกทั้งตะกี้ก็ยีสต์แตกไปแล้ว กลัวมันจะไปกระทบกระเทือนสุภาพมากไปกว่านี้

กลับมาก็เปิดคอม up blog ก่อนเลยครับ จริงๆกะไว้ว่าจะพยายามใช้ blog นี้นำเสนอเรื่องราวชีวิตประจำวัน บางวันก็แนมๆสาระเสียหน่อย แต่รู้สึกว่า ไปๆมาๆ สาระจะหาไม่ค่อยได้แฮะ

ชีวิตคนเรามันก็แบบเนี้ยแหละครับ ผมว่าความไร้สาระมันก็คือหนึ่งในสาระของชีวิตคนเรา ไม่ว่าคนอื่นจะมองแบบไหนแต่สำหรับแล้ว ความไร้สาระมันสามารถมาเติมเต็มชีวิตของผมได้ครับใครมันจะมีชีวิตแบบมีสาระร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ช่างเค้าเถิด แต่เป็นผมคงคลั่งตายแน่นอน

แต่ระหว่างที่ up blog อยู่ก็ได้ยินเสียงท่านแม่แว่วบ่นมาว่า “บอยเอ้ย…เมื่อไหร่จะอ่านหนังสือลูก ทีซีส น่ะเริ่มทำได้แล้วนะลูก เดี๋ยวจะเสร็จไม่ทัน ฯลฯ” อืม….จริงๆก็คิดไว้นานแล้วล่ะครับว่าควรจะเริ่มทำซึ่งเห็นทีต้องจริงจังกับมันเสียที ไม่งั้นชีวิตและความฝันน้อยๆของกระผมคงมลายหายวับไปแน่นอน

คาดว่าตอนหน้า (ถ้าขยันหน่อยก็คงจะพรุ่งนี้) คงจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ของผมนะครับใครสนใจก็มาอ่านกันได้เลย ส่วนเรื่องยีสต์ๆ ก็ขอแค่ครั้งนี้ครั้งเดียวพอครับ หนังสือพี่แทนไทฯ นี่ทำผมอินจริงๆ เลยขอยีสต์กับเค้าซะหน่อย 5 5 5

แล้วไว้พบกันใหม่ครับ

ป.ล.
ใครยังไม่ได้อ่าน “โลกนี้มันช่างยีสต์” ได้โปรดไปหามาอ่านซะ ผมไม่รู้จะนิยมหนังสือพี่แกยังไงดีเอาเป็นว่า หนังสือแหวกๆแบบนี้หวังว่าคงมีเล่มดียวในโลกนะ ก๊ากๆ

Thursday, October 13, 2005

นำเสนอรายนามหนังสือผู้โชคดี



วันนี้ตื่นขึ้นมาพร้อมความงัวเงียปวดหัวตึ้บๆบวกกับอาการคอแห้งผาก…..อาการแบบนี้ฟันธงได้เลยครับว่าเมาค้างแน่นอน อันที่จริงแล้วอยากจะนอนต่อใจจะขาด แต่เสือกนัดเพื่อนไปงานสัปดาห์หนังสือฯซะงั้น เอาก็เอาวะต้องกลั้นใจลุกขึ้นไปอาบน้ำอาบท่ารอท่านเพื่อนมันมารับ

ตอนแรกเสนอให้ท่านเพื่อนเอารถไปจอดที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินซะ จะได้นั่งรถไฟใต้ดินไปสบายๆมุดดินไปแผล่บเดียวก็ถึงที่แล้ว แต่พี่แกไม่ยอมจะขับรถไปครับ เอาก็เอาวะกูไม่ได้ขับ น้ำมันก็ไม่ได้จ่าย มึงจะเอายังไงก็เรื่องของมึง

กว่าจะวนหาที่จอดรถได้ก็ล่กกันแทบตาย แต่สุดท้ายได้ที่จอดมุมงดงามมากครับ ใกล้กับประตูทางเข้าเลย โชคดีชิบหาย….

พอเข้าไปในงานก็เจอกับฝูงชนมหาศาล คนโคตรเยอะจริงๆ ทำไมเวลาปกติแม่งไม่ซื้อหนังสือกันวะ แห่กันมาซื้อเอาซะวันนี้กันหมด บ่นไปก็เท่านั้นครับ เพราะจะว่าไปไอ้เราก็เลือกที่จะมาซื้อเอาช่วงนี้เหมือนกัน ไปบ่นใส่ชาวบ้านเค้าแต่ตัวเองแม่งก็ไม่ได้จะต่างกับคนอื่นซักเท่าไหร่เล้ย

สรุปได้รายนามหนังสือผู้โชคดีที่ได้ผมเป็นผู้ครอบครองดังนี้ครับ

1.ผู้ชายผู้หลงรักตัวเลข แปลโดย นรา สุภัคโรจน์ - มติชน

เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของ พอล แอร์ดิช นักคณิตศาสตร์ชาวฮังการี ผมกับคณิตศาสตร์เป็นอะไรที่คบหากันยากครับ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าคนที่เค้าหลงใหลคณิตศาสตร์หัวปักหัวปำนี่เค้าใช้ชีวิตกันยังไง เลยจัดแจงฉกมาซะ

2.everybodyeverything โดย วิศุทธิ์ พรนิมิต - Typhoon

บอกได้คำเดียวเลยครับว่าการ์ตูนเล่มนี้แนวโคตร…….

3.OCTOBER เล่ม 5 – openbook

สำหรับ October นี่ไม่เคยพลาดครับ เนื้อหาเข้มข้นตลอดกาลจริงๆ

4.ว่าด้วยโลกในศตวรรษที่ 21 เรียบเรียงโดย อุทัย วงศ์ไวศวรรณ – คบไฟ

คบไฟเป็นอีกสำนักพิมพ์หนึ่งที่ชอบผลิตหนังสือดีมีประโยชน์ นี่ก็อีกเล่มครับพลิกไปพลิกมาน่าสนใจทีเดียว เป็นหนังสือที่สำเสนอโลกของเราในหลายๆแง่มุมได้ดีจริงๆ

5.นิเวศน์วิกฤตความรู้กับวิวาทะ โดย ยศ สันติสมบัติ กับ อัมมาร สยามวาลา - คบไฟ

วิวาทะของทั้งสองท่านได้ออกมาเป็นหนังสือได้นานแล้วครับ แต่ถึงจะเก่าจะนานผมก็ไม่ถือครับ วิวาทะคลาสสิค(สำหรับผม)ขนาดนี้ไม่มีเก็บไว้เห็นทีจะไม่ได้ซะแล้ว

6.บริการรับนวดหน้า โดย ชาติ กอบจิตติ – สำนักพิมพ์หอน

ที่บ้านผมก็มีผลงานของชาติ กอบจิตติอยู่บ้างครับ แต่พักหลังไม่ค่อยได้ซื้อเลย พอดีเหลือบมาเห็นเล่มนี้มันเล็กดีแฮะ เหมาะกับคนขี้เกียจแบบผมแถมไม่แพงอีกต่างหากก็เลยเอาซะหน่อย

7.โลกนี้มันช่างยีสต์ โดยแทนไท ประเสริฐกุล – สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด

โคตรยีสต์เลยเล่มนี้ แถมโคตรโชคดีอีกต่อเพราะคุณแทนไทได้ประทับลายเซ็นบนหนังสือให้ด้วย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชีวิตของผมที่ได้ลายเซ็นเจ้าของผลงานประทับบนหนังสือ
ขอบคุณมากคร้าบ……

8.ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ โดย BURONSON – สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ

อันนี้ไม่ได้ซื้อที่งานสัปดาห์หนังสือครับ แต่ก่อนไปที่งานแวะเช่ามา 11 เล่มรวดที่ร้านแถวบ้านแหะๆ บอกแล้วชีวิตผมขาดการ์ตูนไม่ได้


ได้หนังสือมาหลายเล่มเหมือนกันไม่รู้ว่าจะอ่านจบเมื่อไหร่ ขนาดไอ้เล่มที่ได้มาจากงานฯคราวที่แล้วถึงทุกวันนี้ยังอ่านไม่จบก็ยังมีอีกหลายเล่ม เห้อออ เรื่อยเปื่อยจริงๆ

อย่างว่าแหละครับ ผมมันคนชอบ “เล้าโลม” หนังสือไอ้ที่ว่าเล้าโลมก็คือ พอได้มาแล้วไม่รู้จักอ่านครับ เล้าโลมมันด้วยสายตาและการเปิดพลิกไปพลิกมาไม่เอาไม่อ่านมันจริงๆซักที บางเล่มนี่เปิดไปเปิดมาจนเปื่อยแต่เนื้อหาข้างในยังอ่านไม่ถึงไหนเลยก็มี ซื้อมาทำไมวะเนี่ยกู??

แต่ความโลภมันไม่รู้จักจบสิ้นครับ ยังไม่อีกหลายเล่มเหมือนกันที่ผมอาฆาตเอาไว้ เช่น “วาทกรรมการพัฒนา” ของ อ.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เล่มนี้เจ๋งมากครับ อยากได้เก็บไว้เองเหมือนกันแต่ทว่าคนมันเบี้ยน้อยหอยน้อยครับ เงินไม่พอซื้อ

อีกเล่มก็ “ฟื้นสังคมศาสตร์ : ทำไมการวิจัยทางสังคมจึงล้มเหลว และจะทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?” เบ็นท์ ฟริเบียร์ เขียน แปลโดย อรทัย อาจอ่ำ นี่ก็เป็นอีกเล่มครับที่เล็งๆเอาไว้ แต่แม่งแพงชิบ เลยยกยอดเอาไว้วันหลังก็แล้วกัน

เขียนไปเขียนมาก็ปาเข้าไปตีหนึ่งละ เริ่มเบลอๆแล้วครับ เพราะวันนี้เหนื่อยจากการเดินทั้งวันด้วยความเมาค้างแล้วยังไม่พอ ไอ้ท่านเพื่อนชวนกันไปตีแบดมินตันอีกครับ สุดยอด เหนื่อยโคตรๆ !! สังขารคนเรามันไม่เที่ยงจริงๆครับ

ดังนั้นตอนนี้เอาหนังสือเก็บเข้าชั้นไปก่อน การอ่านไม่จำเป็นต้องรีบร้อนก็ได้ครับ (ข้อแก้ตัวของคนที่ขี้เกียจและชอบผลัดวันประกันพรุ่ง ฮ่าๆ) ตอนนี้ได้เวลาอ่านการ์ตูนที่เช่ามาแล้ว หึหึ

“แกมันอ่ะมันตายไปแล้ว”

“ไฮ่ย์…อัตต๊าอัตต๊าอัตต๊าอัตต๊าาาาาาาาาาาาาาาา!!!!!”

Sunday, October 09, 2005

การแข่งขันกับธรรมชาติของมนุษย์ : ข้อคิดจาก Academy Fantasia



ข้อสมมติอันสำคัญของแบบจำลองที่ใช้วิเคราะห์พฤติกรรมปัจเจกชนในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็คือการที่มองมนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ(homoeconomicus) ที่มีเหตุผล (rational) กล่าวคือภายใต้แบบจำลองดังกล่าวผู้เล่น (players) ทุกคนในตลาดจะถูกขับเคลื่อนโดยแรงจูงใจทางด้านผลประโยชน์เป็นหลัก เช่นผู้ซื้อ(buyers)ก็จะต้องบริโภคสินค้าให้ได้รับความพอใจสูงสุด(utility maximization) ส่วนผู้ขายก็จะต้องผลิตและขายสินค้าให้ได้ในกำไรสูงสุด(profit maximization) ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว ทุกคนจะแข่งขันกันทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งท้ายที่สุดการแข่งขันก็จะทำพาสังคมไปสู่จุดที่เรียกว่าภาวะอุตมภาพแห่งพาเรโต(pareto optimal) ซึ่งเป็นจุดที่สังคมได้รับสวัสดิการสูงสุด ทุกคนล้วนได้ประโยชน์จากการแข่งขันกันถ้วนหน้า

ข้อดีของการมองมนุษย์ในแง่มุมดังกล่าวเพียงด้านเดียวก็คือทำให้ง่ายต่อการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่นำเสนอการวิเคราะห์ที่เป็นเหตุเป็นผลและนำมาสู่ข้อสรุปต่างๆได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ผมเห็นในโลกความเป็นจริงในบางกรณี(หรือหลายๆกรณี) ธรรมชาติของมนุษย์มันไม่ได้มีเพียงด้านเดียว แน่นอนว่าการแข่งขันมันก็เป็นด้านหนึ่งที่ฝังตัวอยู่ในสัญชาติญาณของการเป็นมนุษย์ (ต้องขอบคุณ Discovery Channel ที่ได้ให้ความรู้แก่ผมด้วยการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับสัญชาติญาณการแข่งขันของมนุษย์) แต่ผู้เขียนเชื่อว่าภายใต้ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนในสังคมของมนุษย์ คนเรานั้นมีหลากหลายมิติมากกว่าการแข่งขันห้ำหั่นกันเอง…….

ซึ่งผมได้ฉุกคิดในประเด็นดังกล่าวได้จากการได้ชมรายการเรียลลิตี้โชว์ ยอดฮิตของเมืองไทยซึ่งก็คือ “UBC Academy Fantasia season 2” ซึ่งรูปแบบของรายการนี้ก็คือการนำเหล่า “นักล่าฝัน” ทั้ง 12 คนที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทั่วประเทศมาอยู่ร่วมกันในบ้าน Academy เพื่อฝึกฝนวิชาการแสดง การเต้น การร้องเพลง ฯลฯ ภายใต้คำชี้แนะของคุณครูหลายๆคนซึ่งแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป

ซึ่งไฮไลต์ของรายการนี้จะอยู่ที่วันเสาร์ทุกสัปดาห์ โดยนักล่าฝันจะต้องแสดงคอนเสิร์ตต่อหน้าผู้ชมโดยที่แต่ละคนจะได้โจทย์เพลงที่แตกต่างกัน และมีเหล่า commentator คอยวิพากษ์วิจารณ์การแสดงของแต่ละคน โดยแต่ละสัปดาห์จะต้องมี 1 คน ที่ได้รับผลโหวตจากผู้ชมน้อยที่สุดจะต้องออกจากบ้าน Academy ไป

จนมาถึงวันสุดท้ายของการแข่งขัน ผมมองเห็นเหตุการณ์ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความประทับใจนั่นคือเหล่าบรรดานักล่าฝันต่างพรั่งพรูความรู้สึกที่มีให้กันและกัน แม้จะไม่มีคำพูดใดๆแต่ผมก็สามารถสัมผัสถึงมิตรภาพและความรู้สึกดีๆ ระหว่างพวกเขาเหล่านั้น รวมไปถึงความรู้สึกที่มีต่อครูบาอาจารย์ที่คอยสอนสั่งมาตลอดระยะเวลา 12 สัปดาห์

นั่นหมายความว่าแม้จะอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ทุกคนจะต้องแข่งขันกัน แต่ระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในบ้าน Academy มันก็ก่อให้เกิดมิตรภาพ ความผูกพัน การให้กำลังใจซึ่งกันและกันความรู้สึกดีๆให้แก่กัน สิ่งเหล่านี้ค่อยๆพัฒนาก่อตัวไปพร้อมกับการแข่งขันที่ทุกคนต่างต้องฟันฝ่าเพื่อความฝันของตนเอง

แล้วสิ่งที่ผมเห็นมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือไม่??

มันทำให้ผมคิดได้ว่าการแข่งขันไม่ได้เป็นธรรมชาติเพียงอย่างเดียวของมนุษย์……

ภายใต้สมมติฐานของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่ทุกคนต้องแข่งขันซึ่งกันและกัน แม้เราจะได้แบบจำลองที่อธิบายพฤติกรรมหนึ่งๆได้อย่างหมดจดสวยงาม ดูดีและเป็นเหตุผลเสียเหลือเกินมันทำให้เราหลงลืมอีกหลายๆด้านที่ดำรงอยู่ในตัวตนของความเป็นมนุษย์

แม้การวิเคราะห์โดยใช้ตรรกะ(logic) ทางคณิตศาสตร์จะทำให้เศรษฐศาสตร์ดูเป็นศาสตร์ที่มีระเบียบแบบแผนและมีเหตุมีผลในทุกขั้นตอน แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือการวิเคราะห์บางอย่างภายใต้ตรรกะทางคณิตศาสตร์มัน “too logical to be true” บางอย่างมันไม่ได้ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อยแม้มันจะมีเหตุมีผลก็ตามที แล้วจะนำมันไปอธิบายโลกความเป็นจริงได้อย่างไร

ผมไม่ได้บอกว่าแบบจำลองเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือการมองโลกผ่านทางแบบจำลองที่มีสมมติฐานคับแคบดังกล่าวคงมิอาจที่จะทำความเข้าใจพฤติกรรมทางสังคมได้อย่างถ่องแท้ ดังนั้นแล้วการตระหนักถึงข้อจำกัดของแบบจำลองจึงเป็นสิ่งสำคัญและผู้ที่นำมันไปใช้ควรคำนึงถึงสิ่งนี้อยู่ทุกขณะจิต

ดังนั้นแล้วเศรษฐศาสตร์ก็ควรมองธรรมชาติของมนุษย์ให้มีความเป็นมนุษย์มากกว่าที่จะมองมนุษย์เป็นเพียงแค่สัตว์เศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ เพื่อทำให้เราสามารถทำความเข้าใจโลกแห่งความซับซ้อนนี้ได้เข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น!!




Friday, October 07, 2005

เปิดตัว!!

ในที่สุดผมก็มี blog เป็นของตัวเองซักที!!
ทั้งที่ก่อนหน้านี้การสร้าง blog ไม่ได้อยู่ในห้วงคำนึงของผมเลยแม้แต่น้อย

จนมาวันหนึ่ง จากการที่ผม seach มั่วหาอะไรซักอย่างใน google ทำให้ผมได้หลุดเข้าไปใน pin poramet’s blog ด้วยความบังเอิญและงุนงงเป็นที่สุด…..”นี่กูเข้ามาอยู่ในไหนวะเนี่ย??”…”ไอ้ blog นี่มันคืออะไรว้า ไม่เคยได้ยิน”…..ฯลฯ คำถามต่างๆล้วนผุดขึ้นมาในหัวสมองผมอย่างไม่หยุดหย่อน แต่ตอนนี้ขอปล่อยคำถามใหัมันคาอยู่แบบนั้นไปก่อนแหละดีแล้ว ไหนๆหลงเข้ามาแล้วก็ขอแจมขออ่านซักหน่อยก็แล้วกัน….

หลังจากวันนั้น pin poramet’s blog ก็ได้เข้ามาอยู่ใน My Favorite list ของผม และเมื่อผมออนไลน์ครั้งใดก็อดไม่ได้ที่จะแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชม pin poramet’s blog และเหล่าบรรดา “ก๊วน blog” ของเขาอีกหลายท่าน ซึ่งสิ่งที่ผมได้สัมผัสก็คือได้พบกับข้อเขียนหลายหลากแนวหลากหลายความคิด อีกทั้งแต่ละท่านล้วนมีฝีไม้ลายมือการเขียนที่เก่งฉกาจกันเหลือเกิน ยิ่งอ่านมันก็ยิ่งเพลินเพราะได้ทั้งความบันเทิงและสั่งสมความรู้ไปในตัว ทำให้วันๆหนึ่งผมเสียเวลาท่อง blog ไปไม่น้อยเลยทีเดียว….

จนในที่สุดผมจึงตัดสินใจว่าจะต้องมี blog เป็นของตัวเองให้ได้ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้า !!

แน่นอนว่ามนุษย์เรามันไม่ได้มีด้านเดียว ด้านหนึ่งความมุ่งมั่นที่อยากจะมี blog มันก็ล้นทะลัก แต่อีกด้านซึ่งมีความขี้เกียจและเฉื่อยชามันได้สถาปนาตนและลงหลักปักฐานในจิตใจอย่างมั่นคงเสียเหลือเกิน และที่เจ๋งสุดๆก็คือความขี้เกียจจะเป็นผู้ชนะเสียทุกครั้งไป เวลาผมคิดจะทำ blog ทีไรทำไมมันต้องผลัดวันประกันพรุ่งเสียทุกที และหมดเวลาไปกับการเสพหนังสือการ์ตูนอันเป็นที่รัก 5-10 เล่มต่อวัน

พฤติกรรมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นลักษณะปกติของคนเฉื่อยชาเช่นผม และอยู่ร่วมกับประวัติศาสตร์การใช้ชีวิตอันเรื่อยเปื่อยของผมมาเป็นเวลากว่า 23 ปีแล้ว

ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีความคิดที่อยากจะทำ blog ผมเองก็เคยเขียนบทความให้ข้อมูลน้องๆเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ใน
www.dek-d.com มาก่อนซึ่งผลตอบรับกลับมาก็ค่อนข้างอบอุ่นพอสมควรทีเดียว กล่าวคือมีคนแวะเวียนเข้ามาอ่านเยอะทีเดียว มีน้องๆมาโพสต์ให้กำลังใจ อีกทั้งมีบางคนถามหาว่าเมื่อไหร่ผมจะ update บทความเสียทีเพราะอยากเข้ามาอ่านบทความใหม่ๆของผม

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมตื้นตันใจเสียเหลือเกิน แต่สุดท้ายแล้วผมก็ตอบสนองสิ่งดังกล่าวด้วยการ “เพิกเฉย” แล้วกลับไปเสพหนังสือการ์ตูนที่เป็นวัตรปฏิบัติอันขาดไม่ได้เช่นเคย เห้อ…..อะไรมันจะเรื่อยเปื่อยขนาดนี้วะกู

เมื่อคิดได้ดังนี้ผมจึงลุกขึ้นมาเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำ blog โดยได้นายตุ่ยเพื่อนคนขยันของผมเคยช่วยเหลือให้คำชี้แนะในหลายๆเรื่อง เพราะโดยลำพังตัวผมเองนั้นทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ก็แทบจะไม่มี จะทำอะไรมันก็มืดแปดด้านก็ต้องอาศัยพึ่งใบบุญคนอื่นเอาอย่างที่เห็นนี่แหละครับ จนในที่สุดก็ได้เป็น blog หน้าที่อย่างที่ท่านๆเห็นกัน

และแล้วในที่สุดผมก็มี blog เป็นของตัวเองดังที่ได้จั่วหัวไว้ในตอนแรก ถึงแม้ความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของมันจะไม่น่าตื่นเต้นและน่าจดจำเท่าไหร่นัก แต่ผมเองก็ภูมิใจไม่น้อยที่ได้มีอะไรซักอย่างที่เป็นของตัวเอง……

วัตถุประสงค์ของ blog นี้ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าคำพร่ำเพ้อของผม ข้อคิดข้อเขียนที่ถูกเขียนขึ้นทั้งในวันนี้และในวันต่อๆมันก็คงไม่เป็นอะไรเสียนอกจากจะเป็นเพียง “วาทกรรม” ที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นโดยน้ำมือของชายผู้หนึ่งที่ชอบเสพหนังสือการ์ตูนเป็นนิจ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆกับความว่างเปล่าและสรวลเฮฮากับเพื่อนฝูงในบางโอกาส

ดังนั้นอย่าเชื่ออะไรที่ผมเขียนมากนักนะครับ!!

ป.ล.
เข้าไปเยี่ยมชมบทความที่ผมเขียนไว้ที่
http://www.dek-d.com/entertain/view.php?id=85890 จะโพสต์ติชมก่นด่าได้ตามอัธยาศัยเลยนะคร้าบ น้อมรับทุกความคิดเห็น