Thursday, October 05, 2006

ขอบ่นเรื่องการศึกษา : ภาคมโนสาเร่


ตอนนี้ผมขอบ่นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาอีกซักตอนแล้วกัน ซึ่งใจจริงคิดอยากจะบ่นเรื่องนี้มานานแล้วล่ะครับ แต่ติดตรงความขี้เกียจอันฝังรากลึกในกมลสันดานทำให้ผัดวันประกันพรุ่งไปเสียเรื่อย ดังนั้นมาคราวนี้เลยขอบ่นแบบเต็มๆ เสียหน่อย เอาให้แฟนหายคิดถึงเลยว่างั้น

สำหรับเรื่องที่จะพูดคุยกันในคราวนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากจะเขียนต่อยอดจากการที่ได้สนทนากับ น้องชลเทพ นักศึกษาด้านมานุษยวิทยา ผ่านเวบบอร์ดพันทิป ซึ่งการสนทนาดังกล่าวนอกจากจะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกันแล้ว ยังส่งผลให้กระตุกต่อมการเขียนของผมพอสมควรเลยทีเดียว อย่างที่รู้กันครับ ผมมันเป็นพวกต้องมีอะไรมาทิ่มๆ แหย่ๆ แยงๆ เสียหน่อย ถึงจะกระตุกต่อมเขียนให้มันทำงานได้

ว่าแล้วเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า........

-1-แอดมิชชั่น

ในข้อเขียนของน้องชลเทพได้เสนอประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่าระบบแอดมิชชั่น (admission) แบบใหม่ที่ได้ถูกใช้ไปนั้นสร้างผลพวงก่อให้เกิดภาวะ “ชายขอบ” (margial) ในวงการศึกษาอย่างมาก โดยการคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ที่เข้มข้นทำให้กีดกันเด็กบางส่วน (และจริงๆอาจจะมากส่วนด้วยซ้ำ) ที่ไม่สามารถผ่านการคัดเลือกเข้าไปอยู่ในสถาบันสังคมสถาปนาให้อยู่ชั้นบนหรือให้คุณค่าว่าดีได้ถูกทำให้กลายเป็นพลเมืองชั้น “รอง” ลงไป และผลที่ตามมาก็คือพวกเขาเหล่านั้นถูกผลักไสให้ไปอยู่ขอบริมของสังคม และโดนสังคมตราว่าเป็นนิสิตนักศึกษาชั้นล่าง

นอกจากจะกล่าวถึงเรื่องความเป็นชายขอบแล้ว ชลเทพได้นำมโนทัศน์เรื่อง “วรรณะ” เข้ามาเพื่อทำให้ประเด็นของเขาชัดขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วระบบแอดมิชชั่นดังกล่าวก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางวรรณะในวงการการศึกษา นิสิต นักศึกษา ที่อยู่ในสถาบันชั้นบนจะถูกยกให้มีวรรณะ เหนือกว่าสถาบันที่รองลงมา ถูกยกย่องให้มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้อื่น

แน่นอนว่าผู้ที่ไม่สามารถเข้าไปสู่สถาบันชั้นบนย่อมตกอยู่ภาวะ “ชายขอบ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นนอกจากจะถูกสังคม (บางส่วน) เมินแล้ว สังคมยังจะคอยที่จะตัดสินคุณค่าให้พวกเขาอยู่ในวรรณะที่ต่ำเตี้ย ทั้งด้านปากท้องเรื่องการการสมัครงานที่ย่อมต้องถูกนายจ้างให้คุณค่าในเกณฑ์ที่ต่ำ ทั้งในแง่สถานภาพทางสังคมที่พวกเขาถูกซ้ำเติมว่าเป็นนักศึกษาชั้นสองที่ไม่มีคุณภาพ ยังผลให้ความไม่เท่าเทียมในวงการศึกษาอยู่ไปทั่วทุกแห่ง

ที่หนักเข้าไปอีกก็คือระบบแอดมิชชั่นที่ถูกนำเข้ามาใช้ได้สร้างทุกข์ให้อย่างมากมาย ด้วยการวัดผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ การประกาศคะแนนไม่คงเส้นคงวา เดี๋ยวมีขึ้น เดี๋ยวมีลง ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวของระบบการวัดผลดังกล่าวอย่างแท้จริง

การวิเคราะห์ที่ผ่านมาของชลเทพ ทำให้ผมได้ย้อนกลับไปคิดถึงภาวะความเป็น “ชายขอบ” ในแวดวงการศึกษาว่าแท้จริงแล้วมันไม่ได้ถูกสถาปนาให้เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้เท่านั้น หากแต่ว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่การศึกษาในบ้านเรามาช้านาน

ความเป็นชายขอบถูกนิยามว่าเป็นการที่คน หรือกลุ่มชน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของสังคม ถูกผลักไสออกจาก “ศูนย์กลาง” ให้ไปอยู่ ณ ขอบริมของสังคม ขอบริมในแง่นี้ไม่ได้หมายถึงขอบริมในเชิงภูมิศาสตร์กายภาพแต่เพียงอย่างเดียว ความหมายของมันรวมถึงขอบริมทางด้านสังคมด้วย ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีสถานภาพที่ต่ำกว่าคนทั่วไป

ภาวะชายขอบสามารถเกิดขึ้นได้หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจ ที่คนจนหรือผู้ที่ประกอบอาชีพที่สังคมให้คุณค่าน้อยถูกทำให้ชีวิตของพากเขาด้อยค่าลงไป หรือจะเป็นในแง่ของเพศสภาพที่เพศที่สาม (กระเทย เกย์ เลสเบี้ยน ฯลฯ) ถูกสังคมประณามและตราหน้าให้เป็นบุคคลที่ผิดปกติ ผิดกลุ่มผิดเหล่า หรือแม้กระทั่งความพิการทุพลภาพก็แสดงถึงความเป็นภาวะชายขอบเช่นกัน โดยคนเหล่านี้จะถูกผลักให้ไปอยู่ขอบริมของสังคมทำให้ขาดโอกาสในสิ่งต่างๆที่คนปกติพึงมี

ซึ่งตรงนี้เหมือนกับเป็นการช่วงชิงและยึดครอง “วาทกรรม” (discourse) กล่าวคือ ผู้ที่สามารถยึดครองและสร้างวาทกรรมที่บ่งชี้ได้ว่าตนเอง “ปกติ” นั้น ย่อมมีอำนาจที่จะยัดเยียดความ “ไม่ปกติ” ให้กับผู้อื่นได้ท้ายที่สุดแล้วผู้คนในศูนย์กลางที่ยึดครองวาทกรรมหลักได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นอื่น” (the others) ให้กลับกลุ่มชนชายขอบ ผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “คนอื่น” นั้นจะถูกสังคมให้คุณค่าที่ต่ำ และถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปสู่สิ่งต่างๆที่คนในศูนย์กลางได้รับ

นอกจากตัวอย่างที่ยกมาแล้ว ภาวะชายขอบก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับวงการศึกษาเช่นกันดังที่ ชลเทพได้นำเสนอมา โดยมันมีกระบวนการทำให้เป็นชายขอบ (marginalization) ซึ่งก็คือระบบการวัดผลที่เรียกว่าแอดมิชชั่นที่สร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่าวรรณะขึ้นมา และนำพาไปสู่ความเลื่อมล้ำในที่สุด

แต่สำหรับผมมีความคิดที่แตกต่างจากชลเทพเล็กน้อยตรงที่มองว่าภาวะชายขอบในวงการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้เท่านั้น เพราะเชื่อว่ามันน่าจะเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเป็น “สมัยใหม่” (modern) ที่เกณฑ์การวัดผลทางการศึกษาถูกจัดให้เป็นระบบระเบียบ และใช้ “คะแนน” เป็นตัวตัดสินชี้ขาดคุณค่าของคน ดังนั้นแล้ว ถ้าหากมองตามภาพนี้จะเห็นได้ว่า ระบบก่อนหน้าการแอดมิชชั่นนั้นก็น่าจะก่อให้เกิดภาวะชายขอบด้วยเช่นกัน แต่เกณฑ์หรือความรุนแรงที่ใช้วัดค่านั้นอาจจะไม่หนักหน่วงเท่ากับตอนนี้

นอกจากประเด็นที่ผมนำเสนอมาคิดว่ามีอีกทิศทางหนึ่งที่น่าคิดเหมือนกัน (ในความคิดของผมนะ) ว่าโดยเนื้อหาของความเป็นชายขอบบางทีมันไม่มีหัวมีหางไม่มีศูนย์กลางแน่นอน ในบางแง่มุม มหาวิทยาลัยของรัฐเองที่คอยสถาปนาความเหนือกว่า (ในเชิงคุณค่า) ก็ตกอยู่ในสภาวะที่เป็น "ชายขอบ" เช่นกัน เนื่องจากระบบการวัดผล สอบเข้าที่เฮงซวย ทำให้ทิศทางการให้คุณค่าของสังคมหันไปหามหาวิทยาลัยทางเลือกอื่นเพิ่มขึ้น มหาวิทยาลัยของรัฐ (โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงกลางๆ) เผชิญกับการกลับหลังหันของผู้เรียน ไปหาที่เรียนอื่นที่สามารถประกันความแน่นอนในการศึกษาให้เขามากกว่าที่จะมานั่งรอผลคะแนนที่ไม่แน่นอน และไม่แน่ว่าจะเข้าเรียนได้หรือไม่ถ้าหากว่าส่วนกลางยังคงยึดแบบแผนเดิมอยู่ ผมว่ามันอาจจะเกิดเหตุผลกลับตาลปัตรได้ กระบวนการเป็นชายขอบ อาจจะเข้าไปสู่ศูนย์กลาง กลับไปหามหาวิทยาลัยที่เคยถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพที่สูง (โดยสังคมให้คุณค่า) ทำให้สถาบันเหล่านั้นมีสิทธิ์ที่จะ "โดนเมิน" ได้

แน่นอนว่าสภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อระบบวัดผลที่ศูนย์กลางใช้อยู่มันยังคงรักษาความ “ห่วย" ไว้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจจะมีความรุนแรงและชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามความเห็นที่ผมเสนอมานั้นคงไม่ใช่เป็นสิ่งที่อยากจะฟันธงชี้ชัดอะไรลงไป หากแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึง “กระแส” บางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นกับแวดวงการศึกษา ภาวะชายขอบที่เราเคยคิดว่ามั่นคงแน่นอนมีลำดับขั้นชัดเจน ภายใต้ยุคสมัยอันยุ่งเหยิงนี้มันถูกทำให้กลับหัวกลับทางทิศทางไม่แน่นอน เกิดเป็น “กระแส” อย่างหนึ่งที่เริ่มก่อตัวในหมู่ผู้ที่ไม่พอใจ (รวมถึงไม่สามารถผ่านเกณฑ์) ระบบการวัดผลดังกล่าว

ถ้าจะตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์หรือกระแสดังกล่าวรุนแรงขึ้นแล้วมันจะนำพาเราไปที่ไหน สำหรับผมคิดว่ามันจะนำพาเราไปสู่ความคลางแคลงในต่อศูนย์กลางเป็นแน่แท้ แต่ด้วยแรงตึงด้านค่านิยมในที่ในสังคมไทยค่อนข้างมีสูงผมว่าการกลับหลังหันของการให้คุณค่ากับสถาบันต่างๆในเชิงสุดขั้วคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือภาระหนักจะต้องตกอยู่กับน้องๆนักเรียน รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะต้องตกเป็นเหยื่อของระบบที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดความเป็นธรรม

-2- ความไม่เท่าเทียม

อีกกระแสหนึ่งทีน่าสนใจก็คือเรื่องราวของการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ที่ผมได้เคยพูดเอาไว้แล้วบ้างในตอนก่อน โดยได้ให้จุดยืนในแง่ที่ไม่ได้ปฎิเสธแนวคิดเรื่องการจัดอันดับแต่อย่างใด สิ่งที่อยากจะเสริมเข้าไปก็คือการสร้างเครื่องมือการวัดผลที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งควร ลดละเลิกวัฒนธรรมรักษาหน้าแบบเก่าๆไปได้แล้ว ควรช่วยหันกลับมาหาวิธีการพัฒนาวงการศึกษาน่าจะก่อเกิดคุณูปการมากกว่า

แต่อีกเรื่องที่ควรคำนึงถึงก็คือการวัดผลควรจะการคำนึงถึง “อัตลักษณ์” (identity) ของแต่ละสถาบัน ไม่ควรที่จะใช้ความเป็นเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเข้าไปสถาปนาคุณค่าให้แต่ละสถาบันอย่างชัดเจน ควรจะเปิดช่องให้แต่ละสถาบันแสดงคุณค่าของตนด้วย ดังนั้นถ้าจะกล่าวอย่างรวมๆ ก็คือเราควรจะมีการวัดผลในเชิงทั่วไป (general) ที่ใช้วัดมาตรฐานทั้งในเรื่องการเรียนการสอน การวิจัยรวมไปถึงประสิทธิภาพทางด้านอื่น เข้าไปช่วยพยุงเพื่อรักษามาตรฐานของแต่สถาบัน ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับถึงความเป็นตัวตนของสถาบันนั้นๆด้วย สิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่ความแตกต่างที่มีการยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ใช่สักแต่ว่าอันดับแรกเหนือยันป้าย เจ๋งกว่าเค้าเพื่อนไปหมดทุกเรื่องทุกราว

สำหรับผมแล้วเชื่อว่าความเท่าเทียมที่แท้จริงนั้นคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยาก ความแตกต่าง ความลักลั่น นี่สิถึงถือว่าเป็นความปกติของสังคม การที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเมินเฉยกับภาพดังกล่าว เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้ง (และหลายครั้ง) ความไม่เท่าเทียมกันมันก็เป็นเหตุแห่งปัญหาในหลายๆประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการศึกษา

สถาบันการศึกษาที่สังคมสถาปนาให้มีคุณค่าที่สูงมีมักจะมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับคุณค่าของตนเอาไว้ได้ ในขณะที่สถาบันขั้นรองๆ ลงมาก็ยังคงรักษาสถานภาพระดับ “ล่าง” เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และช่วงห่างดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทีวีความห่างไกลยิ่งขึ้น

ชลเทพได้ให้นิยามสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็นการ “ผูกขาด” ทางการศึกษา เพราะสถาบันชั้นบนที่มีความเหนือกว่าสถาบันชั้นรองลงมาในทุกๆแง่อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีด้านทรัพยากรทุน ก่อให้เกิดการแข่งขัน และพัฒนาการศึกษาเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตามสำหรับผมเชื่อว่านัยยะแห่งการผูกขาดมันไม่สามารถมองได้แต่เพียงด้านเดียว

ถ้าเราจะมองในแง่การกระจุกตัวแล้วผมว่าบางทีมหาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัยเปิดอื่นๆ น่าจะมีสัดส่วนของนิสิตกระจุกตัวมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถ้าเป็นในแง่ประสิทธิภาพในเชิงวิชาการ การเรียนการสอน มหาวิทยารัฐดูจะมีภาษีเหนือกว่า นั่นก็เพราะมีภาพลักษณ์ที่เหนือกว่ามาตั้งแต่ต้น

ดังนั้นแล้วถ้าจะมองเรื่องการผูกขาดเราจำเป็นที่จะต้องมองให้ชัดเจนว่าจะเอาเรื่องใด จะเล่นเรื่องการกระจุกตัวของเด็ก ผลประกอบการในเชิงพาณิชย์ หรือจะเล่นเรื่องการผูกขาดในการสถาปนาคุณค่าให้กับตัวเอง

ซึ่งกรณีหลังจะชัดเจนมากสำหรับมหาวิทยาของรัฐที่สังคมรองรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดี (ซึ่งจริงๆมันก็ดีบ้างไม่ดีบ้างแหละวะ) แต่คิดว่าทรัพยากรทุนคงไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้มหาลัยชั้นบนสถาปนาความเหนือกว่าเอาไว้ได้ นั่นก็เพราะว่ามันมีปัจจัยด้านประวัติศาสตร์รวมไปถึงปัจจัยเชิงสถาบันอื่นๆ เกื้อหนุนมาเป็นระยะเวลานาน

ดังนั้นเมื่อระบบการให้คุณค่าไม่เท่ากัน ถ้าว่ากันตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ทรัพยากรมันก็มีแนวโน้มที่จะ “ไหล” ไปยังที่ๆให้มูลค่า (value) มากกว่า (มูลค่าในที่นี้ไม่อยากจะให้หมายถึงมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว) จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการจัดสรร budget จึงไปลงอยู่กับมหาวิทยาลัยบน เพราะว่า policy maker ก็มักจะจัดสรรเงินไปในที่ๆเค้าคิดว่าให้ผลตอบแทนทางการศึกษาดีกว่านั้นเอง ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นรองลงมาถูกจัดสรรในสัดส่วนที่น้อยกว่า เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากมีการไหลของทรัพยากรทุนแล้ว ในนิสิตที่มีคุณภาพที่สูงกว่า ก็มักจะไหลไปสู่สถาบันชั้นบนที่สังคมยอมรับและให้คุณค่ามากกว่าสถาบันชั้นรองลงมา (ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความจริงที่จำต้องยอมรับเอาไว้บ้าง) สุดท้ายแล้ววงจรอุบาทว์จึงเป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไป มหาวิทยาลัยที่ดีก็ดีเข้าไป มหาวิทยาลัยที่โดนด่าว่าห่วยก็โดนด่าต่อไปยันชั่วลูกชั่วหลาน (แต่บางทีบางหลักสูตรมันก็คุณภาพไม่ถึงจริงๆ พับผ่าซิ)

จึงนำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้การ “ไหล” ของทรัพยากร (ซึ่งในกรณีนี้ก็คือทรัพยากรทางการศึกษา) เป็นไปอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมว่ามันต้องแก้ที่ปัจจัยเชิงสถาบันครับ (institution factor) สถาบันที่กล่าวมานั้นรวมไปถึงสถาบันที่เป็นเชิงนามธรรม เช่นเรื่องของ กฎเกณฑ์ทางสังคม ระบบการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆของสังคมด้วย

ตรงนี้คงเป็นปัญหาในระยะยาวที่จะต้องค่อยๆแก้กันไป โดยใช้เครื่องมือการวัดผลที่มีประสิทธิภาพนั่นแหละเป็นตัวช่วยนำทาง และชี้ให้เห็นถึงข้อดี ข้อเด่น ข้อด้อย รวมไปถึงอัตลักษณ์ พันธกิจ ที่แตกต่างกันของแต่ละสถาบัน ในขณะเดียวสถาบันแต่ละแห่งก็ต้องปรับเปลี่ยนยกระดับตัวเองอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงภาครัฐที่จะต้องลดความ short sight ลงไปเสียหน่อย พยายามจัดสรร budget ให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น ลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำลงมา

ชลเทพได้นำเสนอว่าน่าจะมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันระหว่างสถาบันเพื่อลงช่วงห่างดังกล่าวลง โดยการแลกเปลี่ยนคณาจารย์กันทั้งในแง่การเรียนการสอนและการทำวิจัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้นลง แต่สำหรับผมค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว อีกทั้งคิดว่าในทางปฏิบัติคงเป็นไปได้ยากที่อยู่ๆ อาจารย์จะสลับ factorial ไปสอนที่โน่นที ที่นี่ที ส่วนเรื่องการทำวิจัยระหว่างสถาบันผมคงคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องราวเฉพาะกิจมากกว่า เพราะในความเป็นจริงแล้วการไหลเวียนของทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรมนุษย์นั้นแทบจะไม่มีความยืดหยุ่นเอาเสียเลย ไม่สามารถไหลไปมาได้เหมือนหลักทรัพย์ทางการเงินที่มีลักษณะเกือบจะเป็น perfect mobility ด้วยกฏเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวคงเป็นไปได้ยากที่เราโยกย้ายถ่ายเทสิ่งต่างๆ ได้ตามความอำเภอใจ

และสำหรับผมคิดว่าการแข่งขันคงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าหากมีการแข่งขันกันบ้างมันก็จะสามารถกระตุ้นให้วงการศึกษาเกิดความคึกคักขึ้น หากการแข่งขันอยู่ภายใต้กฎกติกาที่เหมาะสม ไม่ได้เล่นนอกเกมกัน ผมว่ามันก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงประสิทธิภาพบ้างไม่มากก็น้อย
สิ่งที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นก็คือว่าความแตกต่างนั้นถือเป็นปกติวิสัยบนโลกใบนี้ แต่มนุษย์เรานี่เองแหละที่คอยไปตัดสินชี้ขาดและให้คุณค่ากับสิ่งที่แตกต่างให้มีระดับมากน้อยแตกต่างกันไป ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงห่างระหว่างความไม่เท่าเทียมดังกล่าวสามารถอุดได้โดยการเปลี่ยนแปลงระบบการให้คุณค่าของสังคม ร่วมด้วยการสร้างเครื่องมือชี้วัดที่มีประสิทธิภาพควบคู่กันไป โดยจะหย่อนสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วความเท่าเทียมที่แท้จริงอาจจะไม่เกิดขึ้น แต่ขอให้เราได้เข้าใกล้มันให้มากขึ้น....มากกว่าที่เป็นอยู่

-3-ธุรกิจการศึกษา

อีกวัฒนธรรมหนึ่งที่มาพร้อมกับยุคสมัยนี้ก็คือการที่ทุกสิ่งที่อย่างนั้นถูกทำให้เป็นสินค้า รวมไปถึงบริการด้านการศึกษาที่ถูกทำให้กลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้น แต่รวมไปถึงมหาวิทยาลัยของรัฐเองก็ได้กระโจนเข้ามาอยู่ในวังวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

วิธีการที่ยอดฮิตก็คือการหลับหูหลับตาเปิดหลักสูตรเข้าไป ตั้งปริญญาตีภาคพิเศษเอย ปริญญาโทสารพัดภาคเอย ทั้งภาคค่ำ หรือเสา-อาทิตย์ ออกแบบหลักสูตรให้ดูน่าสนใจ สร้างวัฒนธรรมแบบ fast food ให้เกิดขึ้นในวงการศึกษา กล่าวคือ เกณฑ์การคัดเลือกก็ทำแบบง่ายๆเข้าไว้ อารมณ์ประมาณว่ากามั่วก็ยังสอบติด พอเข้ามาเรียนเสร็จก็ต้องรีบไล่ให้จบไวๆเชียว จะได้เปิดรับรุ่นใหม่เข้ามาได้ต่อเนื่อง แน่นอนว่าค่าหน่วยกิตนี่ต้องมีเป็นหลักหมื่นครับท่าน สุดท้ายแล้วก็แจกปริญญาซะ ซึ่งผมอยากจะเรียกกระบวนการดังกล่าวเป็น key word ว่า รับง่าย ถ่ายเร็ว จ่ายแรง แจกแหลก ผมไม่อยากจะบอกเลยว่ามหาวิทยาลัยบางแห่ง บางคณะนิสิตปริญญาโทมากกว่าปริญญาตรีด้วยซ้ำ ฟังแล้วขนลุกหวะ ฮ่าๆ

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ฮิตก็คือการไปเปิดวิทยาเขตครับ เปิดมันให้ทั่วไปหมด ไปมันให้ทั่วประเทศ มั่วกันให้มันส์ มีห้องแถวซักสองห้อง ก็เอาล่ะ!! เปิดเป็นมหาวิทยาลัยได้แล้วเว้ย ผมยังคิดสภาพไม่ออกเลยนะว่าจะเรียนจะสอนกันยังไง

นอกจากจะมาในรูปแบบของการเปิดสาขาแล้ว อีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการร่วมมือกันระหว่างสถาบัน โดยมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหน่อยก็จะทำการเข้าไปรุกล้ำสถาบันที่อยู่นอกเขตปริมณฑลออกไป โดยการเปิดหลักสูตรต่อเนื่อง เพราะบางสถาบันมีถึงแค่ระดับ ปวส. เท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยสามารถสร้างข้อตกลงได้โดยส่งอาจารย์ไปสอนให้จนจบระดับปริญญาตรี แน่นอนว่าปริญญาที่ได้รับย่อมมีชื่อมหาวิทยาลัยนั้นหราอยู่แน่นอน อืม....แบบนี้ใครไม่ลงหน่วยกิตต่อเนื่องไปก็คงโง่พิกลเนอะ

การทำการค้าหรือการทำธุรกิจมันไม่ผิดหรอกครับ แต่ในกรณีการให้บริการทางการศึกษามันมาทำเล่นๆเหมือนขายกล้วยแขก (ไม่ได้ต้องการจะดูถูกอาชีพขายกล้วยแขกนะ แค่เปรียบเปรยเฉยๆ)ไม่ได้ ปัญหาที่เกิดจากการมัวแต่หาช่องทางทำการค้าก็คือเรื่องของการควมคุมคุณภาพครับ ผมว่าอันตรายจริงๆถ้าจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป

เรื่องคุณภาพผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนครับ คงจะโทษวัฒนธรรมการศึกษาเชิงพาณิชย์อย่างเดียวไม่ได้ แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมดังกล่าวมันค่อยๆบ่อนทำลายคุณภาพการศึกษาลงทีละน้อยๆ

ส่วนอีกเรื่องที่อยากจะเล่าก็คือกรณีศึกษาน่าสนใจที่เกิดขึ้นกับเพื่อนๆของผมที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง

เรื่องราวมันมีอยู่ว่าหลักสูตรดังกล่าวมีเงื่อนไขเบื้องต้นว่าผู้สมัครจะต้องมีประสบการณ์ทำงาน 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งเพื่อนๆของผมประสบการณ์ยังไม่ผ่านตามเกณฑ์ แต่ไม่ต้องห่วงครับ ไปๆมาๆ เข้าเรียนได้เฉยเลย ผมยัง งงๆอยู่

แต่ปัญหามันเริ่มเกิดตอนเรียนปีท้ายๆนั่นแหละครับ นิสิตที่ประสบการณ์ทำงานไม่ถึงถูกอาจารย์ดำริให้ขยายต่อเติมเพิ่มในส่วน individual stdudy ของตัวเองออกไป โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าเลย สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย

จะเห็นได้ว่าตัวหลักสูตรเองไม่ได้มีการคัดเลือกอะไรที่แข็งขัน ข้อกำหนดทุกรับคนเข้าหลักสูตรสามารถยืดหยุ่นได้ตามอำเภอใจ แต่พอเข้ามาเรียนแล้วเกิดการเลือกปฏิบัติ (discriminate) ขึ้น ซึ่งไม่มีการแจ้งเกี่ยวกับข้อมูลในการทำ individual study ที่มากกว่าเดิมไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ทั้งๆที่เป็นข้อมูลที่จะต้องบอกกับผู้สมัครตั้งแต่ก่อนวันลงทะเบียนวันแรกด้วยซ้ำไป

ตรงนี้มีข้อสังเกตุที่น่าสนใจครับ ผมเชื่อว่าการที่ไม่แจ้งให้ทราบข้อมูลล่วงหน้านั้นก็เพื่อเป็นการป้องกันการ turn over ของผู้ที่มาสมัครเข้าหลักสูตร ถ้าหากผู้สมัครรับรู้ข้อมูลดังกล่าวก่อนที่จะเริ่มลงทะเบียนทางมหาวิทยาลัยก็คงจะสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย
ดังนั้นการปิดบังข้อมูลไว้จึงเป็นวิธีที่มหาวิทยาลัยเลือก เกิดการรู้ข้อมูลข่าวสารไม่เท่ากัน ระหว่างผู้บริการและผู้ให้บริการ ซึ่งปัญหาดังกล่าวทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่า asymmetric information

ปัญหา asymmetric information นี้ไม่ควรมองข้ามครับ เพราะสุดท้ายแล้วมันจะนำไปสู่การ “เลือกผิด” (adverse selection) ของผู้บริโภค ดังในกรณีนี้ถ้าหากว่าทุกรับรู้ข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่แรกคงไม่เลือกที่จะเรียนในหลักสูตรนี้แน่นอน หรือถ้าจะเรียนก็คงเรียนด้วยความไม่ประมาทมากขึ้น

ส่วนอีกเรื่องที่ผมคิดว่าไร้เดียงสาก็คือ การชดเชยประสบการณ์ทำงานด้วยการทำ individual study เพิ่ม ในมุมมองของผมคิดว่าสองสิ่งนี้มันทดแทนกันไม่ได้เลย ประสบการณ์ก็เป็นเรื่องของประสบการณ์ การวิจัยก็เป็นเรื่องการวิจัย ถ้าหากทางหลักสูตรกำหนดกฏเกณฑ์เอาไว้ว่าต้องการประสบการณ์ทำงาน ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามทีก็ควรจะยึดหลักนั้นเอาไว้เลย ไม่ใช่มายืดหยุ่นเอาตามอำเภอใจ สุดท้ายคนเสียประโยชน์คือคนที่เรียนนั่นเอง

คงเห็นแล้วได้ว่าการให้บริการการศึกษาโดยมุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเดียวมันได้สร้างผลกระทบต่อผู้เรียนขนาดไหน

สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อก็คือเรื่องการศึกษาไม่ใช่ของล้อเล่นครับ การเปิดหลักสูตรอะไรต่างๆ เป็นสิ่งที่สามารถเปิดได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด อีกทั้งการที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ด้านธุรกิจมากเกินไปสุดท้ายมันก็เป็นการสร้างภาระให้กับสังคม

ผมว่าในกรณีนี้ภาครัฐต้องลงไปเล่นอย่างจริงจัง ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งหน่วยงานที่เอาไว้ควบคุมคุณภาพการเปิดหลักสูตรโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังสามารถรับเหตุร้องเรียนได้ด้วย ไม่ใช่แค่แบบทุกวันนี้ที่เขียนเสนอไปก็ผ่าน อีกทั้งไม่มีมาตามดูผลงานย้อนหลัง ปล่อยให้มหาวิทยาลัยสนุกสนานยำเด็กกันตามอำเภอใจ

-4- สุดท้าย

สำหรับผมคิดว่าในเรื่องของแวดวงการศึกษานั้นยังคงมีอีกหลายเรื่องราวให้ต้องวิเคราะห์ วิจารณ์ ซึ่งผมจะพยายามนำเสนอในโอกาสต่อไป สำหรับความต้องการของผมนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าข้อการที่ข้อเขียนของผมมีประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย คอยกระตุกต่อม เตือนสติให้ได้คิดถึงเรื่องปัญหาต่างๆที่รายล้อมพวกเราอยู่

ขอให้มีความสุขกับการศึกษาเล่าเรียนครับ (เหมือนประชดเลยนะเนี่ย ฮ่าๆ)

ป.ล.

1.ผม up blog เที่ยวนี้ได้ยาวมาก ไม่ทราบว่าผีสางนางไม้ตนใดมาเข้าสิงเหมือนกัน
2.สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาที่ผมเขียนตอนก่อนสามารถดูได้ที่นี่เลยครับ ส่วนข้อเขียนของน้องชลเทพสามารถเข้าไปดูในได้เวบบอร์ดพันทิปทั้งเรื่องแอดมิชชั่นและการจัดลำดับ
3.เสร็จจากเที่ยวนี้ผมคงต้องขอเร้นกายหน่อยครับ คิดว่าเทอมนี้จะให้เป็นเทอมสุดท้ายแล้ว เรียนมานานเกินพอแล้ว ไม่จบไม่สิ้นเสียที อิอิ

9 comments:

Anonymous said...

อ่า คราวนี้ยาวจริง

แต่สาระเข้มมาก คุยไปคุยมาผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องทุนนิยมนะ โดยส่วนตัวก็ต้องรัฐ อย่างเดียวแหละครับต้องเข้ามา จะรอให้แต่ละมหาลัย มีจิตสำนึกบังเกิดขึนมาเหมือนเป็นพรนิมิตร ก็คงยาก

สุดท้ายมันจะวนกลับไปสู่สังคมนิยมไหมนะ 555

Anonymous said...

ประเด็นที่พูดก็มีส่วนถูก

แต่จะทำอย่างไรเมื่อ

ในโลกแห่งความจริงคือ

คนเราต่างกันจริงๆ

ตั้งแต่โชคชะตาแล้ว

แค่เกิดมา ฐานะแต่ละคนก็ต่างกันแล้ว


เห้อ ๆ ๆ



น้องอู

Gelgloog said...

ขอตอบกับไอ้คัสว่า กูไม่รู้ กูแค่อยากเห็นทิศทางอะไรดีๆให้มันเกิดกับการศึกษาขึ้นบ้าง....ก็เท่านั้น หลายๆคนมักจะมองว่าปัญหาหลายๆอย่างเกิดจากระบบทุน นั่นก็ไม่ผิด แต่พี่อยากจะมองอะไรให้มันกลางๆมากกว่า

น้องอู พี่ก็พยายามเน้นย้ำในสิ่งที่เขียนแล้วว่า ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องมีวิธีการจัดการกับมันครับ ไม่ใช่คิดแต่ว่าคนเราไม่เท่ากัน ไอ้ที่ห่วยก็ปล่อยมันไป คิดแบบนี้คงน่าเซ็งพิลึก

Anonymous said...

ยอมรับว่าตอนนี้ผมค่อนข้างชอบวิธีสังคมนิยม ในบางเรื่อง เพราะคงไม่มีประเทศไหนใช้วิธีใดวิธีหนึ่งแบบสุดโต่ง

สาเหตุทำไมจึงผมจึงคิดอย่างนั้น ทั้งที่ผมก็พอรู้ข้อดีของทุนนิยม นั้นเพราะผมมองว่า จิตใจคนเดี๋ยวนี้มันเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น ทำเพื่อตนเองมากกว่าส่วนรวม

ถ้าทำธุรกิจแล้วรู้จักพอ มันก็ดีแต่......

มันคงจะดีถ้ามี "ระบบทุนนิยมธรรมาภิบาล"

natsima said...

ขอร่วมเสวนาด้วยคนนะครับ

เอาเรื่อง "วรรณะ" ก่อนละกัน

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดการแบ่งวรรณะอย่างชัดเจนที่สุด

จบมหาวิทยาลัยรัฐ "แบบปิด" จะต่างจาก "แบบเปิด" และ "ราชภัฏ"

จบมหาวิทยาลัยเอกชนจะเป็นเพียง "พิธีประสาทปริญญา"

อย่างไรก็ตามการรับได้รับปริญญาเป็นเสมือนภาพย่อส่วนของกระบวนการ "เลื่อนชั้น" ทางสังคม

หากจะปฏิเสธวรรณะ...

Mr.Gelgloog ลองบอกทางบ้านว่าถ้าจบปริญญาโทใบนี้จะไม่ไปร่วมพิธีรับปริญญา แต่จะให้มหาวิทยาลัยส่งไปรษณีย์มาให้ดูสิครับ

(ทำยากนะ)
---------------------------

เรื่องที่อยากจะชี้ประเด็นอันดับต่อไปก็คือ เรื่อง "มหาวิทยาลัย"

สังคมไทยต้องทำความเข้าใจว่า "การศึกษาระดับอุดมศึกษา" ไม่ได้มีช่องทางที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัย" แต่เพียงช่องทางเดียว

การเตรียมคนเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังจากจบมัธยมศึกษานั้น จำต้องกำหนดให้ชัดเจนเป็นสองสายหลักคือ "สายวิชาการ" และ "สายวิชาชีพ"

ใครจะเข้า"สายวิชาการ"ได้ต้องรักการอ่าน การเขียน การค้นคว้า

Career Path ต้องชัดเจนว่าไม่เป็นครูบาอาจารย์ก็ต้องเป็นนักวิจัย

มหาวิทยาลัยต้องมีไว้เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ครับ

การคัดสรรต้องเป็นไปอย่างเข้มข้นและเข้มแข็ง เพราะคนที่จบมาต้องสามารถสร้าง "นวัตกรรม" ให้ประเทศชาติได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อีกกลุ่มคือ "สายวิชาชีพ"
เด็กกลุ่มนี้ก็ต้องชัดเจนว่าจบมาแล้วอยากทำงาน ต้องการเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนในแต่ละภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ

สายวิชาชีพจะเน้นนำทฤษฏีจากสายวิชาการมาประยุกต์ใช้ในโลกของการปฏิบัติ

นักเรียนสายวิชาชีพจึงควรจะรู้ "วิชาชีวิต" มากกว่า "วิชาการ"

สถาบันการศึกษาประเภท "วิทยาลัย" "สถาบัน" ต่างๆ จะเป็นที่รองรับ "นักวิชาชีพ" ในอนาคตเหล่านี้

อ้อ..สาขาวิชาเดียวกันอาจเปิดได้ทั้ง "มหาวิทยาลัย" และ "สถาบัน" นะครับ

ในอนาคตเราอาจจะมี "วิศวกรวิชาการ" กับ "วิศวกรปฏิบัติการ" หรือ "นักวิชาการเศรษฐศาสตร์" กับ "นักเศรษฐศาสตร์ประยุกต์"

---------------------------------
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สิ่งที่ต้องเกิดก่อนคือ โครงสร้างค่าตอบแทนครับ

ต้องสร้าง "แรงจูงใจ" ให้เด็กดีๆ เก่งๆ ที่ไม่อยากเป็นนักวิชาการ ไปอยู่ในสายวิชาชีพให้ได้

สถานะทางสังคมของคนในสายวิชาชีพก็จะต้องไม่ด้อยกว่าสายวิชาการ

จะว่าไป"สังคมอุดมคติ" แบบนั้นมีอยู่จริงนะครับ

หากลองไปดูโครงสร้างเงินเดือนในโรงแรมระดับห้าดาวจะพบว่า คนที่มีรายได้สูงสุดคือ "นักวิชาชีพ" ที่จบจาก "วิทยาลัย" หรือ "สถาบัน"

"เชฟ" ไงครับ..

ส่วน "นักวิชาการ" ที่จบจากมหาวิทยาลัยเลิศหรูก็จะเป็น "ผู้จัดการ"

เงินเดือนผู้จัดการโรงแรมน้อยกว่าเชฟนะครับ

แล้วถ้าสองคนนี้ทะเลาะกัน เจ้าของโรงแรมจะไล่ผู้จัดการออกก่อน




..เพราะเชฟดีๆ หายากกว่าผู้จัดการเก่งๆ ครับ

Gelgloog said...

ที่จริงประเด็นที่คุณ natsima เสนอมาผมก็เคยอยากจะลองเขียนเหมือนกัน แต่ตอนนี้คิดว่าเขียนยาวไปแล้ว เลยเอาไว้เที่ยวหน้าละกัน

ผมว่าสังคมเรามันบิดเบี้ยวอะไรหลายอย่างนะ ที่คุณ natsima พูดมานี่โคตรโดน มหาวิทยาลัยจริงๆแล้วมันควรจะเป็นที่ผลิตผู้ที่ "อุดม" ไปด้วยปัญญา เหมือนดังที่เรานิยามให้มันเป็นการศึกษาระดับ "อุดมศึกษา"

แต่ภาพทุกวันนี้เห็นแล้วห่อเหี่ยวโคตร

อีกเรื่องก็คือสายอาชีพกับสายวิชาการเนี่ย บ้านเรามีมุมมองที่อันตรายมากๆ ก็คือว่า เป็นตายร้ายดี หัวเด็ดตีนขาดต้องเข้ามหาลัย การแบ่งแยกชัดเจนมากกว่ามหาลัยมีศักดิ์ศรีมากกว่าสถาบันวิชาชีพอื่นๆ

คนแม่งเลยเห่อไปเรียนเช้าไป ให้มหาลัยเนี่ย มหาลัยก็เปิดหลุกสูตรกันเข้า mix หลักสูตรกันให้มั่วไปหมด ส่วนพวกที่ชื่อแปะหน้าว่าไม่เป็นมหาลัยก็ดูจะเดือดร้อนเหลือเกิน กูต้องหาทางเอาชื่อกูให้เป็นมหาลัยให้ได้ ไม่งั้นกูตาย กูตาย....ทั้งๆที่เปลี่ยนชื่อเป็นมหาลัยแล้วแต่ไส้ในยังคงเดิม

จะเปลี่ยนทำหอกอะไรวะ.....

จริงๆมีเรื่องจะบ่นอีกเยอะเลยฮะ ว่างๆคุณ natsima เขียนมาบ้างซิ อยากอ่าน อยากอ่าน

ส่วนผมนะ ถ้าเรียนจบแล้วไม่ไปรับปริญญาหรอ คงโดนบ่นไปสามวันแปดวัน 555

อนิจจาไทยแลนด์ แดนสยาม

Anonymous said...

เอ่อ...แบบว่า...
อ่านแล้วปวดหัว
คุยไรกันคาบบ
ไม่รู้เรื่องวุ๊ย....อิอิ
แต่พอจะจับใจความได้ว่า
เจ้าของบลอกขี้บ่น เหอ ๆ
ดูเด่ะสังเกตดูคร้าบบบ
เกือบทุกเอนทรี่เยย
5555555555555555+
อีกซักรอบ
5555555555555555+

Anonymous said...

มาอ่าน รุเรื่องมั่งไม่รุ้เรื่องมั่ง แต่ก็สนุกดี

Anonymous said...

สวัสดีครับพี่ผู้อมภูมิรู้(อันเยี่ยมยุทธ)สาวกน้องขอซูให้
ผม ชลเทพ นักมานุษยวิทยาปลายแถว หันมาเอาดีด้านสังคมวิทยาที่เรียกว่า สังคมวิทยาการศึกษา(ยูโทเปี่ย) สงสัยจะเอาไปใช้แก้ไขปัญหาการศึกษาในวาระชาติ ที่มีแต่นักการศึกษา(ผู้เฒ่า) คอยกำกับและชี้นำอยู่
ผมเองดีใจที่พี่ อุตส่าห์คิดถึง อ้างอิง หยิบยกประเด็น ทำให้ผมปัญญาแตกฉานมากขึ้น แต่ภูมิรู้ยังน้อยอยู่ จึงต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์การมากขึ้น ผมชื่นชมการแสดงประเด็นของพี่เกี่ยวกับบทความของผม มันมีค่ามากมายถึงแม้ว่าจะมีทิศทางเดียวกันผสมกับความแตกต่างด้านมโนทัศน์อยู่บ้าง
ผมเองได้ศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับแอดมิชชันส์ ผมคิดว่ามันมีอยู่หลายประเด็น คือการผูกขาดนโยบายโดยรัฐอันมิได้ศึกษาถึงผลกระทบรอบด้าน ที่มักจะใช้วิธีการมัดมือชก รวมถึงอ้างอิงการปฎิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นจึงต้องเร่งด่วนที่จะเปลี่ยนแปลง ในในมุมมองของผมการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่คนไทยมักจะปรับตัวไม่ทัน ไม่มีการตั้งรับที่ดี และหวาดวิตกกับความไม่แน่นอน อันนี้คือความหวาดวิตกที่เกิดขึ้นจากการจินตนาการอันสูงส่งของคนไทย เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่พอเห็นผลลัพธ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายจาก ระบบ โดยอ้างว่าเป็นการสอบครั้งแรก จึงต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา ผมตกใจว่า การศึกษาบ้านเราไปโทษความเป็นครั้งแรกย่อมมีผิดพลาด ไม่เคยโทษตนเองเลย ผลักภาระไปเรื่อยให้ตนเองพ้นผิด ผลกระทบจึงตกอยู่ที่เด็กที่นำอนาคตมาแขวนไว้กับความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไอ้สัจธรรมที่ว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน นี่แหละครับอธิบายได้ดีที่สุด เพราะคะแนนที่ได้ไม่รู้ว่าถูกต้องแน่นอนหรือเปล่า ผมจึงเข้าใจว่าเราถึงต้องพึ่งองค์จตุคาม หรือไสยศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถสร้างสภาวะความมั่นคงได้มันจึงเกิดความวิตกกังวลในจิตใจนั่นเอง จริงๆระบบการคัดเลือกก็เป็นสังคมแบบทุนนิยม การศึกษาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของทุนนิยม และคำว่ามหาวิทยาลัยที่ต่างเรียกไม่ซ้ำกันมันก็ขายได้ซะด้วย จากจุดเด่นที่หลากหลายกลับกลายเป็นการสำคัญตัวผิด และเอาชื่อเสียงมาหลอกขายก็ถมไป ผมจึงคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็การผลิตวาทกรรม โดยหาช่องทางของ การสื่อสาร กรอปกับอำนาจที่มีคนกำหนดอยู่เบื้องลึกในปริมณฑล สาธารณะ ผมเคยเห็นเวปไซต์มหาวิทยาลัยหนึ่งอธิบาย rank ที่จัดอันดับมหาวิทยาลัยของตนเองจากนิตยสารฝรั่งฉบับหนึ่ง ว่าตนเองเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ติดอันดับโลกสองปีซ้อน ผมรู้สึดไม่ดีเลย ในขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้มันมิใช่สารัตถะสำคัญ ของ อัครสถานที่ผลิตความรู้ แต่มันคือกระบวนการอวดภูมิของตนเองว่าดีที่สุด จากการอ้างอิงของผู้มีภูมิอันเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่การจัดอันดับก็ถือว่ายังมีประโยชน์ในแง่มุมหนึ่งที่ผมมองเห็นคือ ข้อมูลด้านทรัพยากร มันช่างแตกต่างเหลือเกิน อันนี้บอกได้เลยว่าประหลาดใจสุดๆ
ผมเองเคยมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทลัยนี้ แต่มักจะมีความเห้นที่แตกต่างกับอะไรบางอย่างของที่นี่ มากๆ จนรู้สึกว่านี่หรือ อัครสถานที่ทุกคนชื่มชม ในด้านหนึ่งผมกับมองเห็นมุมมืดของที่นี่ อันเต็มไปด้วย ค่านิยม บรรทัดฐาน ประกอบเป็นโครงสร้างแบบวัฒนธรรมศักดินานิยม ซึ่งถุกทุนนิยมเข้ามาหาผลประโยชน์อีกที เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อนกับการกำหนดvalue หรือการสร้างอรรถประโยชน์นั่นเอง การศึกษาจึงมีความเกี่ยวข้องกันระหว่างรสนิยม ในบริบททุนนิยม หาได้เป็นไปตามแนวคิดทางมานุษยวิทยา ที่จะให้มนุษย์พยายามเข้าใจถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม อันเคารพและเชิดชูอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เพื่อนำมาซึ่งการดำรงอยู่อย่างเท่าเทียมและความผาสุข โดยปราศจากอคติ
ส่วนใหญ่ปัญหาแอดมิชชันส์ไม่ค่อยมีใครพูดถึงผลกระทบจากการสอบที่มีอะไรต่อมิอะไรซ่อนเร้น ปิดบัง อำพรางกันมากมาย ใช้ระบบการคัดเลือกแบบ เลือกที่รักมักที่ชัง เปิดทางให้กับคนมีเงินไป ติว เข้ามหาวิทยาลัย กีดกันคนอื่นที่ไม่มีเงินพอที่จะเข้าถึง ออกไปในระบบการศึกษาที่เชื่อกันว่ามีคุณภาพสูง ผมพบว่าเด็กเครียดกับการสอบ ที่มากมายเรียกว่ามหากาพย์ การสอบ ที่สำคัยยังไปติวเพิ่มขึ้นทั้งโอเนท เอเนท รวมไก้มากกว่า8-10 วิชา อันผิดวัตถุประสงค์ของการสอบโอเนทที่จัดขึ้นเพื่อวัดผลทางการศึกษาของชาติ แต่กลับนำมารวมไว้ในการคัดเลือกซึ่งมีผลกับเด็กโดยตรง การศึกษาบ้านเราจึงมีวาระซ่อนเร้นอยู่ โดยความพยายามที่จะหลอกตาว่า เด็กมีสัมฤทธิ์ผลที่สูง อันจะนำมาสู่การเข้าศึกษาในโรงเรียนดีดี มีการสอนที่สามารถสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการได้ และกรุยทางสู่มหาวิทยาลัยหอวิมานงาช้างได้สำเร็จ จึงเอาโอเนทมาเป็นตัวหลอกล่อ นี่หรือครับสังคมประชาธิปไตย อันนี้เค้าเรีกยว่า ประชาธิปไตยแบบชี้นำ หรือ อำนาจนิยมผ่านระบอบประชาธิไตย ผู้ใหญ่ว่าดีเด็กก็ต้องว่าดี ผู้มีอำนาจสูงกว่าก็ย่อมมีสิทธิที่จะบอกและชี้นำว่าอะไรดีไม่ดีได้ เพระสังคมเลือกที่จะให้อำนาจเขากำหนดนั่นเอง ประชาชนจึงต้องตกอยู่ภายใต้พันธนาการอันยากที่จะดิ้นหลุด สุดท้ายก็ต้องยอมรับชะตากรรมอันเจ็บปวด เราไม่สามารถสอบเข้าได้เพราะเราเกิดมาจน หรือเกิดมาได้รับการศึกษาไม่ดีพอที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ราคาถูกได้ ความเป็นชายขอบจึงเกิดขึ้นจากการสร้างพื้นที่ทางสังคมระหว่าง ผู้มีโอกาส และผู้ด้อยโอกาส ความเหลื่อมลำจึงสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในบริบทสังคมไทย ในขระที่รับธรรมนูญเป็นเพียงความพยายามลมลมแล้งๆ ที่จะเรียงร้อยถ้อยคำที่เลิสหรู สอดคล้องกับความเป็นอารยะประเทศว่า คนไทยมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม แต่ความเป็นจริงมันแสดงให้เห็นว่า โอกาสดีที่จะได้รับมีเฉพาะสำหรับคนที่พร้อมเท่านั้น